“ศิลปะ”  เป็นคำศัพท์ที่หลาย ๆ คนคุ้นหู ภาพวาด ภาพถ่าย รูปปั้น ลายของวอลเปเปอร์ที่บ้าน พวงมาลัยไหว้พระ หรือแม้กระทั่งแตงกวาแกะสลักที่วางตกแต่งอยู่บนจานอาหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นศิลปะที่เราคุ้นตา แต่เอ๊ะ! ตกลงแล้วนิยามของศิลปะคืออะไรกันแน่ อะไรที่นับว่าเป็นศิลปะ อะไรที่ไม่ใช่ องค์ประกอบของศิลปะมีอะไรบ้าง แล้วทำไมถึงต้องมีวิชาศิลปะ เรียนไปแล้วจะได้อะไรกลับมา บทความนี้ขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับศิลปะ ถ้าพร้อมแล้วก็มาเริ่มกันเลย

ศิลปะคืออะไร?

อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ยุคกรีกโบราณให้นิยามไว้ว่า “ศิลปะคือการเลียนแบบธรรมชาติ” ในขณะที่นักประพันธ์ชาวรัสเชียอย่างตอลสตอย (Leo Tolstoi) ให้ความหมายไว้ว่า “ศิลปะคือการถ่ายทอดความรู้สึกของมนุษย์”

ศิลปะคืองานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิด

ศ.ศิลป์ พีระศรี

ด้าน ศ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวไว้ว่า “ศิลปะคืองานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิด” ส่วนพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานของไทยเรานั้นได้ให้ความหมายของศิลปะไว้สองความหมาย ได้แก่ “ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร” และ “การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น”

จะเห็นได้ว่านิยามของศิลปะนั้นมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยึดถือในแนวของคิดของใคร โดยรวมแล้วอาจสรุปได้ว่า

“ศิลปะ” คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นผ่านกระบวนความคิด เพื่อเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หรือเพื่อสื่อสารบางสิ่งบางอย่างออกมาผ่านวัตถุและเฉดสีต่าง ๆ ที่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเลือกใช้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ สายรุ้ง หินงอกหินย้อย เหล่านี้จึงไม่ถือว่าเป็นงานศิลปะ

องค์ประกอบของศิลปะ

องค์ประกอบของศิลปะ มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ทัศนธาตุ” หมายถึงส่วนย่อย ๆ ที่นำมาประกอบกันจนเป็นผลงานศิลปะ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ศิลปะนั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทนั้น ต่างก็มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไป เช่น ประเภทวรรณกรรม มีภาษาที่ถูกร้อยเรียงจนเป็นประโยค หรือบทกวีเป็นองค์ประกอบ ศิลปะประเภทดนตรีก็มีระดับเสียง มีจังหวะเป็นองค์ประกอบ

ศิลปะคืออะไร? องค์ประกอบของศิลปะ เราเรียนศิลปะกันไปทำไม? เรียนศิลปะแล้วได้อะไร?
องค์ประกอบของศิลปะ มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ทัศนธาตุ” หมายถึงส่วนย่อย ๆ ที่นำมาประกอบกันจนเป็นผลงานศิลปะ

นอกเหนือจากนี้งานศิลปะส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นประเภทจิตรกรรม (ภาพวาด) ประติมากรรม (งานปั้น งานแกะสลัก) สถาปัตยกรรม หรือศิลปะประยุกต์ก็มักจะมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

  • จุด คือส่วนที่เล็กที่สุดในการสร้างงานศิลปะ
  • เส้น เกิดจากการนำจุดจำนวนมาก มาต่อกันไปในทิศทางต่าง ๆ จนเห็นเป็นเส้น
  • รูปร่างและรูปทรง รูปร่าง คือ เส้นอันเป็นขอบเขตของวัตถุนั้น ๆ แสดงให้เห็นถึงความกว้าง ความยาว ส่วนรูปทรง คือ การที่เรามองวัตถุ ๆ หนึ่ง ๆ แล้วสามารถรับรู้ได้ถึงปริมาตร หรือความกว้าง ยาว ลึก ความหนา อาจเป็นรูปทรงเลียนธรรมชาติ รูปทรงเรขาคณิต หรือรูปทรงอิสระที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง
  • บริเวณว่าง คือ การเว้นว่างบริเวณรอบ ๆ ของสิ่งที่เรากำหนดไว้เป็นหลัก
  • พื้นผิว เป็นส่วนที่จะไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะแตกหัก ถูกตัดหรือฉีกขาดออกไป เป็นส่วนที่มองเห็นได้จากภายนอก
  • น้ำหนัก ในการวาดภาพนั้นน้ำหนักเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญเพราะจะแสดงให้เห็นถึงระดับความเข้ม – อ่อน ระดับความสว่างของรูปภาพนั้น ๆ 
  • สี เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับผิว น้ำหนัก แสง และเงา โดยผู้สร้างผลงานอาจเลือกใช้สีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงของวัตถุ หรือเลือกใช้สีตามจินตนาการของตนเอง

เราเรียนศิลปะกันไปทำไม?

สังเกตเห็นไหมว่าศิลปะอยู่รอบตัวเรามาโดยตลอดแม้กระทั่งในช่วงวัยประถมศึกษา และมัธยมศึกษาก็มีวิชาศิลปะกำหนดไว้ในหลักสูตรให้ได้เรียนกัน “ว่าแต่ทำไมต้องเรียนวิชาศิลปะกันนะ?” หลายคนอาจจะสงสัยว่า เราจำเป็นต้องเรียนศิลปะกันตั้งแต่ประถม จนถึงมัธยมกันเลยทีเดียวเชียวหรือ? 

