ในปัจจุบัน มีหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยมากมาย ที่ได้ออกแบบหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรนานาชาติหรืออินเตอร์ เพื่อที่จะยกระดับสาขาวิชาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยหลักสูตร จะมีความโดดเด่นในเรื่องของการการเรียนการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษ 100% ทำให้นอกจากผู้เรียนจะได้รับความรู้ในสาขาวิชาที่ตนเองเลือกแล้ว ยังได้รับการฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษให้แข็งแกร่งในระดับที่สามารถฟัง พูด อ่าน และเขียน ได้อย่างมืออาชีพ

แน่นอนว่าในการเตรียมตัวสอบเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติ ก็จำเป็นจะต้องมีผลคะแนนการสอบ ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สมัครมีศักยภาพมากพอ ทั้งการประยุกต์ใช้ภาษาและทางวิชาการ และในแต่ละหลักสูตรก็มีจะมีคุณสมบัติและคะแนนที่ต้องใช้ยื่นแตกต่างกัน และส่วนใหญ่มักจะมีให้ยื่นได้หลาย ๆ แบบ โดยเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงทำให้ผู้สมัครเอง ต้องทำความเข้าใจในการสอบแต่ละแบบ ทำการสอบและเลือกใช้คะแนนสอบได้อย่างเหมาะสมที่สุด เพื่อทำให้สามารถยื่นเข้าศึกษาต่อในคณะหรือหลักสูตรที่นานาชาติตนเองต้องการ ว่าแต่ “ถ้าน้อง ๆ อยากเข้าคณะอินเตอร์ในไทยต้องมีผลคะแนนสอบอะไรบ้าง ?” วันนี้ Owl Campus มีคำตอบให้แล้ว ไปดูกันเลย !

คะแนนสอบที่นิยมใช้ในการยื่นคณะอินเตอร์มีอะไรบ้าง ? 

TOEFL

Test of English as a Foreign Language (TOEFL) คือ การทดสอบวัดผลภาษาอังกฤษในเชิงวิชาการตามมาตรฐานอเมริกัน เพื่อใช้ยื่นเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยจะวัดทั้งทักษะการฟัง การอ่าน การพูด และการเขียน ซึ่งโดยทั่วไป จะใช้เวลาในการสอบประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที  โดยคะแนน TOEFL จะมีอายุการใช้งาน 2 ปี หลังจากการสอบ มีค่าธรรมเนียมในการสอบ ประมาณ 6,000 บาท และในปัจจุบัน มีรูปแบบการสอบ ดังนี้

  1. TOEFL ITP เป็นการสอบที่ใช้กระดาษในการตอบและเป็นข้อสอบแบบปรนัย (Multiple Choice) โดยแต่ก่อนจะมีการสอบ TOEFL PBT (Paper-Based) ซึ่งเป็นรูปแบบเก่าด้วย แต่ในปัจจุบัน ETS ได้ประกาศเรื่องการใช้ข้อสอบ TOEFL ITP แทนข้อสอบ TOEFL PBT เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  
  2. TOEFL CBT เป็นการทำข้อสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (Computer-based Testing)
  3. TOEFL iBT เป็นการสอบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet-Based Test) เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ใช้เวลาในการสอบ 2 ชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ Reading, Writing, Listening และ Speaking ส่วนละ 30 คะแนน มีคะแนนเต็ม 120 คะแนน

หากน้อง ๆ คนไหนสนใจสมัครสอบ TOEFL สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและศึกษาการสอบ TOEFL iBT Home Edition ได้ที่นี่ www.ets.org

IELTS

International English Language Testing System (IELTS) คือ การทดสอบภาษาอังกฤษที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ซึ่งได้ออกแบบมาเพื่อประเมินทักษะการใช้ภาษาอังกฤษทั้งการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน เพื่อใช้ในการสื่อสารสำหรับการทำงาน การศึกษา หรือการย้ายถิ่นฐาน โดยคะแนนสอบจะถูกแบ่งออกเป็น 9 ระดับ 1-9 สำหรับศูนย์สอบของ IELTS ในไทย มีหลัก ๆ  2 ที่ ได้แก่ British Council และ IDP และแบ่งรูปแบบการสอบออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

