เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เราตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อที่ Griffith University ในเมือง Brisbane รัฐ Queensland ประเทศออสเตรเลียคนเดียว โดยมีเป้าหมายสำคัญ ก็คือ การไปคว้าปริญญาโท และอยากพูดภาษาอังกฤษให้คล่องปรื๋อแบบ ‘นักเรียนนอก’ โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งสำคัญที่ได้ติดตัวกลับมาเมืองไทยนั้น มีมากกว่า 2 เป้าหมายหลักที่ตั้งใจไว้อีกมากมาย

เรายังจำวันที่ไปขึ้นเครื่องบิน Qantas ที่สนามบินดอนเมืองได้ดี เพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เดินทางไปต่างประเทศคนเดียวโดยลำพัง ระหว่างนั่งอยู่บนเครื่องที่กำลังบ่ายหน้าไปยังดินแดนจิงโจ้ ก็เกิดการสู้รบกันของอารมณ์ 2 ขั้ว กลัว-กล้า มั่นใจ-ปอดแหก ลิงโลด-เศร้าซึม ปนเปกันไปเรื่อย ๆ แล้วแต่ว่าจินตนาการของภาพในอนาคตอันใกล้นี้ จะไปจบที่ตรงไหน

เมื่อลงมาจากเครื่องบิน เราได้พบเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ถือป้ายรออยู่ที่ Arrival Hall เราต้องรอนักศึกษาอีก 2 คนที่ลงเครื่องมาใกล้ ๆ กัน เพื่อนั่งรถมุ่งหน้าไปยังหอพักของมหาวิทยาลัยด้วยกัน Brisbane เป็นเมืองที่สะอาดและเต็มไปด้วยต้นไม้ เรามองทิวทัศน์สองข้างทางด้วยความตื่นตาตื่นใจ เพราะ “Brisbane ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเหมือนกรุงเทพฯ” แต่เป็นพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ มีส่วนของถนนที่อยู่สูงกว่าเราและต่ำกว่าเรา เป็นภาพแปลกตาที่ทำให้เราหลงรัก Brisbane ตั้งแต่แรกเห็น

ชีวิตนักเรียนนอก เริ่มต้นนับ 1 ที่หอพักมหาวิทยาลัย!

เรามาถึงหอพักของมหาวิทยาลัยที่ Main Campus (Nathan) ซึ่งเป็นตึก 4 ชั้น ตั้งเรียงกันเป็นแนวหลายตึก มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมไปทั่วบริเวณ ในแต่ละชั้นจะมี 2 อพาร์ทเม้นต์ ใน 1 อพาร์ทเม้นต์ เป็นที่พักอาศัยของนักศึกษา 4 คน แต่ละคนมีห้องนอนเป็นของตัวเอง แต่ใช้ห้องครัว ห้องนั่งเล่น และห้องน้ำร่วมกัน ชั้นล่างสุดจะมีห้อง common room เป็นห้องโล่งให้มานั่ง hangout กัน มีโต๊ะทานข้าว ทีวี ตู้ snack และเครื่องดื่มหยอดเหรียญ และมีเครื่องซักผ้า อบผ้าหยอดเหรียญให้นักศึกษาไว้ใช้

ความทรงจำ 20 ปีที่แล้ว ที่เมือง Brisbrane | ประสบการณ์นักเรียนนอก
ความทรงจำ 20 ปีที่แล้ว.. Griffith University ที่เมือง Brisbane

ในแต่ละตึกจะมีหัวหน้าหอ ซึ่งได้รับการเลือกจากนักศึกษาที่พักอยู่ หัวหน้าหอจะคอยดูแลความเรียบร้อย รับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ จากลูกหอ และคอยดูแลเรื่องความสะอาดต่าง ๆ ของหอโดยรวม ซึ่งแม้จะมีแม่บ้านมาทำความสะอาดให้เดือนละครั้ง แต่ในแต่ละอพาร์ทเม้นต์ จะต้องมีเวรทำความสะอาดประจำอาทิตย์ หมุนเวียนกันไปในระหว่าง ‘flat mate’ ทั้ง 4 คน

ต้องร่วมห้องกับผู้ชายแปลกหน้า

Flat mate ของเราเป็นสาวออสซี่ ชื่อ Sally หนุ่มจีนและอังกฤษชื่อ Harry และ Tim ทั้งหมดเข้ามาอยู่ในหอก่อนเรา ช่วงแรก ๆ เรารู้สึกกระอักกระอ่วนใจพิกล ที่ต้องมาอยู่ในอพาร์ทเม้นต์เดียวกัน และ “ใช้ personal space ร่วมกันกับผู้ชายแปลกหน้า 2 คน” เพราะเข้าใจมาตลอดว่า หอจะแยกหญิงชายเหมือนหอในมหาวิทยาลัยไทยเมื่อ 20 ปีก่อนโน้น แต่เมื่อไม่มีทางเลือก ก็ต้อง go with the flow เราได้คิดว่าในสังคมอื่น การอยู่ร่วมกันแบบนี้เป็นเรื่องปกติ และเราไม่ควรเอามาตรฐานของเรามาใช้ และก็ต้องปรับตัว เพื่อให้เราได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนที่มาจากต่างวัฒนธรรม ซึ่งเราพบว่ายิ่งเราได้รู้จักแต่ละคนมากขึ้น ก็ยิ่งเปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น และเราก็ได้พวกเขานี่แหละที่ให้คำแนะนำดี ๆ และคอยตอบคำถามเราอย่างเต็มใจ

