สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย น่าจะเคยได้ยิน การสอบเทียบวุฒิ GED มาบ้าง ซึ่งว่ากันว่า เป็นหลักสูตรที่เป็นทางลัดในการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุ 16 ปีเลยก็ว่าได้ และที่สำคัญ การสอบ GED เหมาะสมมาก ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่นอกระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น การเรียนแบบ Home School อีกทั้งยังเหมาะกับผู้ที่มีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษดีอีกด้วย
เพื่อให้น้อง ๆ ได้มีทางเลือกในการเตรียมตัวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย โดยใช้การสอบ GED ได้ดีมากยิ่งขึ้น วันนี้ พี่ ๆ Owl Campus จึงอยากชวนน้อง ๆ “มาทำความรู้จักกับการสอบ GED เพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย” ไปลุยกันเลย!!
GED คืออะไร?
GED หรือ General Educational Development คือ “หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนในระดับ High School ของสหรัฐอเมริกา” มีการสอบทั้งหมด 4 วิชา โดยผู้สอบจะต้องอายุ 16 ปีขึ้นไปเท่านั้น และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองผ่าน Consent Form
ทั้งนี้ในปี 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรับรองวุฒิให้ผู้ที่สอบได้ High School Equivalency Credential เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเทียบเท่ากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในไทย
ดังนั้น “หากสอบผ่าน GED ทั้งหมด จะสามารถนำคะแนนไปสมัครเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้” ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยชั้นนำในไทย อาทิ BBA, EBA และ ISE ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ TEP-TEPE, SIIT และ BBA ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
การสอบ GED ดีอย่างไร?
ข้อดีของการสอบ GED คือ น้อง ๆ สามารถสอบเทียบวุฒิเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยมีการสอบแค่ 4 วิชาและสามารถลงทะเบียนโดยมีวันสอบในทุกสัปดาห์ ซึ่งจะเร็วกว่าเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมาก และที่สำคัญ GED ได้รับการรับรองวุฒิจากกระทรวงศึกษาธิการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการสอบ GED จะเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป ที่ไม่สามารถเข้าเรียนภาคปกติได้และเหมาะสำหรับผู้ที่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษดีนั่นเอง
GED ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง?
ในการสอบ GED จะมีรายวิชาในการสอบทั้งหมด 4 วิชา ดังนี้
Mathematics Reasoning : การสอบวิชาคณิตศาสตร์ จะประกอบไปด้วยเนื้อหา คณิตศาสตร์พื้นฐาน, เรขาคณิต, พีชคณิตพื้นฐาน และกราฟและฟังก์ชั่น โดยข้อสอบจะมี 2 ส่วน อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลขในส่วนที่ 2 และมีรูปแบบข้อสอบแบบปรนัยและคำถามประเภทอื่น ๆ เช่น การลากแล้วปล่อย การเติมคำตอบในช่องว่าง การเลือกพื้นที่ และการเลือกแบบเลื่อนลง
จะใช้เวลาในการสอบ 1 ชั่วโมง 55 นาที มีข้อสอบทั้งหมด 46 ข้อ
Social Studies : การสอบวิชาสังคมศาสตร์ จะประกอบไปด้วยเนื้อหา การอ่านเพื่อเข้าใจความหมายในสังคมศึกษา การวิเคราะห์เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และการโต้แย้งในสังคมศึกษา โดยใช้ตัวเลขและกราฟในสังคมศึกษา อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลข และมีรูปแบบข้อสอบแบบปรนัยและคำถามประเภทอื่น ๆ เช่น การลากแล้วปล่อย การเติมคำตอบในช่องว่าง การเลือกพื้นที่ และการเลือกแบบเลื่อนลง
จะใช้เวลาในการสอบ 1 ชั่วโมง 10 นาที มีข้อสอบทั้งหมด 30 ข้อ
Science : การสอบวิชาวิทยาศาสตร์ จะประกอบไปด้วยเนื้อหา บทความภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์, การทดลองวิทยาศาสตร์ โดยใช้ตัวเลขและกราฟในทางวิทยาศาสตร์ อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลข และมีรูปแบบข้อสอบแบบปรนัยและคำถามประเภทอื่น ๆ เช่น การลากแล้วปล่อย การเติมคำตอบในช่องว่าง การเลือกพื้นที่ และการเลือกแบบเลื่อนลง
จะใช้เวลาในการสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที มีข้อสอบทั้งหมด 34 ข้อ
Reasoning Through Language Arts (RLA) : การสอบวิชาภาษาอังกฤษ จะประกอบไปด้วยเนื้อหา การอ่านเพื่อตีความ การระบุและสร้างอาร์กิวเมนต์ และหลักไวยากรณ์และภาษา และมีรูปแบบข้อสอบการเขียนเรียงความ แบบปรนัยและคำถามประเภทอื่น ๆ เช่น การลากแล้วปล่อย การเลือกพื้นที่ และการเลือกแบบเลื่อนลง
จะใช้เวลาในการสอบ 2 ชั่วโมง 30 นาที มีข้อสอบ 3 ส่วน (Reading, Extended Response และ Reading & Standard English Convention)
ต้องสอบได้คะแนน GED เท่าไหร่จึงจะผ่าน?
