“การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น” หรือ JLPT ถือเป็นสมรภูมิสนามสอบที่นักเรียนภาษาญี่ปุ่นจะต้องเจอกันทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงเทคนิคการสอบวัดระดับที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ที่เพิ่งเคยสอบเป็นครั้งแรก และผู้ที่กำลังจะสอบในระดับที่สูงขึ้นกันค่ะ
ทำความรู้จักการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น JLPT
การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นที่เราเรียกกันติดปากว่า JLPT นั้นย่อมาจาก Japanese-Language Proficiency Test คือการสอบเพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านภาษาญี่ปุ่นของชาวต่างชาติ ดำเนินการสอบโดย มูลนิธิญี่ปุ่น (The Japan Foundation) และ สมาคมสนับสนุนการศึกษานานาชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น (JEES) โดยเปิดสอบครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1984 ในตอนนั้นมีผู้สอบ 7,000 คนใน 15 ประเทศทั่วโลก แต่ปัจจุบัน ข้อมูลการสอบปีค.ศ. 2019 พบว่ามีผู้สอบรวมทั้งหมดกว่า 1 ล้านคนใน 87 ทั่วโลก
การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นจะแบ่งเป็น 5 ระดับ โดยระดับที่ง่ายสุดคือ N5 และยากที่สุดคือ N1 แต่ละระดับ มีความแตกต่างกันดังนี้
N5 : สามารถเข้าใจภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานได้ในระดับหนึ่ง
- การอ่าน : อ่านประโยคสั้น ๆ หรือประโยคพื้นฐานที่มีตัวอักษรคาตาคานะ อักษรฮิรางานะ และตัวอักษรคันจิพื้นฐานได้
- การฟัง : ฟังประโยคพื้นฐานสั้น ๆ และช้าได้ เช่น ประโยคทักทาย ประโยคที่เป็นแพทเทิร์น อย่างการแนะนำตัว เป็นต้น
N4 : สามารถเข้าใจภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานทั้งหมดได้
- การอ่าน : อ่านและทำความเข้าใจประโยคในชีวิตประจำวันที่มีคำศัพท์และคันจิพื้นฐานได้
- การฟัง : เข้าใจบทสนทนาในชีวิตประจำวันแบบช้า ๆ ได้เกือบทั้งหมด
N3 : เข้าใจภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ในระดับหนึ่ง
- การอ่าน : อ่านและเข้าใจประโยคในชีวิตประจำประจำวันที่มีการอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมได้ สามารถอ่านจับใจความสำคัญข้อมูล เช่น พาดหัวข่าวได้ สามารถจับใจความสำคัญประโยคที่ค่อนข้างยากแม้จะมีการเปลี่ยนรูปประโยคได้
- การฟัง : สามารถเข้าใจบทสนทนาที่มีความเร็วใกล้เคียงกับชีวิตจริง และจับใจความความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในบทสนทนาได้
N2 : เข้าใจภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวันได้ และเข้าใจหัวข้อนอกเหนือจากชีวิตประจำวันได้ในระดับหนึ่ง
- การอ่าน : ทำความเข้าใจเนื้อหาประเด็นต่าง ๆ ที่ปรากฏตามหนังสือพิมพ์ บทความ นิตยสารต่าง ๆ ได้ และสามารถเข้าใจความหมายแฝงจากบทอ่านหัวข้อทั่วไปได้
- การฟัง : สามารถจับใจความสำคัญและเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่ง ๆ ต่าง ๆ ที่ปรากฏ รวมถึงเนื้อหาของข่าว บทสนทนาในชีวิตประจำวันหรือหัวข้อที่กว้างกว่านั้นในระดับความเร็วที่ใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันได้
N1 : เข้าใจภาษาญี่ปุ่นในสถานการณ์ที่หลากหลายได้
