สำหรับน้อง ๆ นักเรียนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต้องเริ่มเตรียมตัวและทำความรู้จักกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน อย่างระบบ TCAS แน่นอน เพื่อให้น้อง ๆ เข้าใจระบบ TCAS มากยิ่งขึ้นและเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาตามที่ตนเองต้องการได้ 100%  วันนี้พี่ ๆ Owl Campus จึงขอสรุป “สาระสำคัญของระบบ TCAS ฉบับล่าสุด แบบรวดเดียวจบ” เพื่อให้น้อง ๆ ได้เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามแข่งขัน และตามหาความฝันของตนเองได้ทันท่วงที ไปทำความรู้จักกับ TCAS65 ได้เลย !

TCAS คืออะไร?

TCAS หรือ Thai University Central Admission System คือ ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ได้เริ่มต้นใช้ทดแทนการสอบเข้าแบบเดิมหรือที่เรียกว่า Admission มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 และใช้มาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

รูปแบบของ TCAS ในแต่ละปี อาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการกำหนดของ ทปอ.

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

จุดเด่นของ TCAS คือ ระบบจะช่วยให้น้อง ๆ นักเรียนสามารถเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาได้ตามที่ต้องการ โดยที่ยังคงสามารถนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียนได้จนเรียนจบ “น้อง ๆ แต่ละคนจะมีเพียง 1 สิทธิ์เท่านั้นในการตอบรับมหาวิทยาลัย”  จึงทำให้ไม่สามารถเก็บสิทธิ์ไว้เผื่อเลือกได้นั่นเอง และด้วยระบบที่ถูกออกแบบมาให้มีการคัดเลือกหลายรูปแบบและหลายรอบ ทำให้น้อง ๆ สามารถสอบเข้าและได้ที่เรียนกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับการวิ่งรอกสอบแบบแต่ก่อน ก็ยิ่งเป็นการช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายได้มากเลยทีเดียว

การคัดเลือกในระบบ TCAS มีกี่รูปแบบ ? อะไรบ้าง ?

การคัดเลือกในระบบ TCAS มีทั้งหมด 4 รูปแบบ และ มี 4 รอบ  ดังนี้

ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย TCAS คืออะไร - TCAS65
ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย TCAS

รูปแบบที่ 1 Portfolio

รูปแบบ Portfolio คือ รูปแบบที่นักเรียนสามารถใช้การยื่นเอกสารที่แสดงตัวตน ความรู้ ความสามารถ ทักษะ รวมถึงกิจกรรมที่เคยร่วมทำ และรางวัลที่เคยได้รับ เพื่อเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาและสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดรับสมัครในรอบนี้ โดยเอกสารที่ยื่นไม่รวมปก ต้องไม่เกิน 10 หน้ากระดาษ ซึ่งในรอบนี้จะเหมาะสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ในการสมัคร สามารถสมัครกับทางสถาบันอุดมศึกษาได้โดยตรงและไม่ต้องสอบข้อเขียนใด ๆ 

การพิจารณาจะเน้นจากการยื่น Portfolio ที่มีความสอดคล้องกับสาขาวิชาเป็นหลัก ควบคู่กับคะแนน GPAX 4 หรือ 5 ภาคเรียน และจะมีการ pre-screen เพื่อคัดเลือกเข้าสู่รอบสอบสัมภาษณ์ในลำดับถัดไป  โดยสามารถแบ่งรูปแบบของ Portfolio ออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. ผลงานที่สะสมย้อนหลังช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่มีความเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่สมัคร และ
  2. ผลงานที่สร้างตามโจทย์ตามที่สาขาวิชากำหนดไว้

