บนโลกดิจิทัลที่เราถูกรายล้อมไปด้วยนวัตกรรมสุดล้ำ การเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆเป็นเรื่องง่ายเหมือนดีดนิ้ว ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับทักษะยอดฮิตที่เด็กยุคใหม่ต้องเรียนรู้และเติบโตไปกับมันนั่นก็คือ “ทักษะการเขียนโค้ด” สิ่งสำคัญที่หากเด็กๆยิ่งรู้ไว ยิ่งได้เปรียบ เพราะสามารถนำไปต่อยอดในสายงานยอดฮิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างไร้ขีดจำกัด

การปรับตัวที่รวดเร็วเช่นนี้ กลายเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่า “เราจะสอนลูกเขียนโค้ดตั้งแต่เด็กได้อย่างไร? มันจะยากเกินไปรึเปล่า?” สำหรับบทความนี้ เราขอบอกว่าเป็นไปได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าลูกของคุณจะมีพื้นฐานมาบ้างแล้วหรือยังไม่มี ก็สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆใน 5 ขั้นตอน สอนลูกให้เป็นโค้ด เริ่มได้ทันทีหลังอ่านบทความนี้จบ อย่ารอช้า! ไปเริ่มกันเลย

Step 1 : ค้นหาสิ่งที่รัก เพื่อให้ลูกได้หลงรักในสิ่งที่ทำ

ชีวิตในวัยเด็กของลูกๆ ก็เปรียบเสมือนกับฟองน้ำ เป็นช่วงวัยแห่งการเปิดรับการเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างมากมาย ในขณะเดียวกัน คุณเคยลองสังเกตไหม!? เมื่อลูกสนุกและสนใจในสิ่งไหน พวกเขาก็จะมีส่วนร่วมและเรียนรู้ในสิ่งนั้นได้มากเป็นพิเศษ!  การเริ่มต้นปลูกฝังทักษะใหม่ให้กับลูกจึงไม่ควรบังคับ แต่ลองเปลี่ยนมาช่วยกันค้นหาสิ่งที่ลูกรัก เพื่อให้ลูกได้สนุกไปกับสิ่งที่ทำดีกว่าเป็นไหนๆ

สอนลูกให้ชอบการเขียน Coding
ลูกคุณชอบเล่นเกมใช่มั้ย?  งั้นลองชวนพวกเขาสร้างเกมดูสิ!

กลายเป็นคำถามที่ตามมาว่า แล้วถ้าหากต้องการให้ลูกเริ่มต้นเรียนโค้ดดิ้งโดยไม่ให้ฝืนธรรมชาติของเด็ก ทำได้อย่างไรบ้าง!? นำมาสู่คำตอบสุดแสนเบสิกเลยนั่นก็คือ ให้เริ่มจากการค้นหางานอดิเรกของลูกก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาสนุกและสามารถทำมันได้นานกว่าสิ่งที่พวกเขาไม่ได้สนใจ จากนั้นค่อยต่อยอดจากจุดเล็กๆโดยการนำโปรเจ็คต์ที่ให้ลูกได้เรียนรู้โค้ดดิ้งสกิลเข้าไปผสมผสานกับงานอดิเรกที่ลูกชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เด็กๆก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุก แถมได้เรียนรู้โดยที่ไม่รู้ตัวอีกด้วย  เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น เรามาดูตัวอย่างกัน

  • ลูกคุณชอบเล่นเกมใช่มั้ย?  งั้นลองชวนพวกเขาสร้างเกมดูสิ!
  • ลูกคุณชอบศิลปะใช่รึเปล่า?  ชวนพวกเขามาสร้างโปรเจ็คต์งานอาร์ท ปล่อยพลังความติสต์กัน
  • หรือแม้กระทั่งถ้าลูกคุณชอบเว็บไซต์? งั้นมาสอนลูกสร้างเว็บไซต์ไปพร้อมกันเลยดีกว่า!

Step 2 : เลือกภาษาโค้ดดิ้งที่ใช่ มีชัยไปกว่าครึ่ง

หากคุณเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่อยากให้ลูกก้าวสู่การเป็นโคดเดอร์ตัวจิ๋วตั้งแต่เด็ก อาจเกิดคำถามมากมายว่า แล้วจะให้ลูกเริ่มเรียนเขียนโค้ดจากภาษาอะไรดีนะ!? ที่เราเคยได้ยินกันทั่วไปไม่ว่าจะเป็น JavaScript หรือแม้แต่ Python ซึ่งบางทีภาษาเหล่านี้ยังไม่เหมาะสำหรับเด็กที่พึ่งเริ่มต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกของคุณจะเรียนเขียนโค้ดตั้งแต่เด็กไม่ได้ เพราะสมัยนี้มีแพลตฟอร์มมากมายที่ตอบโจทย์การเรียนรู้โค้ดดิ้งของเด็กๆ เรามารู้จักภาษาที่เหมาะสำหรับเด็กๆกัน

Blockly เป็น free และ open-source software โปรเจคจาก Google

หัวใจหลักของการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับเด็ก ไม่ใช่การเริ่มต้นโดยใช้ภาษาที่ซับซ้อน แต่เราจะใช้ภาษาที่เรียกว่า “Block-based coding” เป็นภาษาแบบบล็อกที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ง่ายกว่าเป็นไหนๆ อีกทั้งยังต่อยอดต่อไปใช้ภาษาที่ยากขึ้นได้อีกด้วย

