เกมถือเป็นหนึ่งในสื่อความบันเทิงที่กำลังได้รับความนิยมมาก ๆ ในปัจจุบัน ด้วยเพราะอุปกรณ์ในการเล่นเกม ณ ขณะนี้ สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าแต่ก่อน นอกจากจะมีราคาที่ถูกลงแล้ว เกมบางเกมยังถูกสร้างออกมาให้สามารถเล่นได้ฟรี ทำให้ในตอนนี้ ขอแค่เรามีสมาร์ทโฟนสักเครื่อง เราก็สามารถเล่นเกมธรรมดาทั่วไป จนไปถึงเกมระดับ AAA ได้แล้ว

และด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเกมได้ง่ายขึ้น เครื่องมือสร้างเกมในปัจจุบันจึงมีความยืดหยุ่นและง่ายต่อการหยิบนำมาใช้มากกว่าในอดีต จนตอนนี้เราสามารถค้นหา หรือดูวิธีสร้างเกมได้มากมายบนเว็บไซต์ต่าง ๆ YouTube หรือกลุ่มชุมชนของผู้ใช้เครื่องมือนั้น ๆ ทำให้ความฝันในการ “สร้างเกมของตัวเอง” ไม่ใช่เรื่องที่ยากเหมือนในอดีต และอาชีพ “นักพัฒนาเกม” ก็เปิดกว้างมากกว่า 20 หรือ 30 ปีก่อน ถ้าน้อง ๆ อยากเป็น Game Developer ติดตามบทความนี้ได้เลยครับ!

นักพัฒนาเกมคืออะไร ทำหน้าที่อะไรบ้าง?

“นักพัฒนาเกม” หรือผู้สร้างเกม หากเราพูดแบบกว้าง ๆ ก็คือคนที่สร้างเกมออกมาให้เราได้เล่น จะบนมือถือ เครื่องคอนโซล PC หรือจะในรูปแบบการ์ดเกม บอร์ดเกม หรืออื่น ๆ ทีมี “กฎการเล่นและวิธีการเล่น” เราสามารถเรียกผู้สร้างสิ่งเหล่านี้ได้ว่าเป็นนักพัฒนาเกมได้ทั้งหมด

“เป็นนักพัฒนาเกมไม่ยากเลยใช่ไหม …”

ดังนั้นเราจึงสามารถจำแนก Game Developer ในปัจจุบันได้ออกเป็น 2 สายใหญ่ ๆ คือ

นักพัฒนาเกมดิจิทัล : ผู้สร้างเกมบนเครื่องเล่นเกมต่าง ๆ อาทิมือถือ PC เครื่องเกมคอนโซล จนไปถึงพวกตู้เกมต่าง ๆ ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ในการใช้เครื่องมือบนคอมพิวเตอร์ในการสร้างตัวเกมออกมา เป็นสายที่สามารถสร้างเกมออกมาแล้วคนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด

นักพัฒนาเกมในโลกแห่งความจริง : ผู้สร้างเกมในรูปแบบบอร์ดเกม เครื่องมือสำหรับใช้เล่นเกม (ที่ไม่ใช่ดิจิทัล) หรือคนออกแบบเกมกีฬาต่าง ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นสายที่ใครก็สามารถเป็นได้ เกมบางอย่างจำเป็นต้องใช้องค์ประกอบในการสร้างที่มากเป็นพิเศษ เช่นบอร์ดเกม ที่อาจจำเป็นต้องใช้ความสามารถในการประดิษฐ์เข้ามาร่วมด้วย เป็นสายที่สร้างเกมใหม่ ๆ ออกมาแล้วคนเข้าถึงได้ยากที่สุด ด้วยอุปกรณ์การเล่นที่มีราคาสูง มีกฎตายตัว และความยุ่งยากในการเข้าถึง

สำหรับคนสร้างเครื่องเล่นเกม เช่น Xbox, PS4 เรามักจะเรียกพวกเขาว่านักประดิษฐ์ หรือนักพัฒนาอุปกรณ์ไอที เสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้ง 2 สายจะมีความแตกต่างกันพอสมควรในเรื่องของเครื่องมือในการพัฒนาไปจนถึงองค์ความรู้ และต้นทุนที่ต้องใช้ แต่ทั้ง 2 สายก็ยังสามารถแบ่ง “หน้าที่ของ Game Developer” ในบทบาทต่าง ๆ ได้อยู่เหมือนกัน ดังต่อไปนี้

