สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังต้องการเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ และหลักสูตรเภสัชศาสตร์ ของหลายมหาวิทยาลัย จะต้องทำความรู้จักกับ ข้อสอบสำหรับผู้ที่มีความประสงค์ศึกษาต่อหลักสูตรทางด้านการแพทย์ หรือ “BMAT” ที่มีรูปแบบการสอบเฉพาะตัวในการวัดทักษะและความรู้ของน้อง ๆ เพื่อคัดเลือกเข้าสู่หลักสูตรทางด้านการแพทย์ในระดับอุดมศึกษา

และเพื่อให้น้อง ๆ เข้าใจรูปแบบการสอบ BMAT มากยิ่งขึ้น วันนี้พี่ ๆ Owl Campus จึงชวนน้อง ๆ มา “ทำความรู้จักกับ BMAT การสอบสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อหลักสูตรทางด้านการแพทย์” เพื่อให้น้อง ๆ สามารถเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรทางด้านการแพทย์ได้ตามที่ตนเองต้องการ ไปรู้จักกับ BMAT กันเลย!

BMAT คืออะไร? ใช้ยื่นเข้าหลักสูตรและมหาวิทยาลัยใดได้บ้าง?

BioMedical Admissions Test (BMAT) คือ การสอบสำหรับผู้ที่มีความประสงค์ศึกษาต่อหลักสูตรทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นข้อสอบที่จัดทำโดย Cambridge Assessment Admissions Testing ของ University of Cambridge และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในทั่วโลก

การสอบ BMAT จะเป็นการวัดทักษะความรู้ทางวิชาการและความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษา มากกว่าการประเมินความรู้ในระดับที่เชี่ยวชาญแล้ว โดยจะใช้เวลาในการทำข้อสอบทั้งหมด 2 ชั่วโมง เพื่อวัดระดับทักษะการคิด ความสามารถในการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และทักษะการสื่อสาร

ที่สำคัญคือ “ผู้สมัครสามารถสอบได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น” ในรอบการรับสมัครแต่ละปีการศึกษา และไม่สามารถเก็บคะแนนย้อนหลังมาใช้ในปีถัด ๆ ไปได้  เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ได้มากที่สุด ซึ่งในท้ายที่สุด BMAT จะช่วยคัดเลือกผู้สมัคร เข้าสู่หลักสูตรปริญญาทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งหลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ และหลักสูตรเภสัชศาสตร์ ของหลายมหาวิทยาลัยในไทย ดังรายชื่อต่อไปนี้

รายชื่อมหาวิทยาลัยและหลักสูตรที่ต้องใช้คะแนน BMAT

มหาวิทยาลัยหลักสูตร
มหาวิทยาลัยมหิดลหลักสูตรแพทย์ศาสตร์บัณฑิต โรงพยาบาลรามาธิบดี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลักสูตรแพทย์ศาสตร์บัณฑิต
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังหลักสูตรแพทย์ศาสตร์บัณฑิต
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชหลักสูตรแพทย์ศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒหลักสูตรแพทยศาสตร์โครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีหลักสูตรแพทย์ศาสตร์บัณฑิต และหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
มหาวิทยาลัยขอนแก่นหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์, แพทยศาสตร์ MD02 (ผู้สมัครในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย), แพทยศาสตร์ MDX (ผู้สมัครอื่น ๆ) และ เภสัชศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต (ภาคปกติ, ภาคพิเศษ, หลักสูตรภาษาอังกฤษ และ หลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาต่างชาติ)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์และคณะทันตแพทยศาสตร์หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (ภาษาอังกฤษ) และหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (สองภาษา อังกฤษ/ไทย)

การสอบ BMAT ต้องสอบอะไรบ้าง?

ในการทดสอบ BMAT ข้อสอบจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด  และประกอบไปด้วย การทดสอบ 3 ส่วน ได้แก่

Thinking Skills

ส่วนที่ 1 การทดสอบทักษะการคิด (Thinking Skills) มีทั้งหมด 32 ข้อ ใช้เวลาในการสอบ 60 นาที เป็นการทดสอบทักษะทั่วไปในการแก้ปัญหา และการคิดวิเคราะห์ รูปแบบของข้อสอบจะเป็นปรนัยทั้งหมด และห้ามใช้เครื่องคิดเลข แบ่งย่อยเป็นข้อสอบ 2 รูปแบบ ดังนี้