- การอ่าน : เข้าใจองค์ประกอบและเนื้อหาของบทวิเคราะห์ บทวิจารณ์ต่าง ๆ ที่ค่อนข้างซับซ้อนได้ อ่านและเข้าใจความหมายแฝงและองค์ประกอบของบทความที่มีเนื้อหาลึกซึ้งได้
- การฟัง : สามารถจับใจความสำคัญและเข้าใจเนื้อหาหรือความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในการบรรยาย ข่าว หรือการสนทนาที่มีระดับความเร็วตามชีวิตจริงได้
การเตรียมตัวสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น
การเตรียมตัวสอบ JLPT ก็เหมือนกับการทดสอบทั่วไป แน่นอนว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องฝึกทบทวนบทเรียน และฝึกทำข้อสอบเยอะ ๆ โดยสามารถซื้อหนังสือสำหรับเตรียมสอบที่มีวางขายทั่วไปตามท้องตลาดมาฝึกฝนทำโจทย์ก่อนได้ หรือหากใครอยากลองทำข้อสอบเก่าก็สามารถเข้าไปลองทำกันได้ ซึ่งจะมีครบทุกพาร์ท ฟัง อ่าน ไวยากรณ์ ที่ Sample Questions
สำหรับการสอบระดับ N5 หรือ N4 จากประสบการณ์แล้ว เราแนะนำให้อ่านไวยากรณ์พื้นฐาน และท่องศัพท์ให้แม่น ส่วน N3 นอกจากจะต้องอ่านไวยากรณ์ และจำศัพท์ที่ยากขึ้นแล้ว เราควรจะต้องฝึกอ่านบทความให้เยอะขึ้นด้วย ส่วนการฟังสำหรับระดับพื้นฐาน ช่องทาง Youtube หรือช่องทางออนไลน์ เช่น NHK World Japan นี่ถือว่าเป็นแหล่งฝึกฟังที่ดีมาก
การเตรียมตัวสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นขั้นสูง (N2 – N1)
สำหรับการสอบระดับ N2 และ N1 ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในภาษาญี่ปุ่นระดับนึง สามารถใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันได้ และมีคลังคำศัพท์เยอะพอสมควรนั้น สำหรับเราแล้ว คนที่มีความคุ้นชินกับภาษาญี่ปุ่นและมีโอกาสได้ใช้อยู่เสมอจะได้เปรียบกว่าคนอื่น ๆ และแน่นอนว่าการฝึกฝนที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือ “การอ่านหนังสือ” นั่นเอง
การอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบวัดระดับในขั้นสูงนี้ ควรจะครอบคลุมทั้งด้าน ไวยากรณ์ คำศัพท์ การอ่าน และการฟัง
- ไวยากรณ์ : แนะนำให้อ่านหนังสือสรุปไวยากรณ์ให้แม่นและฝึกทำแบบฝึกหัดเยอะ ๆ
- คำศัพท์ : อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าระดับ N2 และ N1 จะเป็นระดับภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นคำศัพท์ที่นำมาออกข้อสอบจะกว้างมาก นอกจากจะท่องจำคำศัพท์จากหนังสือสรุปแล้ว ควรจะต้องอ่านบทความภาษาญี่ปุ่นเยอะ ๆ เพื่อเก็บคลังคำศัพท์ให้มากเท่าที่จะทำได้
- การอ่าน : การสอบระดับ N2 และ N1 จะให้อ่านบทความที่ยาว และส่วนใหญ่มาจากข่าวหรืองานวิชาการ ดังนั้นเราจึงควรฝึกอ่านบทความประเภทนี้ให้เยอะ ๆ ฝึกตีความว่า บทความนี้ต้องการสื่ออะไรกันแน่ เพราะในข้อสอบจะไม่ถามตรง ๆ เหมือนในระดับต้น
- การฟัง : นอกจากเราจะต้องฟังบทสนทนาในชีวิตจริงที่ทั้งเร็วและชอบบอกเป็นนัยแล้ว ในระดับสูงนี้เรายังต้องฟังการบรรยายเชิงวิชาการได้ด้วย ดังนั้น เราควรฝึกฟังข่าว หรือลองฝึกฟังจากข้อสอบเก่าให้เยอะ เพื่อให้ตัวเองชิน
เทคนิคเตรียมตัวสอบ JLPT พร้อมคำแนะนำต่าง ๆ ของเด็กเอกญี่ปุ่น
เด็กเอกญี่ปุ่นที่ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นกิจวัตรก็ต้องเตรียมตัวสอบอย่างหนักหน่วงไม่แพ้คนอื่น ๆ เทคนิคของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป แต่ก็มีบางอย่างที่พวกเราทำเหมือนกันค่ะ