นักพัฒนาเกมคืออะไร ทำหน้าที่อะไรบ้าง?
Game Developer vs. Game Designer

คนออกแบบเกม : ผู้สร้างกฎการเล่น อธิบายว่าเกมเล่นอย่างไร ทำอย่างไรเกมถึงจะสนุก ตัวเกมควรมีเรื่องราว หน้าตา หรือรูปร่างอย่างไร จึงจะเหมาะกับวิธีการเล่นที่ตัวเกมออกแบบมามากที่สุด คนออกแบบเกมจะเป็นเหมือนคนนำทาง หรือคนกำหนดเส้นทางที่เกมเกมนั้นควรจะเป็น โดยหน้าที่หลักของพวกเขานอกจากต้องคิด ออกแบบ และปรับสมดุลตัวเกมให้สมบูรณ์แล้ว การบอกเล่าให้นักพัฒนาเข้าใจแนวคิดของตัวเอง หรือภาพที่ตนเองมองเห็นอยู่ ก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญของคนออกแบบเกมเช่นกัน

ผู้สร้างหน้าตาตัวเกม : คือผู้ที่เปลี่ยนความคิดของคนออกแบบเกมให้เป็นรูปร่าง กลายเป็นภาพที่จับต้องได้ มีเสียงที่ทำให้เรารู้สึกหรือได้ยิน หน้าที่ของผู้สร้างหน้าตาตัวเกม คือการสร้างกราฟฟิกรวมไปถึงเสียงให้กับตัวเกม หน้าที่ของพวกเขามีตั้งแต่การออกแบบรูปร่างหน้าตา ควบคุมบรรยากาศ ออกแบบฉาก สร้างการเคลื่อนไหว ไปจนถึงการทำพวกเอฟเฟค แสง สี เสียง เป็นต้น

ผู้สร้างกลไกจนเกมสามารถเล่นได้ : คือผู้ที่เปลี่ยนความคิดของคนออกแบบเกมให้สามารถเล่นได้จริง และคือผู้ที่หยิบสิ่งที่ผู้สร้างหน้าตาตัวเกมทำ มาประกอบจนกลายเป็นหน้าตาของตัวเกมจริง ๆ พวกเขาเหล่านี้ถ้าในสายดิจิทัลก็คือเหล่าโปรแกรมเมอร์ ที่ต้องเขียนโค้ดสร้างกฎ สร้างการควบคุมให้กับตัวเกม ถ้าเป็นสายเกมในโลกความจริง ก็คือเหล่านักประดิษฐ์ ที่ประกอบหรือสร้างสิ่งที่จำเป็นในการเล่นเกมออกมา เช่น ลูกบอล ไม้เทนนิส ลูกเทนนิส หรือตัวกระดานและอุปกรณ์การเล่นของตัวบอร์ดเกมเป็นต้น

อยากเป็น “นักพัฒนาเกม” ควรเรียนคณะอะไร?

ตามความเป็นจริงแล้ว การเป็นนักพัฒนา หรือ Game Developer ไม่จำเป็นต้องเรียนจบอะไรมาก่อนก็ได้ เพียงแต่เราจำเป็นต้องรู้และเข้าใจถึง “องค์ประกอบ” ที่ทำให้เกิดเกมขึ้นมาเสียก่อน ถ้าเราสามารถเข้าใจในองค์ประกอบเหล่านั้น และสามารถทำได้สำเร็จครบทุกองค์ประกอบ “คุณก็คือนักพัฒนาเกมไปแล้ว!!”

แบบนี้เรียนจบอะไรมาก็เป็น Game Developer ได้เหรอ!?