Problem Solving : Reasoning using numerical skills

เป็นการทดสอบการแก้ไขปัญหาโดยเป็นไปในเชิงตัวเลขอย่างง่าย ทั้งการเลือกชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การระบุความคล้ายคลึงกัน การกำหนดและการใช้ขั้นตอนของกระบวนการที่เหมาะสม ในส่วนนี้จะมีข้อสอบทั้งหมด 16 ข้อ

Critical Thinking : Reasoning using everyday written language

เป็นการทดสอบการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อทดสอบการนำเสนอชุดข้อโต้แย้งเชิงตรรกะและกำหนดให้ผู้สอบต้องหาข้อสรุป ระบุสมมติฐาน ประเมินผลกระทบของหลักฐานเพิ่มเติม การคิดแบบโต้แย้ง การจับคู่เหตุผล และการคิดแบบใช้หลักการ ในส่วนนี้จะมีข้อสอบทั้งหมด 16 ข้อ

โดยผู้สมัครสอบสามารถเข้าไปเรียนรู้แนวทางการออกข้อสอบในส่วนที่ 1 การทดสอบทักษะการคิด (Thinking Skills) ได้ที่นี่ : Thinking Skills Question Guide

Scientific Knowledge and Applications

ส่วนที่ 2 การทดสอบความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการประยุกต์ใช้ (Scientific Knowledge and Applications) มีทั้งหมด 27 ข้อ ใช้เวลาในการสอบ 30 นาที

เป็นการทดสอบความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการนำไปประยุกต์ใช้ โดยคำถามจะครอบคลุมเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษา รูปแบบของข้อสอบจะเป็นปรนัยทั้งหมด และไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องคิดเลข มีทั้งหมด 27 ข้อ  ได้แก่ วิชาชีววิทยา 7 ข้อ, วิชาเคมี 7 ข้อ, วิชาฟิสิกส์ 7 ข้อ และวิชาคณิตศาสตร์ 6 ข้อ

โดยผู้สมัครสอบสามารถเข้าไปเรียนรู้ขอบเขตของเนื้อหาที่จะออกสอบ ได้ที่นี่ : Content Specification

Writing Task

ส่วนที่ 3 การสอบข้อเขียน (Writing Task) เลือกทำเพียง 1 ข้อ จากงาน 3 ข้อ ใช้เวลาในการสอบ 30 นาที เป็นการทดสอบที่จะเปิดโอกาสให้ผู้สอบ ได้แสดงความสามารถในการพิจารณาแง่มุมต่าง ๆ ของข้อเสนอ และสื่อสารออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร โดยต้องอยู่ใน 1 หน้ากระดาษ A4 เท่านั้น ดังนั้น ผู้สอบจึงต้องมีการจัดระเบียบความคิดเป็นอย่างดี กระชับ ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ โดยไม่อนุญาตให้ใช้พจนานุกรมหรือเครื่องตรวจการสะกดอิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ทั้งสิ้น

ในการสอบข้อเขียน จะมีให้เลือกทั้งหมด 3 ข้อ ซึ่งต้องเลือกทำเพียง 1 ข้อ เท่านั้น ซึ่งคำถามจะให้ข้อเสนอสั้น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อทั่วไปในเรื่องวิทยาศาสตร์หรือความสนใจทางการแพทย์ และผู้สอบจะต้องเขียนตอบตามขอบเขต ดังต่อไปนี้

  • คำอธิบายของข้อเสนอ : ผู้สอบจะต้องอธิบายข้อเสนอหรือความหมายของข้อเสนอแนะนั้น ๆ 
  • การสร้างข้อโต้แย้ง : ผู้สอบจะต้องมองอีกด้านหนึ่งของการโต้แย้ง โดยเสนอแนะหรือแสดงความคิดเห็นในข้อโต้แย้งนั้น ๆ 
  • การประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย : ผู้สอบจะต้องเสนอวิธีแก้ปัญหาหรือแสดงการประนีประนอมสำหรับสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

โดยผู้สมัครสอบสามารถเข้าไปเรียนรู้ตัวอย่างการออกข้อสอบในส่วนที่ 3 การสอบข้อเขียน (Writing Task) ได้ที่นี่ : Writing Task