รูปแบบที่ 2 Quota

รูปแบบ Quota คือ รูปแบบที่นักเรียนสามารถสมัครกับสถาบันอุดมศึกษาได้โดยตรง สถาบันจะกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกและอาจมีการใช้คะแนนสอบข้อเขียนมาประกอบการพิจารณาด้วย  โดยอาจจะแบ่งจากเขตพื้นที่ แบ่งตามภาค หรือเป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษา นักเรียนในโครงการความสามารถพิเศษ รวมถึงนักเรียนในเขตพิเศษของประเทศด้วย ทั้งนี้ น้อง ๆ จะต้องเตรียมความพร้อมของคะแนน GPAX 5 หรือ 6 ภาคเรียน รวมถึงมีการใช้คะแนนสอบวิชาการ

รูปแบบที่ 3 Admission

แต่สำหรับ TCAS65 จะมีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมา คือ ทปอ. ได้มีมติการประชุมในเดือนมิถุนายน 2564 ว่า จะมีการยกเลิกการใช้คะแนน O-NET เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกโดยไม่ต้องมีคะแนนสอบอื่นมาทดแทน และมีการปรับรูปแบบ Admission 1 และ Admission 2 ให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ทำให้ TCAS65 จะมีการคัดเลือกทั้งหมด 4 รูปแบบ 4 รอบ ซึ่งต้องรอติดตามรายละเอียดจากทางทปอ. ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.mytcas.com ต่อไป

รูปแบบ Admission คือ รูปแบบที่นักเรียนสามารถยื่นสมัครในระบบ TCAS ได้โดยตรง ผ่านเว็บไซต์ student.mytcas.com ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาจะกำหนดเกณ์การรับการใช้คะแนนสอบวิชาการ รวมถึงคะแนน GPAX 5 หรือ 6 ภาคเรียน

นักเรียนจะต้องเลือกสาขาวิชาที่ต้องการในรูปแบบการเรียงลำดับ และระบบจะประกาศผลในอันดับที่ดีที่สุดที่นักเรียนได้ผ่านการคัดเลือก เหมาะสำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนในโครงการ กสพท. และโครงการอื่น ๆ สามารถเข้าร่วมในรอบนี้ได้เลย

รูปแบบที่ 4 Direct Admission

รูปแบบ Direct Admission คือ รูปแบบสุดท้ายที่จะช่วยนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียน หรือยังไม่พอใจกับสาขาวิชาที่ตนเองได้ผ่านการคัดเลือกในรอบก่อนหน้านี้ ให้สามารถสมัครกับทางสถาบันอุดมศึกษาได้โดยตรง ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาจะกำหนดเกณ์การรับรวมถึงการใช้คะแนนสอบวิชาการ และนักเรียนยังต้องเตรียมคะแนน GPAX ทั้ง 6 ภาคเรียนไว้ยื่นเช่นเดียวกัน

วิธีการลงทะเบียนใช้งานระบบ TCAS

สำหรับน้อง ๆ ที่จะเข้าสู่ระบบการคัดเลือกของ TCAS เป็นครั้งแรก จะต้องลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ student.mytcas.com เพื่อเริ่มต้นใช้งานก่อน  โดยหลักการใช้งานในระบบ ดังนี้

การลงทะเบียนใช้งานครั้งแรก

ผู้สมัครสามารถเข้าระบบเพื่อลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ และใส่ข้อมูลของตนเองให้ครบถ้วน ซึ่งจะแบ่งข้อมูลออกเป็นทั้งหมด 6 ส่วน ได้แก่

  1. ข้อมูลส่วนบุคคล
  2. ข้อมูลการศึกษา
  3. ข้อมูลกลุ่มสาระฯ
  4. คะแนนสอบภาษาอังกฤษ
  5. ข้อมูลบุคคลที่ติดต่อได้ และ
  6. ข้อมูลทั่วไป

และทำการบันทึกการแก้ไขในแต่ละส่วนข้อมูลให้เรียบร้อย

การตรวจสอบข้อมูล

ผู้สมัครสามารถตรวจสอบข้อมูลหลังจากลงทะเบียนเสร็จได้ ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่กรอกเรียบร้อยแล้วทั้ง 6 ส่วน ข้อมูลเกรดเฉลี่ย 5-6 ภาคเรียนจากฐานข้อมูลของ iCAS (สพฐ.) รวมถึงคะแนนสอบรายวิชาจากสทศ. และคะแนนสอบอื่น ๆ อีกด้วย