  1. การสอบการฟัง (Listening) ใช้เวลาในการสอบ 30 นาที
  2. การสอบการอ่าน (Reading) ใช้เวลาในการสอบ 60 นาที
  3. การสอบการเขียน (Writing) ใช้เวลาในการสอบ 60 นาที
  4. การสอบการพูด (Speaking) ใช้เวลาในการสอบ 11-14 นาที

และประเภทของการสมัครสอบและมีค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ ดังนี้

ประเภทของการสอบค่าสมัครสอบ
IELTS เชิงวิชาการ (สอบที่ศูนย์สอบ โดยใช้กระดาษหรือคอมพิวเตอร์)6,900 บาท
IELTS เชิงฝึกอบรมทั่วไป (สอบที่ศูนย์สอบ โดยใช้กระดาษหรือคอมพิวเตอร์)6,900 บาท
IELTS for UKVI เชิงวิชาการ (สอบที่ศูนย์สอบ โดยใช้กระดาษหรือคอมพิวเตอร์)7,710 บาท
IELTS for Life Skills (A1 & B1) (สอบที่ศูนย์สอบ) 5,800 บาท

CU-TEP

CHULALONGKORN UNIVERSITY TEST OF ENGLISH PROFICIENCY (CU-TEP) คือ การทดสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษา เหมาะสำหรับการวัดทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา เพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ รวมถึงหลักสูตรนานาชาติของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และหลักสูตรอื่น ๆ  และผลการสอบมีอายุ 2 ปี นับจากวันที่สอบ ซึ่ง CU-TEP  แบ่งประเภทรูปแบบการสอบ ได้ดังนี้

  1. CU-TEP คือ การทดสอบเพื่อวัดทักษะด้านการฟัง การอ่าน และการเขียน ซึ่งจะจัดสอบแค่ช่วงเช้า ตามสนามสอบของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยจะประกาศคะแนนสอบหลังจากวันสอบไม่เกิน 2 สัปดาห์ ผ่านระบบออนไลน์ มีคะแนนเต็ม 120 คะแนน และมีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 900 บาท
  2. CU-TEP E-Testing คือ การทดสอบด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อวัดทักษะด้านการฟัง การอ่าน และการเขียน ซึ่งจะจัดสอบแค่ช่วงเช้า โดยจะสามารถทราบผลคะแนนได้ทันทีหลังจากสอบเสร็จ ไม่สามารถขอตรวจผลคะแนนซ้ำได้ จะมีคะแนนเต็ม 120 คะแนน และมีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 2,500 บาท
  3. CU-TEP & Speaking คือ การทดสอบเพื่อวัดทักษะด้านการฟัง การอ่าน การเขียน และเพิ่มการวัดทักษะด้านการพูดด้วย ซึ่งจะจัดสอบทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยจะประกาศคะแนนสอบ CU-TEP หลังจากวันสอบไม่เกิน 2 สัปดาห์ และประกาศคะแนนสอบ CU-Speaking หลังจากวันสอบไม่เกิน 3 สัปดาห์ ผ่านระบบออนไลน์ จะมีคะแนนเต็ม 150 คะแนน และมีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 2,900 บาท
  4. CU-TEP & Speaking (E-Package) คือ การทดสอบด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อวัดทักษะด้านการฟัง การอ่าน การเขียน และการพูด ซึ่งจะจัดสอบทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยจะประกาศคะแนนสอบ CU-TEP E-Testing ทันทีเมื่อหมดเวลาสอบ และประกาศคะแนนสอบ CU-Speaking หลังจากวันสอบไม่เกิน 1 สัปดาห์ ผ่านระบบออนไลน์ จะมีคะแนนเต็ม 150 คะแนน และมีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 4,000 บาท

ตารางสอบ CU-TEP ช่วงเช้า

การสอบจำนวนข้อระยะเวลาเวลาสอบ
การฟัง30 ข้อ30 นาที09.00 – 09.30 น.
การอ่าน60 ข้อ70 นาที09.35 – 10.45 น.
การเขียน30 ข้อ30 ข้อ10.50 – 11.20 น.