หลักการให้คะแนนสำหรับการสอบ BMAT

สำหรับส่วนที่ 1 และ ส่วนที่ 2

การให้คะแนนและการรายงานผลการสอบ สำหรับส่วนที่ 1 ทักษะการคิด และส่วนที่ 2 ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการประยุกต์ จะมีการสแกนและตรวจสอบกระดาษคำตอบ ตามด้วยการทำเครื่องหมายอัตโนมัติ และใช้การวิเคราะห์แบบไซโครเมทริก ซึ่งคะแนนจะถูกรายงานเป็นทศนิยมหนึ่งตำแหน่ง ซึ่งในส่วนที่ 1 และ 2 “คะแนนเต็มจะอยู่ที่ 9 คะแนน”

สำหรับส่วนที่ 3

การให้คะแนนจะถูกรายงานผลผลการสอบ สำหรับส่วนที่ 3 จะเป็นไปตามการวัดคุณภาพของเนื้อหาในระดับ 1 ถึง 5 และตามการวัดระดับคุณภาพของภาษาอังกฤษในระดับจาก A, C และ E โดยสามารถแบ่งเกณฑ์การให้คะแนนโดยละเอียด ดังนี้

การวัดผลด้านคุณภาพของเนื้อหา

คะแนนที่จะได้รับ จะอยู่ในระดับที่ 1 ถึง 5 คะแนน ส่วนคำตอบที่ไม่มีความเกี่ยวข้องเลย จะถูกตัดสินให้คะแนนเป็น 0

ระดับคะแนน การวัดผลด้านคุณภาพของเนื้อหา

ระดับคะแนนเนื้อหาของคำตอบ
คะแนนระดับที่ 1คำตอบที่มีความเกี่ยวข้องในเนื้อหาแต่ตอบไม่ตรงคำถาม
คะแนนระดับที่ 2คำตอบที่กล่าวถึงองค์ประกอบส่วนใหญ่ของคำถามและจัดเรียงอย่างสมเหตุสมผล แต่ยังมีความสับสน มีบางประการที่เข้าใจผิดประเด็น จนทำให้ข้อเสนอมีน้ำหนักน้อยลงและไม่น่าเชื่อถือ
คะแนนระดับที่ 3คำตอบที่มีการโต้เถียงกันอย่างสมเหตุสมผลที่ตอบทุกแง่มุมของคำถาม แต่อาจมีจุดอ่อนในน้ำหนักของการโต้แย้งหรือความสอดคล้องของความคิด หรือบางแง่มุมของการโต้แย้งอาจยังถูกมองข้ามอยู่
คะแนนระดับที่ 4คำตอบที่ดีแต่มีจุดอ่อนเพียงเล็กน้อย ทุกแง่มุมของคำถามได้รับการแก้ไขแล้ว ใช้เนื้อหาให้เกิดประโยชน์และสร้างข้อเสนอหรือข้อโต้แย้งที่ดี ความคิดถูกแสดงและจัดเรียงอย่างสอดคล้องกัน
คะแนนระดับที่ 5คำตอบที่ยอดเยี่ยมโดยไม่มีจุดอ่อน ทุกแง่มุมของคำถามได้รับการแก้ไขแล้ว โดยใช้ประโยชน์จากเนื้อหาอย่างดีเยี่ยม และสร้างข้อเสนอหรือข้อโต้แย้งที่โต้แย้งได้ดีเยี่ยม ความคิดได้ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนและมีเหตุผล และมีข้อสรุปที่น่าสนใจ

การวัดผลด้านภาษาอังกฤษ

คะแนนที่จะได้รับจะอยู่ในระดับ A, C และ E ส่วนเรียงความที่ถูกตัดสินว่าได้คะแนนระดับที่ต่ำกว่าระดับ E จะได้รับ X

ระดับคะแนน การวัดผลด้านภาษาอังกฤษ

ระดับคะแนนการใช้ภาษาอังกฤษ
Band Aใช้ภาษาอังกฤษได้ดี มีโครงสร้างประโยคที่ดี ใช้คำศัพท์ได้ดี การใช้ไวยากรณ์ การสะกดคำและเครื่องหมายวรรคตอนที่ดี และมีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย
Band Cใช้ภาษาอังกฤษได้ชัดเจนพอสมควร อาจมีจุดอ่อนบ้าง มีความคล่องแคล่วพอสมควรและอ่านไม่ยาก โครงสร้างประโยคมีความเรียบง่ายและชัดเจน การใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมและไวยากรณ์ที่ยอมรับได้
Band Eใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างไม่ดี ไม่คล่องแคล่ว โครงสร้างประโยคหรือการย่อหน้ามีข้อบกพร่อง คำศัพท์มีน้อย ไวยากรณ์มีข้อผิดพลาด รวมถึงข้อผิดพลาดในการสะกด/เครื่องหมายวรรคตอนเป็นประจำ

การลงทะเบียนสอบ BMAT ทำอย่างไร? และมีศูนย์สอบที่ไหนบ้าง?