สำหรับรายละเอียดคะแนนสอบ GED มีดังนี้
- “การสอบ GED จะมีคะแนนสอบผ่าน อยู่ที่ 145 คะแนน” ในแต่ละวิชาที่สอบ ซึ่งหากต้องการสอบเทียบระดับมัธยมปลาย น้อง ๆ จะต้องได้คะแนน 145 ขึ้นไปในทั้ง 4 วิชา ถึงจะได้รับ GED Diploma and Transcript นั่นเอง
- ในบางหลักสูตรของมหาวิทยาลัย อาจมีการเพิ่มเกณฑ์คะแนน GED ที่ผ่านเพิ่มเติม อาทิ การสอบเข้าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องทำคะแนนรวมทั้ง 4 วิชาให้ได้ 660 คะแนนขึ้นไป จึงจะมีสิทธิสมัครเรียน หรือ การสอบเข้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องทำคะแนนในแต่ละวิชาให้ได้ 165 คะแนนขึ้นไป จึงจะมีสิทธิสมัครเรียน เป็นต้น
- ถ้าหากสอบแล้ว ได้คะแนนไม่ถึง 145 คะแนน ทั้งในการสอบรอบที่ 2 และ 3 ผู้สอบสามารถสมัครลงทะเบียนสอบใหม่ได้เลย แต่หากเป็นการสอบครั้งที่ 4 ขึ้นไป ผู้สอบจะต้องเว้นการสอบจากครั้งที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 60 วัน!
- ในกรณีที่คะแนนถึง 145 คะแนนแล้ว แต่อยากสอบให้ได้คะแนนดีขึ้นกว่าเดิม ผู้สอบจำเป็นต้องปลดล็อคระบบ โดยส่ง e-mail ไปที่ operations@ged.com ซึ่งจะใช้เวลานานหน่อย แต่หากต้องการให้เร็วกว่านั้น สามารถโทรไปที่ศูนย์ GED 877-392-6433 ซึ่งต้องใช้วิธีการโทรออกไปต่างประเทศ
คุณสมบัติในการสมัครสอบมีอะไรบ้าง?
ในการสมัครสอบ GED ผู้เข้าสอบจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
- ผู้เข้าสอบ GED ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ (นับตามวัน เดือน ปีเกิด) ถึงจะสามารถเข้าสอบ GED ได้
- ผู้ที่อายุ 16-17 ปีบริบูรณ์ (นับตามวัน เดือน ปีเกิด) และต้องการสอบ GED จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง โดยต้องทำหนังสือยินยอม (Consent Form) เพื่อเป็นหลักฐานและส่งไปยัง GED Testing Service เพื่อขอเข้าสอบ สามารถดาวน์โหลด Consent Form ได้ที่เว็บไซต์ www.ged.com และส่ง e-mail ไปยัง operations@gedtestingservice.com (เป็น PDF File)
- ผู้เข้าสอบจะต้องผ่านการทำแบบทดสอบที่เรียกว่า GED Ready ก่อนสมัครสอบจริง โดยต้องทำคะแนนให้ได้วิชาละ 155 คะแนนขึ้นไป ซึ่งข้อสอบ GED Ready จะใช้ข้อสอบและเวลาในการสอบแค่ 50% ของการสอบจริง ๆ โดยมีการจับเวลาและเครื่องคิดเลข เสมือนการสอบ GED รอบจริง ค่าสอบจะอยู่ที่วิชาละประมาณ 200 บาท และสามารถสอบที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องไปสอบที่ศูนย์สอบ เพียงแค่เข้าไปที่เว็บไซต์ www.ged.com
อยากสอบ GED ต้องทำอย่างไร?
ในการสมัครสอบ GED ผู้สมัครจะต้องเข้าไปลงทะเบียนและสร้างบัญชีที่เว็บไซต์ www.ged.com โดยจะมีการเปิดสอบตลอดปี “ค่าสมัครสอบจะอยู่ที่วิชาละประมาณ 2,300 บาท” สามารถชำระค่าสอบด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตผ่านเว็บไซต์ โดยในไทยจะมีศูนย์สอบทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่
- Paradigm : ที่อยู่ ชั้น 2 อาคารอัลม่าลิงค์ ชิดลม กทม. ติดต่อ 092-063-5599
- Pearson Professional Centers : ที่อยู่ BB Building, ชั้น 10 ถนนอโศกมนตรี ซอยสุขุมวิท 21 กทม. ติดต่อ 02-664-3563
- Movaci Technology : ที่อยู่ 420/11-13 ถนนช้างคลาน อ. เมือง จ. เชียงใหม่ ติดต่อ 053-920-555
- Thabyay Education Network Foundation : ที่อยู่ อ.แม่สอด จ.ตาก ติดต่อ 055-535-111
- Phuket Academic Language School : ที่อยู่ 66/19 ถนนวิจิตรสงคราม อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ติดต่อ 063-313-4911
สามารถเลือกวันเวลาในการสอบ GED ได้อย่างไร?
