คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คน คงเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า กิจกรรมอย่างการเล่นดนตรีนั้น สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเล็กได้อย่างหลากหลาย ทั้งด้านการเรียนรู้และด้านร่างกาย แต่ยังมีอีกหนึ่งพัฒนาการที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเด็กเล็ก อย่างเรื่องของการพัฒนา EQ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนอาจเป็นกังวลอยู่ว่า จะสามารถพัฒนาทักษะในด้านนี้ ให้ลูกน้อยได้อย่างไร และการเพิ่ม EQ ด้วยดนตรีนั้น จะสามารถทำได้จริงหรือ?
EQ คืออะไร?
ก่อนที่จะเริ่มไปหาคำตอบของคำถามที่ว่า การเล่นและการฟังดนตรีนั้น มีส่วนในการช่วยเพิ่ม EQ ในเด็กได้จริงหรือ เรามาเริ่มทำความรู้จักเกี่ยวกับ EQ กันก่อนว่า “EQ คืออะไร?” และทำไมถึงมีความสำคัญอย่างมากกับเด็กเล็ก
“EQ ย่อมาจากคำว่า Emotional Quotient” ซึ่งมีความหมายในภาษาไทยว่า ความฉลาดทางอารมณ์ หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในคำเรียกว่า เชาว์อารมณ์ เป็นสิ่งที่จะทำให้เด็ก ๆ รู้จักการจัดการและเข้าใจในอารมณ์ของตนเอง รวมไปถึงผู้อื่น ดังนั้นนอกจากจะต้องส่งเสริมและให้ความสำคัญในทักษะการเรียนรู้ที่รวดเร็วหรือความฉลาด อย่าง IQ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ยังจะต้องส่งเสริมและให้ความสำคัญในทักษะทางอารมณ์ หรือ EQ ไม่แพ้กัน
โดยทักษะความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ นี้ มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เด็ก ๆ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ เพราะนอกจาก EQ จะทำให้เด็ก ๆ สามารถตระหนักรู้เกี่ยวกับอารมณ์ของตนเองและผู้อื่นได้แล้ว EQ ยังมีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ มีทักษะทางด้านสังคม ทั้งการเข้ากับผู้อื่น ความกล้าแสดงออก รวมไปถึงความเป็นผู้นำ และยังเต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจอีกด้วย
ดังนั้นแล้วเมื่อเด็ก ๆ ได้รับการพัฒนาทักษะความฉลาดทางอารมณ์อย่างเหมาะสม “พวกเขาเหล่านั้นจะเริ่มค่อย ๆ รับฟังเหตุผลจากทั้งตัวเองและผู้อื่น” เช่น ต้องการกินขนมหวานเพราะอะไร หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้เขากิน เขาจะพยายามถามหาเหตุผลและทำความเข้าใจในเหตุผลที่เหมาะสม รวมไปถึงไม่ร้องไห้ โกรธ หรือโวยวายโดยที่ไม่จำเป็น
แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าเด็ก ๆ เหล่านี้จะไม่มีอารมณ์ในเชิงลบ อย่างการโมโห อิจฉา เสียใจ โกรธ หรือกลัวเลย แต่พวกเขาจะสามารถเข้าใจและพยายามจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นได้ดีมากกว่าเด็ก ๆ ที่ไม่ได้รับการพัฒนา EQ อย่างเหมาะสม มากไปกว่านี้คือเด็ก ๆ จะสามารถเข้าใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มีความเห็นอกเห็นใจ ทำให้สามารถเข้าสังคมได้โดยที่ไม่รู้สึกเป็นกังวล รวมไปถึงมีการมองโลกในแง่บวก ทำให้เด็ก ๆ ร่าเริง สดใส อารมณ์ดี กล้าที่จะแสดงออกและใช้เหตุผลในการสื่อสารได้อย่างสมวัย
ทำไมการฟังและเล่นดนตรีจึงมีส่วนช่วยในการพัฒนา EQ
อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ คนทราบกันดีว่า “ดนตรีนั้นมีส่วนช่วยอย่างมากในเรื่องของการตอบสนองทางอารมณ์” เพราะจะสังเกตได้ว่าเมื่อเราเปิดเพลงที่สนุกสนานให้เด็ก ๆ ได้ฟัง ร้อง หรือร่วมกิจกรรมด้วยการเต้นเข้าจังหวะ เด็ก ๆ เหล่านี้ก็จะสนุกสนาน ร่าเริง รวมไปถึงหมดกังวลเรื่องความหวาดกลัว รวมไปถึงความเศร้า ในขณะเดียวกันเมื่อเราเปิดเพลงที่เรียบง่าย อย่างเพลงกล่อมเด็กหรือเพลงบรรเลงให้เด็ก ๆ ได้ฟัง พวกเขาก็จะมีท่าทีที่อ่อนโยนและสงบมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ข้อสำคัญว่าดนตรีนั้นมีผลอย่างมากต่อสมองและอารมณ์ของเด็กเล็ก มากไปกว่านั้นคือดนตรียังมีผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ อย่างอัตราการเต้นของหัวใจหรืออุณหภูมิของร่างกายที่อาจเต้นเร็วหรือมีอุณหภูมิสูงขึ้นเมื่อเปิดเพลงที่สนุกสนาน และจะปรับตัวช้าหรือต่ำลงเมื่อเปิดเพลงบรรเลง