การลงทะเบียนสอบ BMAT

ผู้สมัครจะต้องลงทะเบียนสมัครสอบกับทางศูนย์สอบ BMAT ที่ได้รับการรับรองจาก Cambridge Assessment Admissions Testing และจะต้องสอบ BMAT ที่ศูนย์สอบที่เลือกลงทะเบียนไว้เท่านั้น โดยสามารถค้นหาศูนย์สอบที่ใกล้และสะดวกสำหรับผู้สมัครได้ที่เว็บไซต์ : Find a Test Centre

หรือสามารถดูศูนย์สอบ BMAT ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก Cambridge Assessment Admissions Testing ดังนี้

ศูนย์สอบ BMAT ในประเทศไทย

ศูนย์สอบ BMATรายละเอียด
กรุงเทพฯTH264 Bangkok Capwise
โทร 081-682-2851
TH001 British Council Bangkok
โทร 02-657-5631
TH670 Cicm Thammasat University  โทร 080-585-8844
ชลบุรีTH269 Capwise Chonburi 
โทร 081-682-2851
นครราชสีมาTH30 Capwise Nakhon Ratchasima  โทร 081-682-2851
ขอนแก่นTH266 Khon Kaen Capwise
โทร 081-682-2851
เชียงใหม่TH265 Chiang Mai Capwise
โทร 081-682-2851
พิษณุโลกTH270 Capwise Phitsanulok
โทร 081-682-2851
ภูเก็ตTH109 British International School Phuket 
โทร 076-335-555
TH068 Headstart International School  โทร 076-612-875
สงขลาTH267 Songkhla Capwise
โทร 081-682-2851

ปฏิทินกำหนดการสอบ BMAT ประจำปี 2564

สำหรับการสอบ BMAT ในแต่ละปี ผู้สมัครสอบจะสามารถสอบได้เพียง 1 ครั้ง ต่อ 1 รอการสอบ Admission เท่านั้น สำหรับกำหนดการสอบ BMAT ประจำปี 2564 มีดังต่อไปนี้

กำหนดการวันและเวลาหมายเหตุ
วันเปิดรับลงทะเบียน1 กันยายน 2564ลงทะเบียนกับทางศูนย์จัดสอบ BMAT ในประเภทไทย ที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่สะดวก
วันครบกำหนดส่งคำขอปรับเปลี่ยนกระดาษคำถาม30 กันยายน 2564 เวลา 18.00 น.
วันครบกำหนดการลงทะเบียน1 ตุลาคม 2564 เวลา 18:00 น.มีค่าธรรมเนียมมาตรฐาน 
อยู่ที่ 6,950 บาท
วันครบกำหนดการลงทะเบียนล่าช้า15 ตุลาคม 2564 เวลา 18:00 น.มีค่าธรรมเนียมสูงกว่ามาตรฐาน อยู่ที่ 8,700 บาท
วันสอบ3 พฤศจิกายน 2564ตามศูนย์สอบที่ได้เลือกลงทะเบียนไว้
ประกาศผลสอบ26 พฤศจิกายน 2564ตรวจสอบผลการคัดเลือกได้ที่นี่
Cambridge Test Portal

เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนลงสนามสอบจริง!

น้อง ๆ สามารถศึกษารูปแบบการสอบ BMAT ผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งจะมีแหล่งข้อมูลฟรีมากมายเพื่อช่วยเตรียมตัวสำหรับการสอบ

สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ : Free BMAT preparation materials

หรือสามารถดูวิดีโอคำแนะนำจากนักศึกษาแพทย์ปัจจุบันและผู้เชี่ยวชาญของ Cambridge Assessment ได้ที่ channel youtube ของ Cambridge เองอีกด้วย

สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ และหลักสูตรเภสัชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยข้างต้น และกำลังศึกษารูปแบบการสอบ BMAT อยู่ก็ขอให้โชคดี สามารถสอบได้คะแนนตามที่หวังไว้ทุก ๆ เลยน้า

แนะนำอ่านเพิ่มเติม : รายละเอียดการสอบ SAT