ตารางสอบ CU-TEP ช่วงบ่าย

การสอบจำนวนข้อ
การพูด3 ข้อ
(ข้อละ 10 คะแนน)

หากน้อง ๆ คนไหนสนใจสมัครสอบ CU-TEP สามารถตรวจสอบสนามสอบส่วนกลางและสนามสอบส่วนภูมิภาคได้ที่ ได้ที่ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และสามารถตรวจสอบตารางสอบ E-Testing ประจำปี 2564 ได้ที่ ปฏิทินการจัดสอบ E-Testing ประจําปี 2564

CU-AAT

CHULALONGKORN UNIVERSITY ACADEMIC APTITUDE TEST (CU-AAT) คือ การทดสอบสำหรับผู้มีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทั้งหลักสูตรภาษาอังกฤษและหลักสูตรนานาชาติ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการสอบมีอายุ 2 ปี นับจากวันที่สอบ โดยข้อสอบจะเป็นปรนัยทั้งหมด มีคะแนนเต็ม 1,600 คะแนน และจะประกาศคะแนนสอบหลังจากวันสอบไม่เกิน 2 สัปดาห์ ผ่านระบบลงทะเบียนออนไลน์

มีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 1,300 บาท นอกจากนี้ CU-AAT จะมีการสอบแบบ E-Testing หรือ การจัดสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ด้วย ซึ่งมีคะแนนเต็ม 1,600 คะแนนเช่นเดียวกัน แต่ระบบ E-Testing จะสามารถทราบผลคะแนนได้ทันทีหลังจากสอบเสร็จ แต่ไม่สามารถขอตรวจผลคะแนนซ้ำได้ และมีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 2,900 บาท

CU-AAT สามารถแบ่งรูปแบบการสอบออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) Math Section และ 2) Verbal Section ดังรายละเอียดต่อไปนี้

การสอบจำนวนข้อระยะเวลาเวลาสอบ
Math Section
– Arithmetic
– Algebra
– Geometry
– Problem solving
55 ข้อ70 นาที13.00 น. -14.10 น.
Verbal Section
Section 1 : Critical Reading includes
– Sectence completions
– Passage-based reading
– Problem solving
Section 2 : Writing includes
– Improving sentences
– Identifying sentence errors
– Improving paragraphs
55 ข้อ70 นาที14.20 น. -15.30 น.

CU-ATS

CHULALONGKORN UNIVERSITY APTITUDE TEST FOR SCIENCE (CU-ATS) คือ การทดสอบสำหรับผู้มีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หลักสูตรนานาชาติ ทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการสอบมีอายุ 2 ปี นับจากวันที่สอบ โดยข้อสอบจะเป็นปรินัยทั้งหมด มีคะแนนเต็ม 1,600 คะแนน โดยจะประกาศคะแนนสอบ หลังจากวันสอบไม่เกิน 2 สัปดาห์ ผ่านระบบลงทะเบียนออนไลน์ และค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 1,000 บาท

นอกจากนี้ CU-ATS จะมีการสอบแบบ E-Testing หรือ การจัดสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ด้วย มีคะแนนเต็ม 1,600 คะแนนเช่นเดียวกัน แต่ระบบ E-Testing สามารถทราบผลคะแนนได้ทันทีหลังจากสอบเสร็จ แต่ไม่สามารถขอตรวจผลคะแนนซ้ำได้ มีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 2,600 บาท

การสอบ CU-ATS จะประกอบไปด้วย 1) วิชาฟิสิกส์ (Physics Section) และ  2) วิชาเคมี (Chemistry Section) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

การสอบจำนวนข้อระยะเวลาเวลาสอบ
Physics Section30 ข้อ60 นาที9.00 น. -10.00 น.
Chemistry Section55 ข้อ60 นาที10.10 น. -11.10 น.

CU-TAD

CHULALONGKORN UNIVERSITY TEST OF APTITUDE IN DESIGN (CU-TAD) คือ การทดสอบทักษะด้านการออกแบบ สำหรับผู้ประสงค์เข้าศึกษาต่อ ในระดับปริญญาตรี หลักสูตรนานาชาติ ทั้งสาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการสอบมีอายุ 2 ปี นับจากวันที่สอบ การสอบจะมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน  โดยจะประกาศคะแนนสอบ หลังจากวันสอบประมาณ 3 สัปดาห์ ผ่านระบบออนไลน์ มีค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 1,200 บาท โดยจะแบ่งการสอบออกเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้

การสอบจำนวนข้อระยะเวลาเวลาสอบ
Spatial Perception & Logical Analysis20 ข้อ30 นาที9.00 น. -9.30 น.
Generation of Ideas & Design Ability4 ข้อ60 นาที9.30 น. -10.30 น.
Drawing & Painting Skill2 ข้อ60 นาที10.30 น. -11.30 น.