- พวกเรามีหนังสือสำหรับอ่านสอบที่แนะนำกันปากต่อปากค่ะ หนังสือชุดนี้ชื่อว่า “Shin Kanzen Master (新完全マスター)” สำหรับการสอบวัดระดับ N 1 ที่แต่ละเล่มจะแบ่งหมวดหมู่เป็นคำศัพท์ การอ่าน การฟัง ไวยากรณ์ คันจิ เนื้อหาแน่นเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งเล่มและครอบคลุม อธิบายได้กระชับ และเข้าใจง่าย แต่ละส่วนจะแทรกแบบฝึกหัดมาให้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นเล่มกันตาย
- พาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ภาษาญี่ปุ่น แม้ว่าในห้องเรียน จะเรียนแต่ภาษาญี่ปุ่นอย่างหนักแล้ว แต่เรายังขาดการพูดคุยแบบธรรมชาติ ดังนั้นพวกเราจะชอบไปคุยกับคนญี่ปุ่นค่ะ ในมหาวิทยาลัยจะมีเด็กญี่ปุ่นมาแลกเปลี่ยนอยู่เยอะ ดังนั้นนี่แหละค่ะ โอกาส
- ดูการ์ตูน ดูซีรีส์ ดูข่าว บอกเลยว่าการเสพสื่อแบบนี้ เป็นการฝึกภาษาญี่ปุ่นที่สนุกที่สุดแล้ว นอกจากเราจะได้ความบันเทิง เรายังได้ศัพท์ใหม่ ๆ ที่ไม่มีทางเจอในห้องเรียน และยังได้ฝึกหูให้คุ้นชินกับภาษาญี่ปุ่นเร็ว ๆ ได้ด้วย
ทำอย่างไรให้ได้ไปเรียนต่อญี่ปุ่นแม้ไม่ได้เรียนเอกญี่ปุ่น
เราอยากบอกกับทุกคนทั้งที่กำลังเรียนและไม่ได้เรียนเอกญี่ปุ่นญี่ปุ่นว่า “ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน” ค่ะ แต่อาจจะต่างกันตรงที่ “โอกาสในการใช้ภาษา” เท่านั้นเอง เด็กเอกญี่ปุ่นที่เรียนภาษาญี่ปุ่นทุกวัน ย่อมมีโอกาสได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นมากกว่าอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ได้เรียนในเอกนี้ ก็อาจจะต้องใช้ “ใจ” ไม่ให้ยอมแพ้ และสร้างโอกาสให้ตัวเอง เช่น ดูซีรี่ส์เป็นภาษาญี่ปุ่น ซับไทย หรือจะไปติดตาม Youtuber ชาวญี่ปุ่นใน Youtube ก็ได้
แน่นอนว่าอีกหนึ่งโอกาสที่เราจะสามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ก็คือการเรียนต่อ เดี๋ยวนี้มีทุนเรียนต่อญี่ปุ่นมากมายที่เปิดรับนักศึกษาที่ไม่จำกัดเฉพาะเด็กเอกญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นทุนยอดฮิตอย่าง ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT) ที่เปิดรับนักศึกษาต่างชาติในหลายสาขาเป็นประจำทุกปี สามารถสอบได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น
นอกจากนี้ยังมีทุนของมหาวิทยาลัยเอกชนอื่น ๆ ที่เปิดรับนักศึกษาต่างชาติ เช่น Ritsumeikan Asia Pacific University (APU) มหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ จะเปิดรับนักศึกษาต่างชาติทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ใช้ภาษาอังกฤษในการสอบเข้า การมอบทุนของเขานั้นน่าสนใจมากค่ะ เพราะเขาจะคิดเงินทุนเป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนลดของค่าเทอม เช่น 30% 50% 65% 80% และทุนเต็มจำนวน 100%
แนะนำอ่านต่อ : รวมทุนเรียนต่อญี่ปุ่นสำหรับเด็กไทย (นอกจากทุนมง MEXT)
น้อง ๆ เห็นแล้วใช่ไหมคะว่า โอกาสมีอยู่รอบตัวเราเลย แต่จะทำได้หรือไม่นั้น อยู่ที่ความพยายามของเราล้วน ๆ เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง กว่าจะสอบเข้าเอกญี่ปุ่นและได้ผลการสอบวัดระดับ N1 มาครอบครองก็ไม่ใช่ว่าจะได้มาง่าย ๆ เหมือนกัน ดังนั้นเราขอเป็นกำลังใจให้ผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นทุกคน อย่ายอมแพ้และสู้ไปด้วยกันนะคะ.