บทความแนะนำ : ที่พักสำหรับนักเรียนในออสเตรเลีย

อาหารไทย และ Michael Jackson

2 อาทิตย์แรกของการมาอยู่ในต่างแดนเป็นช่วงเวลาที่คิดถึงบ้านที่สุด แต่การมี flat mate ก็ช่วยให้เราไม่เหงาจนเกินไป Sally เสนอว่าให้เราทำอาหารมาแชร์กันมื้อค่ำอาทิตย์ละ 1 วัน เรามารู้ทีหลังว่าทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอชิมอาหารไทย เพราะอาหารไทยมีชื่อเสียงมากในออสเตรเลียสมัยนั้น ในวัน International day ของมหาวิทยาลัย อาหารไทยจะขายหมดก่อนบูธอื่นๆ แม้จะทำโดยนักเรียนไทยที่ไม่เก่งในเรื่องการทำอาหารเลยก็ตาม แต่แค่มีป้ายติดหน้าบูธว่า ‘Thai …….’ เท่านั้น คนจะสนใจมาต่อแถวซื้อในทันที

เราค่อย ๆ สนิทกับ flat mate มากขึ้นทีละนิด ได้รู้จักเพื่อนๆ ของพวกเขาอีกหลายคน จำได้ว่าเทอมที่ 2 Michael Jackson มาทัวร์คอนเสิร์ตในประเทศออสเตรเลีย และวันหนึ่งก็มาเล่นที่สเตเดียมรักบี้ฟุตบอลที่อยู่ติดกับหอ ซึ่งแน่นอนพวกเราไม่มีเงินจ่ายค่าบัตรที่แสนแพง เพราะต่างก็ไม่มีรายได้ จึงชวนกันขึ้นไปบนดาดฟ้าหอ เพื่อไปนั่งดูคอนเสิร์ตจาก Monitor ยักษ์ ได้ยินเสียง Michael ร้องเพลงชัดเจนจนเหมือนกับได้เข้าไปดูคอนเสิร์ตเองจริง ๆ วันนั้นพวกเราเฮฮากันมาก จนถึงทุกวันนี้ ทุกครั้งที่เราได้ยินเพลง Stranger in Moscow เราจะนึกถึงวันนั้นที่เรานั่งอยู่บนดาดฟ้าหอ และร้องเพลงนี้ด้วยกันกับเพื่อน ๆ

ช่วงเวลาในการปรับตัว

ถ้าพูดถึงการเรียน สำหรับคนที่จบจากโรงเรียนไทยอย่างเรา การอ่าน text book ภาษาอังกฤษเล่มหนา หลาย ๆ เล่มในเวลาเดียวกัน เป็นสิ่งที่ยากลำบากจนเกินจะบรรยาย เมื่อเราอ่านหนังสือได้ช้ากว่าคนที่เป็น native speaker สองเท่า เราก็ต้องใช้เวลามากกว่าเขาสองเท่าถึงจะเรียนทัน พอมาผนวกกับการต้องจัดการกับเรื่องส่วนตัวอื่น ๆ เช่น การต้องทำกับข้าวเอง การซักเสื้อผ้า การไปซุปเปอร์มาร์เก็ตเอง ก็ต้องบริหารจัดการเวลากันอย่างหนักกว่าจะลงตัว อาหารก็ต้องทำแบบทำทีเดียวแล้วใส่กล่องไว้ทานได้อีก 2-3 วัน ถึงจะมีเวลาเหลือพอที่จะอ่านหนังสือได้ทัน

ความทรงจำ 20 ปีที่แล้ว ที่เมือง Brisbane | ประสบการณ์นักเรียนนอก ชีวิตนักเรียนนอก
ความทรงจำ 20 ปีของนักเรียนนอก ณ Griffith University ที่เมือง Brisbane

ช่วงนั้นเรานอนเลยเที่ยงคืนและต้องตื่นแต่เช้าเพื่อลุกมาอ่านหนังสือทุกวัน “ความเครียดประจำวันอีกเรื่องหนึ่ง คือการต้องพรีเซ็นต์งานหน้าชั้นเรียน” ในช่วง 2-3 อาทิตย์แรก การพรีเซ็นต์งานเป็นเรื่องที่นึกแล้วยังอายมาถึงปัจจุบัน เพราะไม่มีใครรู้เรื่อง นอกจากตัวคนพรีเซ็นต์เอง แต่เมื่อโดนบังคับให้พรีเซ้นต์งานหลาย ๆ ครั้งต่ออาทิตย์ ก็ทำให้ความอายค่อย ๆ หายไปเอง เราพยายามฟังคนอื่นพูดเพื่อเรียนรู้ว่าทำอย่างไรคนฟังถึงจะเข้าใจง่าย เอา feedback ของอาจารย์มาปรับใช้ด้วย ก็ทำให้พรีเซ็นต์ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลางเทอมอาจารย์ถึงกับชมว่าพูดรู้เรื่องขึ้นเยอะ