Step 3 : เริ่มต้นจากเล็กๆ ค่อยเป็นค่อยไป

ในความตั้งใจอย่างแรงกล้าของคุณพ่อคุณแม่ในการผลักดันให้ลูกได้ฝึกฝนโค้ดดิ้งสกิลตั้งแต่เด็กนั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากรีบร้อนหรือกดดันเด็กๆจนเกินไปนั้นจะส่งผลเสียต่อลูกอย่างแน่นอน  สำหรับโปรเจ็คต์แรกของลูก ไม่ควรจะเป็นอะไรที่ซับซ้อนมากนัก ให้เริ่มต้นจากโปรเจ็คต์พื้นฐานง่ายๆก่อน

Scratch เป็น Block-Based โปรแกรมมิ่งถูกพัฒนาโดย MIT

ในช่วงวัยเด็กในการที่ลูกได้เรียนรู้การเขียนโค้ดแบบบล็อก เราแนะนำแพลตฟอร์ม Scratch  ที่ไม่ว่าเด็กวัยไหนก็สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่พื้นฐาน และให้ลูกได้ทดลองสร้างโปรเจ็คต์ง่ายๆจากแพลตฟอร์มนี้ก่อน เมื่อลูกสนุกกับการเขียนโค้ดด้วยบล็อกไปสักพักจนเพียงพอ และถึงวันที่ลูกพร้อมลุยโปรเจ็คต์ที่ท้าทายขึ้น วันนั้นค่อยให้ลูกได้เรียนรู้การเขียนโค้ดที่ยากขึ้นในขั้นต่อไป เพราะถ้าหากเราฝืนเด็กๆมากจนเกินไป จากความสนุกของลูก จะกลายเป็นความหงุดหงิดและล้มเลิกไปซะก่อนได้นั่นเอง

Step 4 : สอนลูกเสมอว่า “ให้ใช้ความล้มเหลว เป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จ”

เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การเขียนโค้ดอาจจะเป็นเรื่องยากและท้าทายสำหรับเด็กๆ เมื่อได้เริ่มต้นเข้าสู่การเรียนรู้โค้ดดิ้งแล้ว แน่นอนว่าระหว่างทางไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไป อาจจะล้มบ้างพลาดบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา

“ความล้มเหลว เป็นกระบวนการหนึ่งในการเรียนรู้ เพื่อให้ลูกก้าวไปสู่นักเขียนโค้ดมืออาชีพ”

คุณสามารถให้กำลังใจลูกได้ด้วยตัวเอง

ในความจริงแล้ว ในกระบวนการของโค้ดดิ้ง ที่เราติดอยู่กับปัญหาและไม่รู้จะแก้ได้อย่างไร!? บางทีมันดูเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดมากจนเด็กๆอาจถอดใจไปซะก่อน เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเด็กเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ติดอยู่กับปัญหานี้ได้  สิ่งที่เราควรทำจึงไม่ใช่การให้ลูกล้มเลิก แต่ให้นึกถึงไว้เสมอว่าความล้มเหลว เป็นกระบวนการหนึ่งในการเรียนรู้ เพื่อให้ลูกก้าวไปสู่นักเขียนโค้ดมืออาชีพ

Step 5 : ความสำเร็จของลูกสร้างได้ทุกวัน

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ปูเส้นทางการฝึกฝนโค้ดดิ้งสกิลให้ลูกตั้งแต่เด็ก มีอีกสิ่งหนึ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปนั่นก็คือ การยินดีกับความสำเร็จเล็กๆน้อยๆของลูกในทุกๆวัน การชื่นชมลูกๆจึงเป็นแรงผลักดันชั้นดีที่ทำให้เด็กๆไปต่อได้ทะลุขีดจำกัดความสามารถของพวกเขา

ในการเขียนโค้ดก็เช่นกัน เมื่อลูกได้เริ่มต้นเรียนรู้จากพื้นฐานโค้ดดิ้ง และได้เริ่มมีการสร้างโปรเจ็คต์เล็กๆขึ้นมา ให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นชื่นชมทุกความสำเร็จเล็กๆน้อยๆของลูกอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาจะกล้าลงมือทำในสิ่งที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความมั่นใจในการสร้างโปรเจ็คต์ที่ยากและท้าทายต่อไปได้อย่างแน่นอน มาจนถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว เราอยากย้ำไว้เสมอว่า เป้าหมายแท้จริงของการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับเด็กไม่ใช่การรีบร้อนหรือกดดันที่จะเรียน แต่เป้าหมายหลักแท้จริงแล้วคือ ให้ลูกได้สนุกไปกับการเรียนรู้ และได้พัฒนาทักษะที่สำคัญของชีวิตอย่าง “โค้ดดิ้งสกิล” ไปพร้อมๆกัน

การเรียนโค้ดดิ้งมีประโยชน์มากมายมหาศาล โดยไม่ได้จำกัดแค่ว่าเหมาะสำหรับผู้ใหญ่แต่เพียงเท่านั้น  การเรียนเขียนโค้ดสำหรับเด็กเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เป็นการเปิดมิติใหม่มุ่งสู่โลกแห่งอนาคตที่สดใสของเด็กๆ และในอนาคตเราอาจจะได้เห็นลูกของคุณกลายเป็น “ฮีโร่ยอดนักสร้างนวัตกรรม” คนถัดไปก็เป็นได้!!!

Owl Campus Team