ถ้าพูดตามมโนคติ ถูกต้องครับ เราไม่จำเป็นต้องเรียนสายเกี่ยวกับการสร้างเกมมาเลย เราก็สามารถเป็นนักพัฒนาได้ “แต่สกิลหรือความสามารถที่คุณมีในตอนนั้น” จะเป็นตัวกำหนดว่าเกมของคุณจะมีหน้าตาออกมาเป็นแบบไหน ซึ่งบางครั้ง เกมเหล่านั้นก็อาจจะยังไม่ถึงระดับที่ให้คนทั่วไปเล่นได้ จนเป็นที่นิยม หรือแพร่หลาย… ดังนั้นสำหรับสาย Game Developer แล้ว ใบปริญญานั้นไม่สำคัญเท่ากับสกิลและความสามารถที่ตัวคุณมี

แต่เชื่อเถอะว่าการเรียนในคณะหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เป็นเหมือนทางลัดที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เรากลายเป็น นักพัฒนาที่สามารถสร้าง “เกมที่ได้รับความนิยม” ออกมาได้

โดยสาขาที่สามารถเป็นทางลัดให้เราเป็นนักพัฒนาหรือ Game Developer ได้เร็วที่สุด ก็คือ “สาขาการเรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไอทีต่าง ๆ “ สาขาเกี่ยวกับงานศิลป์ทั้งหมด ไปจนถึงสายวิศวกรต่าง ๆ ก็เช่นกัน ส่วนสาขาด้านการออกแบบหรือสร้างเกมโดยตรงจะค่อนข้างเป็นสาขาพิเศษ ที่จำเป็นต้องให้นักพัฒนาที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ มาสอน เพราะเป็นเรื่องของประสบการณ์ ความเข้าใจ มากกว่าเป็นเรื่องสกิลในการสร้างสรรค์

สกิลที่เราควรมี ควรสนใจอะไรเป็นพิเศษ ?

หากคุณอยากเป็น “คนออกแบบเกม” สกิลที่คุณควรมี คือ : สกิลด้านการสื่อสาร ด้านการสร้างสรรค์ ความเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่าความสนุกที่มนุษย์ต้องการ สกิลการเขียน สกิลการคำนวณ สกิลการแยกแยะองค์ประกอบ สกิลการประกอบ สกิลในการรู้ว่าอะไรควรมี อะไรไม่ควรมี ไปจนถึงความสามารถในการจับโยงเรื่องราวต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันได้

คนออกแบบเกมอาจจะเป็นสายอาชีพที่เป็นง่ายที่สุด ใครก็สามารถเป็นได้ แต่ยากที่สุดในเรื่องของการสร้างผลงานหรือสร้างเกมที่ได้รับความนิยมออกมา

หากคุณอยากเป็น “ผู้สร้างหน้าตาตัวเกม” สกิลที่คุณควรมี คือ : ความสามารถในการสร้างสรรค์ ความสามารถในการสร้างภาพประกอบ จะ 2D หรือ 3D ก็ได้ ความสามารถในการจินตนาการ ความสามารถในการออกแบบ สามารถนำสิ่งที่ตนคิดหรือคนอื่นคิดสร้างออกมาเป็นภาพได้ ความเข้าใจด้านความงาม ความรู้สึก การจัดองค์ประกอบ ไปจนถึงความสามารถในการใช้เครื่องมือสร้างภาพประกอบแบบดิจิทัล อาทิ Photoshop, Illustrator, Maya, Unity, After Effect, และอื่น ๆ อีกมากมาย

ผู้สร้างหน้าตาตัวเกม เป็นสายอาชีพที่ต้องมีทักษะด้านการสร้างภาพประกอบ เช่น การวาดภาพ การทำอนิเมชั่น การสร้างเสียงประกอบ การปั้นโมเดล และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน จึงจะสามารถสร้างสกิลนั้น ๆ ออกมาจนสามารถนำมาใช้งานได้จริง

หากคุณอยากเป็น “ผู้สร้างกลไกจนเกมสามารถเล่นได้” สกิลที่คุณควรมี คือ : สกิลด้านการออกแบบกลไก ความสามารถในการใช้อุปกรณ์และซอฟต์แวร์ไอที การเขียนโค้ดโปรแกรม สกิลในการประเมิน การสร้างโครงสร้างตัวระบบของเกม ให้สามารถใช้งานได้จริง

ผู้สร้างกลไกจนเกมสามารถเล่นได้ เป็นสายอาชีพที่จำเป็นต้องศึกษาเรื่องเครื่องมือกลไกต่าง ๆ มากกว่านักพัฒนาสายอื่น ๆ หากเป็นเกมดิจิทัล คุณจำเป็นต้องมีความรู้ในการเขียนโปรแกรม การใช้เครื่องมือในการพัฒนาเกม หากเป็นสายสร้างเกมในโลกความจริง คุณควรมีสกิลด้านการประดิษฐ์ ที่ยิ่งคุณสามารถสร้างอะไรที่เจ๋ง ๆ ออกมาได้ ก็ยิ่งสร้างความนิยมหรือความสนุกให้กับตัวเกมได้มากขึ้นเท่านั้น

การทำงานของ “นักพัฒนาเกม” ทำงานกันอย่างไร ?