สำหรับผู้ที่ต้องการทดสอบ ที่จัดสอบโดยศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งหมด สามารถตรวจสอบปฏิทินการจัดสอบ ประจำปี 2564 ได้ที่ ปฏิทินการจัดสอบประจำปี 2564

TU-GET

Thammasat University General English Test (TU-GET) คือ การทดสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้านการใช้ภาษาอังกฤษ เหมาะสำหรับใช้ยื่นเข้าสมัครในหลักสูตรนานาชาติและคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และวารสารศาสตร์ เป็นต้น

TU-GET มีคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน ใช้เวลาในการสอบ 3 ชั่วโมง คะแนน GSAT มีอายุ 2 ปีหลังจากทำการทดสอบ มีค่าธรรมเนียมในการสอบ 500 บาท ผู้สมัครสามารถสมัครสอบผ่านทางเว็บไซต์ ได้ที่ TUGET โดยมีสถานที่สอบคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในการสอบ TU-GET สามารถแบ่งรูปแบบข้อสอบได้ 3 ส่วน ดังนี้

  • ส่วนที่ 1 Structure : Error Identification & Sentence Completion
  • ส่วนที่ 2 Vocabulary : Synonym & Cloze Test)
  • ส่วนที่ 3 Reading : Passages

SAT

SAT คือ การทดสอบมาตรฐานที่ใช้สำหรับยื่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยในไทย สามารถติดตามข่าวสารและสมัครได้ที่เว็บไซต์ College Board. แบ่งรูปแบบการสอบเป็น 2 ส่วน กับ 1 ตัวเลือกเพิ่มเติม  (คะแนนรวม 2 ส่วน จะมีค่าระหว่าง 400 – 1,600) คะแนน ดังนี้

  • Evidence-Based Reading & Writing
  • Math
  • SAT Essay (ในกรณีที่มหาวิทยาลัยต้องการคะแนนส่วนนี้) คะแนนจะมีค่าระหว่าง 2 – 8 คะแนน

แนะนำอ่านต่อ : ข้อมูล รายละเอียดและตารางสอบ SAT

GSAT

General Scholastic Aptitude Test (GSAT) คือ การทดสอบความถนัดทางวิชาการทั่วไป เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสมัครเรียนหลักสูตรนานาชาติหรือภาษาอังกฤษสำหรับระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย คะแนน GSAT รวมทั้งหมด จะมีค่าระหว่าง 400 – 1,600 คะแนน มีอายุ 2 ปีหลังจากทำการทดสอบ

ผู้สมัครจะต้องเลือกมหาวิทยาลัยและคณะที่จะเป็นผู้ได้รับคะแนน GSAT ไม่เกิน 4 ที่สำหรับการทดสอบแต่ละครั้ง สามารถตรวจสอบคะแนนได้ทางเว็บไซต์ www.smart.tbs.tu.ac.th ภายใน 1 เดือนหลังจากทำการทดสอบ มีค่าธรรมเนียมในการสอบ 1,800 บาท โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อมหาวิทยาลัย คณะ และหลักสูตรที่ใช้คะแนน GSAT ได้ที่นี่ Directory of Universities ในการสอบ GSAT สามารถแบ่งรูปแบบข้อสอบได้ 4 ส่วน ดังนี้

  • ส่วนที่ 1 การอ่าน (50 คำถาม 4 ตัวเลือก) ใช้เวลาในการสอบ 65 นาที
  • ส่วนที่ 2 การเขียนและภาษา (40 คำถาม 4 ตัวเลือก) ใช้เวลาในการสอบ 35 นาที
  • ส่วนที่ 3 คณิตศาสตร์ไม่มีเครื่องคิดเลข (20 คำถาม 4 ตัวเลือก) ใช้เวลาในการสอบ 25 นาที
  • ส่วนที่ 4 คณิตศาสตร์พร้อมเครื่องคิดเลข (40 คำถาม 4 ตัวเลือก) ใช้เวลาในการสอบ 55 นาที

หากน้อง ๆ คนไหนสนใจสมัครสอบ สามารถลงทะเบียนเพื่อสมัครสอบ GSAT ได้ที่เว็บไซต์ TCTC

ACT

American College Testing Assessment (ACT) คือ การทดสอบที่วัดทักษะเกี่ยวกับการใช้เหตุผล ทักษะการวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา และทักษะการสื่อสารที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมสอบได้ที่ MyACT  มีคะแนนเต็ม 36 คะแนน และมีค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบ ประมาณ 1,800 บาท และมีค่าธรรมเนียมสอบต่างประเทศอีกประมาณประมาณ 1,150 บาท