การสมัครคัดเลือกผ่านระบบ TCAS ในรอบที่ 3  Admission

ผู้สมัครสามารถเลือกเกณฑ์ Admission 1 หรือ Admission 2  หรือจะเลือกสมัครทั้ง 2 เกณฑ์ก็ได้ โดยสามารถสมัครแบบเรียงลำดับได้สูงสุดไม่เกิน 10 อันดับ ซึ่งอับดับ  1 คือ อันดับสาขาวิชาที่ต้องการเข้าศึกษามากที่สุด ทั้งนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดจำนวนรับของแต่ละเกณฑ์ไว้ชัดเจน ผู้สมัครสามารถดำเนินการตั้งแต่การเลือกสาขาวิชา เรียงลำดับสาขาวิชาที่ต้องการเข้าศึกษา ยืนยันอันดับ และชำระเงินได้ ผ่านระบบกลางของ TCAS ทั้งหมด

การบริหารจัดการสิทธิ์

ผู้สมัครสามารถเข้าไปดูประกาศผลการคัดเลือก ยืนยันสิทธิ์ ไม่ใช้สิทธิ์ หรือสละสิทธิ์ได้ ตามช่วงเวลาที่แต่ละรอบกำหนด  ผ่านระบบกลางของ TCAS โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • การยืนยันสิทธิ์ในรอบ Portfolio สามารถเลือกสละสิทธิ์ได้ 2 ช่วงเวลา (ช่วงรอบ Portfolio และ ช่วงรอบ Quota) 
  • การยืนยันสิทธิ์ในรอบ Quota สามารถเลือกสละสิทธิ์ได้ 1 ช่วงเวลา 
  • การยืนยันสิทธิ์ในรอบ Admission จะมีการประกาศผล 2 รอบ ในการประกาศผลรอบที่ 1 นักเรียนสามารถเลือกยืนยันสิทธิ์ในสาขาวิชาที่ผ่านการคัดเลือกได้เลยทันที หรือจะแจ้งความประสงค์ขอประมวลผลครั้งที่ 2 เพื่อเลื่อนอันดับขึ้นหากมีที่ว่าง หรือ เมื่อคะแนนถึงอันดับที่สูงขึ้น และจำเป็นต้องเลือกยืนยันสิทธิ์ในรอบนี้ และเมื่อประกาศครั้งที่ 2 เรียบร้อยแล้ว นักเรียนไม่ต้องยืนยันสิทธิ์ใด ๆ อีกแล้ว ระบบจะยืนยันสิทธิ์อัตโนมัติ และไม่สามารถสละสิทธิ์ได้ แต่หากไม่ต้องการเรียนในสาขาที่ได้ ให้เลือก “ ไม่ใช้สิทธิ์ ” ตั้งแต่การประกาศผลในรอบที่ 1 
  • สำหรับการยืนยันในรอบ Direct Admission ผู้ผ่านการคัดเลือกสามารถยืนยันและรายงานตัวที่มหาวิทยาลัยได้เลยโดยตรง โดยมหาวิทยาลัยจะรวบรวมรายชื่อไปยังระบบกลาง และระบบจะตัดสิทธิ์รายชื่อผู้ที่มีการยืนยันสิทธิ์ในระบบก่อนหน้าออกไป

ค่าสมัครสอบ TCAS65

สำหรับค่าสมัครในระบบ TCAS ในรอบ Portfolio, รอบ Quota และรอบ Direct Admission จะขึ้นอยู่กับทางสถาบันอุดมศึกษากำหนด และสำหรับในรอบ  Admission จะมีค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบต่าง ๆ ดังนี้