เมื่อผู้สมัครพร้อมสำหรับการสอบ GED แล้ว ผู้สมัครสามารถกำหนดวันเวลาการทดสอบทางออนไลน์ และจะเลือกทำการสอบที่ศูนย์ทดสอบอย่างเป็นทางการของ GED หรือผ่านการคุมสอบออนไลน์ได้เลย โดยเข้าไปกำหนดวันเวลาการสอบ GED ได้ทางเว็บไซต์ ดังขั้นตอนต่อไปนี้
- ผู้สมัครเข้าสู่ระบบบัญชี GED ของตนเอง ทางเว็บไซต์ www.ged.com
- ผู้สมัครเลือกว่าจะสอบที่ศูนย์สอบหรือศูนย์สอบออนไลน์
- ผู้สมัครเลือกวิชาที่ต้องการสอบ
- ผู้สมัครเลือกวันและเวลาที่เหมาะกับตนเอง
- ผู้สมัครเงินสำหรับการสอบโดยใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต
เมื่อสอบผ่านแล้ว จะได้ Diploma และ Transcript ตอนไหน?
เมื่อผู้สอบสอบผ่านตามเกณฑ์คะแนนที่กำหนดแล้ว จะใช้เวลาในการรอ Diploma และ Transcript ประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งในปัจจุบันจะไม่ได้มีการส่ง Paper ของ Diploma และ Transcript แล้ว มีเฉพาะ E-Diploma และ E-Transcript เท่านั้น หากผู้สอบต้องการ Paper ของ Diploma และ Transcript จะต้องสั่งเอกสารเพิ่มเติมเองซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
สำหรับ E-Diploma และ E-Transcript ผู้สอบจะได้รับเอกสารเป็น E-Diploma และ E-Transcript ทาง e-mail จาก GED Testing Service โดยผู้ผ่านการสอบมีสิทธิ์ดาวน์โหลดเอกสารได้ 7 ครั้ง ตามระยะเวลาที่ทาง GED Testing Service กำหนดเอาไว้ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย เป็นค่าใบ GED Diploma and Transcript ใบละประมาณ 500 บาท โดย GED Diploma จะออกโดย Government of the District of Columbia (Washington, D.C.) ประเทศสหรัฐอเมริกา “ซึ่งตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้สอบ GED สามารถนำไปสมัครสอบมหาวิทยาลัยในไทยต่อได้เลย”
หลักสูตรชั้นนำในไทยที่ใช้คะแนน GED มีที่ไหนบ้าง?
มหาวิยาลัย | หลักสูตร |
---|---|
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ (BBA) คณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (EBA) คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (ISE) คณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (BSAC) คณะจิตวิทยา หลักสูตรนานาชาติ (JIPP) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (COMMDE, INDA) คณะนิเทศศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (COMMARTS) คณะอักษรศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (BALAC) หลักสูตรศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบูรณาการ หลักสูตรนานาชาติ (BAScii) |
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ (BBA) คณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (BE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (TEP, TEPE) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) หลักสูตรการเมืองและการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ (BIR) หลักสูตรอังกฤษ-อเมริกันศึกษา (BAS) หลักสูตรภาษาอังกฤษเชิงธุรกิจ (BEC) หลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา (BJM) หลักสูตรกฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ (LL.B.) หลักสูตรนวัตกรรมการบริการ (BSI) |
มหาวิทยาลัยมหิดล | วิทยาลัยนานาชาติมหิดล (MUIC) |
มหาวิทยาลัยศิลปากร | หลักสูตรสองปริญญานานาชาติ สาขาวิชาการออกแบบสื่อสารดิจิทัล (B.F.A.) หลักสูตรสองปริญญานานาชาติ BBA ในการจัดการแบรนด์หรู หลักสูตรสองปริญญานานาชาติ BBA ในการจัดการโรงแรม |
แม้ว่าการสอบเทียบวุฒิ GED จะดูเหมือนเป็นทางลัดในการเข้ามหาวิทยาลัย แต่ก็ต้องอาศัยความพยายามและความสามารถของผู้สอบในการทำข้อสอบทั้ง 4 วิชาที่กล่าวไปแล้วข้างต้นเช่นกัน การเตรียมตัวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่อยากได้ผลสอบเพื่อใช้ในการยื่นมหาวิทยาลัย จะต้องทำความเข้าใจและศึกษารูปแบบการสอบ GED และสามารถดูตัวอย่างรูปแบบการสอบเพิ่มเติมได้ที่
GED Test Subjects : See What’s on the Test
และที่สำคัญคือ ต้องอย่าลืม ! ทำความเข้าใจและศึกษาหลักเกณฑ์การรับของแต่ละคณะและหลักสูตรในมหาวิทยาลัย ด้วยว่า ต้องมีคุณสมบัติอะไรและใช้คะแนนสอบอะไรในการยื่นได้บ้าง ทั้งนี้ น้อง ๆ สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของคณะและมหาวิทยาลัยที่ตนเองต้องการได้เลย ! ขอให้สมหวังในการสอบกันทุกคนเลย !