โดยนอกจากในส่วนของเสียงดนตรีที่มีผลต่ออารมณ์ของเด็กเล็กแล้ว การเรียนดนตรีก็ยังมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาทักษะทางอารมณ์ หรือ EQ เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเองและอดทนให้ผ่านแต่ละขั้นตอนในการเรียนดนตรีไปได้
เพราะการเรียนดนตรีนั้น จะต้องใช้ความพยายามและการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ จึงจะค่อย ๆ ประสบผลสำเร็จไปทีละขั้น
ซึ่งเมื่อเด็กได้พยายามเรียนรู้ด้วยตนเอง พวกเขาก็จะมีความภูมิใจและมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเรียนดนตรีร่วมกับคุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียนคนอื่น ๆ ก็จะยิ่งทำให้เด็ก ๆ ได้เสริมสร้างทักษะในการเข้าสังคม การบริหารความสัมพันธ์ การเป็นผู้นำที่ดี และการเรียนรู้ที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำให้เด็ก ๆ ที่เรียนดนตรีมีแนวโน้มที่จะยินดีกับการแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ให้กับผู้อื่นและคนในครอบครัวอีกด้วย
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเรียนดนตรีในเด็กเล็กเป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์เท่านั้น “คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรที่จะคาดหวังเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ก้าวกระโดดจนเกินไป” เช่น การส่งเด็ก ๆ ไปเรียนดนตรีเพียง 1 สัปดาห์และคาดหวังว่าพวกเขาจะเป็นเด็กที่กล้าแสดงหรือรับฟังเหตุผลได้มากยิ่งขึ้น เพราะในความเป็นจริงแล้วการพัฒนาทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์นี้ก็จะต้องใช้เวลาในการพัฒนาอยู่ไม่น้อย ดังนั้นจึงควรค่อย ๆ ส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้เรียนดนตรีร่วมกับการทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วย
บทความแนะนำ : ประโยชน์ของการเรียนดนตรีในเด็กเล็ก
อย่างไรก็ตามการเรียนดนตรีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ของลูกน้อยให้มีประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด แต่ผู้ที่จะสามารถช่วยส่งเสริมให้ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ของลูกน้อยให้มีมากยิ่งขึ้นก็คือตัวคุณพ่อคุณแม่เอง ที่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับลูกน้อยด้วยเหตุผลอยู่เสมอ ไม่ใช้อารมณ์หรือคำพูดที่รุนแรง เพื่อให้เขาซึมซับเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยเหตุผลได้อย่างสมวัย
ถ้าคุณพ่อคุณแม่สนใจเรื่องของการพัฒนา EQ (ในต่างประเทศนิยมใช้ Emotional Intelligence) พวกเรา Owl Campus แนะนำ TEDx Talks นี้เลยค่า และยังมี Talks อื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก TEDx ด้วยนะคะ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบกันดีแล้วว่า EQ คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? ก็อย่าลืมช่วยสนับสนุนน้อง ๆ ให้มีความฉลาดทางอารมณ์ที่ดีกันด้วยนะคะ
นอกจากนี้แล้วการทำกิจกรรมอื่น ๆ ในเวลาว่างก็ยังจะช่วยให้เด็ก ๆ มีพัฒนาในการเรียนรู้ที่จะพูดคุยกับผู้อื่น ควบคุมอารมณ์ของตนเอง หรือมีความเห็นอกเห็นใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เช่น การต่อเลโก้ การอ่านหนังสือนิทานหรือสารคดี การฝึกวาดภาพระบายสี หรือการทำอาหาร ขนม เก็บของเล่นและเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วเอาไปแจกจ่ายให้กับเด็ก ๆ ด้อยโอกาสคนอื่นหรือผู้ที่ต้องการ เป็นต้น เพียงเท่านี้ลูกน้อยก็จะได้รับการพัฒนาและส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