  • GAT ข้อสอบใช้วัดความถนัดทั่วไป มีค่าสมัครสอบ 140 บาท
  • PAT ข้อสอบวัดความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ มีค่าสมัครสอบ วิชาละ 140 บาท
  • 9 วิชาสามัญ ได้แก่ วิชาภาษาไทย, วิชาสังคมศึกษา, วิชาภาษาอังกฤษ, วิชาคณิตศาสตร์ 1, วิชาคณิตศาสตร์ 2, วิชาฟิสิกส์, วิชาเคมี,  วิชาชีววิทยา และวิทยาศาสตร์ทั่วไป มีค่าสมัครสอบวิชาละ 100 บาท โดยสามารถสมัครได้สูงสุด 7 วิชา 
  • ค่าสมัครสอบวิชาเฉพาะ กสพท. สำหรับสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ 800 บาท
  • และค่าสมัครในรอบ Admission ผ่านระบบกลางของ TCAS จะคิดจากจำนวนการจัดอันดับสาขาวิชาที่สมัคร ในอันดับแรกที่สมัคร จะเริ่มต้นที่ 150 บาท และเพิ่มขึ้นอันดับละ 50 บาท ในอันดับที่ 2-4 และลำดับที่  5-10 จะเพิ่มขึ้นอีกอันดับละ 100 บาท

ปฏิทินกำหนดการ TCAS65

กำหนดการในการสอบ หรือ ตารางสอบ TCAS65 นั้นจะเริ่มตั้งแต่ ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน ในแต่ละปี โดยสามารถแบ่งออกมาเป็น 4 รอบ ได้ดังนี้

รอบที่ 1 Portfolio

ระยะเวลา ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ โดยสถาบันอุดมศึกษาจะกำหนดช่วงการรับสมัครด้วยตนเอง ผู้สมัครสามารถสมัครกับทางมหาวิทยาลัยได้โดยตรง ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างอิสระในช่วงเดือนมกราคม ไปจนถึง เดือนกุมภาพันธ์ รอติดตามประกาศของแต่ละมหาวิทยาลัยต่อไป

รอบที่ 2 Quota

ระยะเวลา ช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม โดยสถาบันการศึกษาจะกำหนดช่วงการรับสมัครด้วยตนเอง ผู้สมัครสามารถสมัครกับมหาวิทยาลัยได้โดยตรง หรือจะสมัครผ่านโรงเรียนต้นสังกัดของตนเอง ตามเงื่อนไขที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด

รอบที่ 3 Admission

ระยะเวลา ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ผู้สมัครสามารลงทะเบียนผ่านระบบกลางของ TCAS ได้ สำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์มาก่อน และเลือกสาขาวิชาที่ต้องการสมัครแบบเรียงลำดับ ไม่เกิน 10 อันดับ พร้อมชำระเงินค่าสมัครผ่านระบบกลางได้เลย

รายวิชาGAT/PATวิชาสามัญวิชาเพิ่มเติม
วันสอบ12 – 15 มีนาคม 256519 – 20 มีนาคม 256524 – 31 มีนาคม 2565
วันประกาศผลสอบ18 เมษายน 256520 เมษายน 2565มหาวิทยาลัยกำหนด

ทั้งนี้ ในการสอบรายวิชาสำหรับ TCAS65 ได้มีมติและออกกำหนดการล่าสุดมาดังนี้ (14 ธันวาคม 2564)

  • การสอบ GAT/PAT จะจัดสอบในวันที่ 12 – 15 มีนาคม 2565
  • การสอบวิชาสามัญ จะจัดสอบในวันที่ 19 – 20 มีนาคม 2565
  • มหาวิทยาลัยจะจัดสอบรายวิชาเพิ่มเติม ในวันที่ 24 – 31 มีนาคม 2565

การสอบวิชาเฉพาะ กสพท. รอทาง ทปอ. และ กสพท. แถลงกำหนดการในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 สามารถติดตามได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.mytcas.com