ในการสอบ ACT สามารถแบ่งรูปแบบข้อสอบได้ ดังนี้

  • การทดสอบวัดทักษะทางภาษาอังกฤษ ด้านไวยากรณ์ การใช้ภาษาที่ถูกต้อง (75 คำถาม 4 ตัวเลือก) ใช้เวลาในการสอบ 45 นาที
  • การทดสอบวัดทักษะทางคณิตศาสตร์ (60 คำถาม 5 ตัวเลือก) ใช้เวลาในการสอบ 60 นาที
  • การทดสอบวัดทักษะการอ่าน (60 คำถาม 4 ตัวเลือก) ใช้เวลาในการสอบ 35 นาที 
  • การทดสอบทักษะการให้เหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์  (40 คำถาม 4 ตัวเลือก) ใช้เวลาในการสอบ 35 นาที 
  • การทดสอบทักษะการเขียน คำถามมี 1 ข้อ ใช้เวลาในการสอบ 40 นาที

หากน้อง ๆ คนไหนสนใจสมัครสอบ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ The ACT – Solutions for College and Career Readiness | ACT

A-Level

Advanced Level General Certificate of Secondary Education (A-Level) คือ การทดสอบของใช้สำหรับนักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่ต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของประเทศอังกฤษ ซึ่งจะทำให้ได้รับวุฒิการศึกษาเทียบเท่า ม.6 ในไทย โดยใช้เวลาเรียนทั้งหมด 2 ปี

ทั้งนี้ A-Level จะมีวิชาให้เลือกประมาณ 55 วิชา โดยในการสอบจะมีทั้งหมด 5 กลุ่มวิชา ได้แก่

  1. กลุ่มวิชาภาษา (Language)
  2. กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Humanities & Social Science)
  3. กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ (Science)
  4. กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ (Mathematics) และ
  5. กลุ่มวิชาทักษะวิชาชีพ (Creative, Technical and Vocational)

ซึ่งผู้สมัครจะต้องเลือกสาขาวิชาที่สอดคล้องกับหลักสูตรหรือคณะที่ต้องการศึกษาต่อ มีค่าธรรมเนียมในการสอบประมาณ 6,000-9,000 บาทต่อวิชา

สำหรับศูนย์สอบในไทย หากน้อง ๆ คนไหนสนใจ สามารถสมัครสอบได้ที่ โรงเรียนนานาชาติที่ใช้ระบบอังกฤษ อย่าง Harrow หรือสมัครสอบที่ British Council

IB Diploma

International Baccalaureate Program (IB) คือ การทดสอบในหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับในระดับสูงจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เพื่อใช้ในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เป็นหลักสูตรเทียบเท่ากับการเรียนระดับมัธยมปลาย

ในการสอบของ IB จะมีการสอบ 2 ระดับ ได้แก่

  • Standard Level และ
  • Higher Level (HL)

โดย IB Diploma Program จะมีทั้งหมด 6 กลุ่มวิชา ได้แก่

  1. First Language
  2. Second Language
  3. Individual and Societies
  4. Experimental Science
  5. Mathematics and Computer Science และ
  6. Arts And Electives

คะแนนของแต่ละวิชาจะอยู่ที่ระดับ 1 ถึง 7 ดังนั้น ในกลุ่ม 6 วิชา จะมีคะแนนเต็มรวม 45 คะแนน (เพิ่มมา 3 คะแนน จากส่วน Extended Essay และ Theory of Knowledge หากน้อง ๆ คนไหนสนใจ สามารถศึกษารายละเอียดของ IB ได้ที่ หลักสูตร IB The International Baccalaureate

คะแนนสอบที่นิยมใช้ในการยื่นคณะอินเตอร์มีอะไรบ้าง ?
คะแนนสอบที่นิยมใช้ในการยื่นคณะอินเตอร์มีอะไรบ้าง ?

เป็นอย่างไรกันบ้างกับรายชื่อของคะแนนสอบที่น้อง ๆ จะต้องใช้ในการยื่นเข้าหลักสูตรหรือคณะอินเตอร์ในประเทศไทย แล้วในบทความถัดไป เราจะมาดูกันว่า มีมหาวิทยาลัยไหนบ้าง!? ที่เปิดสอนในหลักสูตรอินเตอร์ และต้องใช้คะแนนสอบใดในการยื่นกันค่ะ.