ในมหาวิทยาลัยจะมีหน่วยงานที่เรียกว่า International Student Services ซึ่งมีบริการตรวจรายงานให้นักศึกษาต่างชาติที่เพิ่งเข้ามาเรียนปีแรก เรายังจำเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเราได้ดี เธอเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ผมสีน้ำตาลแดง ใส่แว่นกลม ๆ ชื่อ Robin วันแรกที่เราเอารายงานไปให้ตรวจ Robin แก้มาจนเกือบเต็มหน้าทุกหน้า แต่ทุกครั้งที่เรากลับไปให้ Robin ตรวจในครั้งต่อ ๆ มา คำแก้จะค่อย ๆ ลดน้อยลง จนเมื่อใกล้กลางเทอมแรกนั้น แทบไม่มีคำแก้จาก Robin อีก

พอใกล้ ๆ จบเทอมแรก โรบินก็บอกกับเราว่า ‘ชั้นคิดว่าเธอไม่จำเป็นต้องมาหาชั้นแล้วล่ะ ชั้นมั่นใจว่าเธอสามารถทำได้ด้วยตัวเองแล้ว’

เราจำได้ว่า วันนั้นเป็นวันที่เริ่มรู้สึกว่าความยากลำบากที่สุดในชีวิตในเรื่องการเรียนกำลังจะค่อย ๆ ผ่านไป ในเทอมต่อมาเราใช้เวลาในการอ่าน text book น้อยลงมาก เรามีความมั่นใจในการพูดหน้าห้องมากขึ้นและพูดดีขึ้นเรื่อย ๆ และเราไม่ต้องไปหา Robin เพื่อให้ตรวจรายงานให้อีกแล้ว

Brisbane In My Memory

ผ่านมา 20 ปี เมื่อนึกย้อนเวลากลับไปที่ Brisbane เวลาที่ยังเป็นเด็กนักเรียนนอกนั้น เราจะนึกถึงคริสมาสต์หน้าร้อน นึกถึงรถเมล์ที่มาตรงตามตารางเวลาเป๊ะ ๆ นึกถึงคำทักทายของชาวออสซี่ที่ต้องมีคำว่า ‘mate’ ต่อท้ายทุกครั้ง หลายอย่างก็ลืมเลือนไปบ้าง แต่สิ่งที่อยู่ในความทรงจำไม่เคยหาย คือช่วงเวลาที่เราคิดว่ายากลำบากที่สุดในชีวิตช่วงนั้น ที่สอนเราว่าไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ แต่เมื่อเราอดทนและได้ใช้ความพยายามทั้งหมดที่มีเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้ เราจะพบว่ามันคุ้มค่า เหมือนหลายสิ่งในชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อต้องผ่านเวลาที่ยากลำบาก เช่น เมื่อเปลี่ยนงานและต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ เมื่อเป็นแม่ลูกอ่อนใหม่ ๆ  เราจะหวนกลับไปนึกถึงเวลานั้นที่ Brisbane เสมอ และเราจะรู้ว่าเมื่อเราต้องต่อสู้เพื่อให้ผ่านอุปสรรคไปได้ เราจะได้พบกับรางวัลของชีวิตที่รอเราอยู่

ความทรงจำ 20 ปีที่แล้ว ที่เมือง Brisbrane | ประสบการณ์นักเรียนนอก
ความทรงจำ 20 ปีที่แล้ว.. Griffith University ที่เมือง Brisbane

“การไปเรียนที่ Brisbane” ทำให้เราเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบกับการตัดสินใจของตัวเอง ทำให้เราเคารพและเข้าใจความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ และเรียนรู้ที่จะปรับตัวในทุกสถานการณ์ ประสบการณ์นี้ต้องเจอเองถึงจะเข้าใจ ใครเล่าก็ไม่เชื่อ เราเชื่อว่ามันทำให้เราเข้าใจชีวิตในมุมมองที่กว้างขึ้นและนี่เป็นเหตุผลที่เราอยากให้คนที่เรารักมากที่สุดคือลูกสาว ได้มีประสบการณ์แบบที่เราเคยได้พบบ้างเมื่อเขาโตพอที่จะออกไปเรียนรู้โลกที่ไม่มีพ่อแม่คอยช่วยเหลือ เพราะเรารู้ว่าเมื่อเขาได้ใช้ความพยายามเพื่อผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยตัวเอง เขาจะมีความภาคภูมิใจและจะได้นำบทเรียนนี้กลับมาใช้ได้อีกในหลาย ๆ ช่วงของชีวิตเช่นกัน