รอบที่ 4 Direct Admission

ระยะเวลา ช่วงเดือนมิถุนายน โดยสถาบันอุดมศึกษาจะเปิดระบบการรับสมัครและดำเนินการคัดเลือกในช่วงเวลาที่สาขาวิชากำหนด และจะประกาศรายชื่อผู้ยืนยันสิทธิ์ในรอบที่ 4 และยืนยันในระบบโดยสถาบันอุดมศึกษาเองต่อไป ภายในกลางเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ กำหนดการของ TCAS65 ทั้งปฏิทินเพื่อลงทะเบียนใช้งานระบบ ปฏิทินกิจกรรมและกำหนดการรับสมัคร และปฏิทินการสอบ จะประกาศอย่างเป็นทางการผ่านเว็บไซต์ www.mytcas.com รอติดตามกำหนดการอย่างเป็นทางการในลำดับต่อไป

การเตรียมความพร้อมสำหรับ DEK65

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ก่อนถึงกำหนดการลงทะเบียนและรับสมัครอย่างเป็นทางการ น้อง ๆ สามารถเตรียมตัวเองให้พร้อมได้ด้วยขั้นตอน ดังนี้

  1. เตรียมศึกษาคู่มือสำหรับผู้สมัคร คู่มือการลงทะเบียน คู่มือการสมัครคัดเลือกในรอบที่ 3 Admission รวมถึงแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบ TCAS ผ่านเว็บไซต์ www.mytcas.com หรือทางเพจ Facebook ทางการ : Mytcas.com 
  2. เตรียมข้อมูลส่วนบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการเข้าสู่ระบบ 
  3. เตรียมตัวบริหารจัดการเวลาของตนเอง เพื่อให้ทำทุกขั้นตอนให้เสร็จตามกำหนดเวลาที่วางไว้ 
  4. เตรียมศึกษาคุณสมบัติและเกณฑ์การรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยสามารถศึกษาด้วยตนเองเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ www.mytcas.com/universities และผ่านทางเว็บไซต์ทางการของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา
  5. เตรียมศึกษาการใช้คะแนนสอบวิชาการ ทั้ง GAT, PAT, วิชาสามัญ และการสอบวิชาเฉพาะในโครงการต่าง ๆ โดยสามารถติดตามข่าวสารข้อมูลในเบื้องต้นได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ สทศ. www.niets.or.th 
  6. เตรียมความรู้และทักษะความสามารถของตนเองให้พร้อมอยู่เสมอ ทั้งจากการเรียนในห้องเรียน และการขวนขวายหาความรู้นอกห้องเรียน เพื่อรองรับการสมัครในสาขาวิชาที่ตนเองต้องการเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในแต่ละรอบ
  7. เตรียมศึกษาถึงข้อมูลของมหาวิทยาลัยและสาขาวิชา ที่เปิดรับในรูปแบบการคัดเลือกแต่ละรอบ รวมถึงการศึกษาคะแนนสูงสุดและต่ำสุด ของการสมัครคัดเลือกในปีที่ผ่าน ๆ มา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในรอบ Admission ต่อไป

สำหรับน้อง ๆ นักเรียน ที่กำลังเตรียมตัวเข้าสู่ระบบ TCAS และเตรียมพร้อมเข้าสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยที่ตนเองต้องการ หวังว่าบทความของพี่ ๆ Owl Campus จะช่วยให้น้อง ๆ มีความเข้าใจ มีความพร้อม และมีความมั่นใจในการเลือกเส้นทางอนาคตที่ตนเองต้องการมากขึ้น และหมั่นอัพเดทสถานการณ์และข่าวสารเกี่ยวกับ TCAS อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและกำหนดการใหม่ ๆ (ที่ขยันเปลี่ยนแปลงซะด้วย) ขอให้น้อง ๆ จะพบกับเส้นทางที่ตนเองต้องการและเหมาะสมกับน้อง ๆ มากที่สุด ในวันยืนยันสิทธิ์ และสอบติดกันถ้วนหน้าแน่นอน !

และถ้าน้อง ๆ ต้องใช้คะแนนสอบ SAT เพื่อเข้าคณะอินเตอร์ หรือไปเรียนต่อต่างประเทศ พี่ ๆ มีบทความแนะนำ ตามไปอ่านกันได้ที่นี่ –> การสอบ SAT คืออะไร?