เขาว่ากันว่า ยิ่งเราต้องการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากเท่าไร การทำงานร่วมกันเป็นทีมกับคนหมู่มาก คือหัวใจหลักสำคัญของความสำเร็จ การเป็น Game Developer ที่ได้รับความนิยมก็เช่นกัน การทำงานร่วมกันเป็นทีมคือ “ทางลัด” ที่ดีที่สุด

การพัฒนาเกมจะเริ่มจากกระบวนการต่าง ๆ ดังนี้

  1. คนออกแบบเกม ออกแบบตัวเกม กำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขแนวทางของตัวเกมทั้งหมดให้ชัดเจน จนนักพัฒนาทุกคนเห็นภาพร่วมกัน
  2. มอบหมายงานให้ ผู้สร้างหน้าตาตัวเกม และ ผู้สร้างกลไกตัวเกม ให้ไปสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ ที่คนออกแบบกำหนดเอาไว้
  3. ผู้สร้างกลไกตัวเกม นำระบบที่ตนเองทำ และภาพประกอบจากผู้สร้างหน้าตาตัวเกม มาประกอบจนเป็นเกมตามที่คนออกแบบต้องการ
  4. ทำการทดสอบตัวเกม พร้อมปรับสมดุลให้ตัวเกมสมบูรณ์ที่สุด
  5. เปิดทดสอบให้นักเล่นเกมได้ลองเล่น
  6. ปรับปรุงตัวเกมตามคอมเมนต์ของนักเล่นเกมจนสมบูรณ์
  7. เปิดให้บริการตัวเกม
  8. อัปเกรดและปรับปรุงตัวเกมอย่างสม่ำเสมอ

ขั้นตอนที่ยกมานี้ เป็นขั้นตอนตามปกติของการพัฒนาเกม แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีองค์ประกอบอีกมากมาย ที่ต้องใช้เพื่อสร้างเกมเกมหนึ่งขึ้นมา จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า “นักพัฒนา แม้จะสามารถเป็นได้ง่าย แต่การพัฒนาเกมให้เสร็จกลับไม่ง่าย” และยากยิ่งกว่าในการสร้างเกมให้ได้รับความนิยม!!

รายชื่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรออกแบบพัฒนาเกม

แล้วถ้าน้อง ๆ อยากเป็น Game Developer ต้องเรียนสาขาหรือคณะอะไร!? ข้อมูลด้านล่างนี้ เป็นรายชื่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่เปิดสอนในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบหรือพัฒนาเกม จะมีคณะอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย…

มหาวิทยาลัยคณะ/สาขา
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบังคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ แขนงวิชาการพัฒนาสื่อประสมและเกม
มหาวิทยาลัยรังสิตคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์เกมและอีสปอร์ต
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบและการพัฒนาเกม
มหาวิทยาลัยศรีปทุมคณะดิจิทัลมีเดีย หลักสูตรการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม
มหาวิทยาลัยศิลปากรคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม หลักสูตรเกมและอินเทอร์แอคทีฟ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โครงการร่วมบริหารหลักสูตรฯ สาขาวิชาเทคโนโลยีมีเดีย (การพัฒนาเกม)
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ สาขาวิชาการจัดการอีสปอร์ต
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจเกมและอีสปอร์ต

หรือหากสนใจไปเรียนที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ดินแดนแห่ง Anime และ CG สามารถเข้าไปอ่านบทความนี้ได้ครับ : “เซ็มมง” วิทยาลัยอาชีวศึกษาที่รับคนต่างชาติเข้าเรียน มีสาขา CG และเกมโดยเฉพาะ และยังมีโอกาสในการขอทุนมงได้อีกด้วย

บทความนี้ได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เรียนจบหลักสูตร Game Desinger/Developer และทำงานในบริษัทเกมชั้นนำของต่างประเทศ ที่มีสาขาในประเทศไทย หากน้อง ๆ มองว่ามีประโยชน์และชอบบทความแบบนี้ สามาถแชร์ต่อเพื่อให้กำลังใจพวกเราด้วยนะครับ.