“ศิลปะคือวิชาที่จำเป็นมากพอ ๆ กับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษขนาดนั้นเลยหรอ?”

ถ้ามีความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ อยากเป็นดารานักแสดง อยากเป็นเชฟล่ะ ยังจำเป็นต้องเรียนศิลปะอยู่อีกหรือไม่!?

ศิลปะคืออะไร? ทำไมเราถึงควรส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้รับการเรียนศิลปะ!?
การส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้รับการเรียนศิลปะส่วนหนึ่งก็เพื่อให้สมองได้ฝึกใช้จินตนาการ

อย่างที่รู้กันว่าสมองของมนุษย์เรานั้น แบ่งออกเป็นซีกซ้ายและซีกขวา สมองทั้งสองซีกนี้มีหน้าที่แบ่งแยกกันโดยฝั่งหนึ่งถูกเรียกว่าเป็นฝั่งของเหตุผล ส่วนอีกฝั่งเป็นซีกที่รับผิดชอบเรื่องของจิตนาการ การกำหนดให้เด็กวัยประถมถึงมัธยมเรียนวิชาศิลปะ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้สมองได้ฝึกใช้จินตนาการ พอ ๆ กับที่ต้องฝึกใช้หลักเหตุและผลจากการเรียนวิชาอื่น ๆ อย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ถือเป็นการฝึกสมองทั้งสองซีกให้สมดุลกัน ซึ่งแน่นอนว่าการฝึกสมองฝั่งจินตนาการนั้นนอกจากวิชาศิลปะแล้วก็ยังรวมไปถึงวิชาดนตรี – นาฏศิลป์อีกด้วย

บทความแนะนำ : การเล่นและฟังดนตรีช่วยเพิ่ม EQ ในเด็กได้จริงหรือ?

เรียนศิลปะแล้วได้อะไร?

เมื่อเราทราบถึงนิยามของศิลปะ ว่าศิลปะคืออะไรและอะไรที่นับว่าเป็นศิลปะ เรามาดูประโยชน์ที่ได้จากการเรียนศิลปะกัน ว่าเรียนศิลปะแล้วได้อะไรบ้าง!?

  • พัฒนาสมองด้านจินตนาการ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการฝึกฝนทักษะด้านศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยจินตนาการเป็นอย่างมาก ต้องคิดว่าจะลากเส้นแบบไหน จะวาดรูปอะไร ลงสีอย่างไร จะเลียนแบบอย่างไรให้เหมือน หรือจะทำอย่างไรให้แตกต่าง การเรียนรู้และลงมือทำอยู่เรื่อย ๆ จึงเป็นการทำให้สมองได้พัฒนามากขึ้น
  • สร้างความเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน จะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ศิลปะมีส่วนช่วยในการสร้างความเพลิดเพลิน สร้างสุนทรีย์แก่ทุกคนเสมอ การเรียนศิลปะทำให้ผู้เรียนรู้จักปลดปล่อยจินตนาการผ่านงานศิลปะโดยไม่มีขอบเขต ไม่มีกรอบกั้น ไม่มีกฎว่าอะไรถูกอะไรผิด 
  • คลายเครียด การเรียนศิลปะจะทำให้ได้เรียนรู้ที่จะสื่อสารและถ่ายทอดบางอย่างผ่านผลงาน เช่น ภาพวาดที่มีการลงลายเส้นอย่างรุนแรง ใช้สีโทนร้อน อาจเป็นการระบายความรู้สึกโกรธของผู้วาด ซึ่งการได้สื่อสารความรู้สึกนี้ผ่านภาพวาดจะช่วยให้ผู้วาดคลายความเครียดหรือบรรเทาอารมณ์นั้น ๆ ได้
  • มองเห็นถึงทักษะของตนเอง เช่น บางคนถนัดวาดภาพเสมือน วาดการ์ตูน บางคนมีเซ้นส์ในการเลือกใช้สีได้ดี บางคนมีทักษะในการปั้น ขณะเดียวกันก็สามารถฝึกฝนทักษะในด้านที่ตนเองไม่ถนัดให้เก่งขึ้นได้ด้วย
  • ได้ทักษะติดตัวนำไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น คนเป็นเชฟก็นำความรู้เรื่องการจัดตกแต่ง เรื่องความสมดุลไปใช่เวลาแต่งจานอาหาร คนเรียนหมอก็ใช้ทักษะการวาดรูปในการหัดวาดรูปกายวิภาค รูปอวัยวะต่าง ๆ เพื่อการศึกษาได้

ศิลปะอยู่รอบตัวเราเสมอ การเรียนรู้ศิลปะไม่ได้อยู่แค่ภายในห้องเรียน เพราะมนุษย์สามารถเรียนรู้ศิลปะได้จากประสบการณ์ที่พบเจออีกด้วย การเรียนรู้ศิลปะจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว ที่สำคัญคืออย่าคิดว่าศิลปะ จินตนาการไม่ใช่สิ่งสำคัญ ลองคิดดูสิว่าจินตนาการของมนุษย์ที่อยากบินได้เหมือนนกนั้นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เรามีเครื่องบินกันในทุกวันนี้ แล้วต่อไปมนุษย์จะสร้างจินตนาการแบบไหนให้เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้อีกกันนะ