จะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นทั้งที เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนอาจจะรู้สึกกังวลใจและมีคำถามผุดขึ้นมาในหัวอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การใช้ชีวิต รวมถึงเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่าง ๆ ก็แหม ไปอยู่ต่างถิ่นทั้งที ใช่ว่าจะเหมือนบ้านเรา ในเมื่อเข้าเมืองตาหลิ่วแล้วก็ต้องรู้จักหลิ่วตาตามกันด้วย เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงรวบรวม “5 คำถามที่ถูกถามบ่อย!! ก่อนจะไปเรียนต่อประเทศญี่ปุ่นมาฝากกันค่ะ”

กลัวเข้ากับคนญี่ปุ่นไม่ได้ทำยังไงดี?

คำถามแรก! เป็นคำถามที่เราเองก็ถามตัวเอง ถามเพื่อน ถามรุ่นพี่บ่อยมากเหมือนกันก่อนไปญี่ปุ่น เพราะตอนอยู่ไทยเรายังมีเพื่อน แต่ถ้าไปอยู่ญี่ปุ่นแบบต่างบ้านต่างเมืองนี่คงเหงาแย่ และยิ่งได้ยินกิตติศัพท์ของคนญี่ปุ่นว่า “เปิดใจยาก” แล้ว เรายิ่งกังวลหนักขึ้นไปอีก ถ้าถามว่าสิ่งที่คิดกับความเป็นจริง ต่างกันมากไหม? ขอบอกเลยว่า “ไม่ต่าง”

หลายคนอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนญี่ปุ่นรักความเป็นส่วนตัวมากถึงมากที่สุด นั่นเป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีความ “Uchi – Soto” ค่ะ

  • Uchi (อูจิ) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ใน ถ้าเป็นภาษาสังคมก็หมายถึง พวกเรา หรือ คนพวกเดียวกัน
  • Soto (โซโตะ) จะแปลว่า นอก แน่นอนว่าสำหรับสังคมญี่ปุ่น จะหมายถึง คนนอก

อูจิ กับ โซโตะ เป็นเหมือนระบบความคิดสำหรับการอยู่ร่วมกันที่มีมานานมาก ๆ แล้วในสังคมญี่ปุ่น ใช้ได้ทั้งกับ ครอบครัว บริษัท หรือประเทศ ความคิดแบบนี้ทำให้คนญี่ปุ่นปฏิบัติกับคนในและคนนอกไม่เหมือนกัน ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า คนญี่ปุ่นจะปฏิบัติกับคนรู้จักไม่ดีนะคะ ดีมากเลยต่างหาก แต่ปัญหาอยู่ที่ “การเปิดใจ” คนญี่ปุ่นมักจะแสดงตัวตนที่แท้จริงก็ต่อเมื่ออยู่กับคนที่สนิท (มาก) แต่พอไปเจอคนอื่นที่อาจจะเพิ่งเจอกันครั้งแรก หรือไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน เขาก็จะยิ้มให้ ทักทาย คอยดูแลให้ประทับ จนเราคิดว่า “คงสนิทกันได้แล้วแหละ” แต่ความจริงแล้วมักจะมีผนังล่องหนกั้นอยู่ คือเขาจะไม่พูดเรื่องส่วนตัว หรืออารมณ์ความรู้สึกกับคนนอกออกมาง่าย ๆ

คำถามที่ถูกถามบ่อยก่อนจะไปเรียนต่อประเทศญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นรักความเป็นส่วนตัวมากถึงมากที่สุด นั่นเป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีความ “Uchi – Soto”

เรื่องแบบนี้มันเลยกลายเป็นปัญหาของชาวต่างชาติที่ไม่มีทางเป็น “คนใน” ของคนญี่ปุ่นได้เลย ดังนั้นหลายคนจึงเจอปัญหาที่คนญี่ปุ่นไม่เปิดใจ เจอกันตอนแรกเหมือนจะสนิท แต่พออีกวันกลับไม่ทักกันซะงั้น (อันนี้หลาย ๆ คนเคยเจอกับตัว) ตอนที่เราไปเรียนต่อประเทศญี่ปุ่น ก็มีคนญี่ปุ่นประเภทนี้เหมือนกันค่ะ แต่โชคยังดีที่ก็ยังเจอเพื่อนญี่ปุ่นที่เคยไปไทยมาก่อน ก็เลยจูนกันติด

สิ่งที่เราอยากจะบอกสำหรับปัญหานี้ก็คือ น้องอาจจะรู้สึกเสียกำลังใจ รู้สึกโดดเดี่ยว แต่อย่าไปโทษตัวเองเลยนะ นี่เป็นธรรมชาติของคนญี่ปุ่น ถ้าอยากจะหาเพื่อนชาวญี่ปุ่น แนะนำให้ลองคุยกับบัดดี้ที่เขาสมัครมาเพื่อดูแลชาวต่างชาติ พวกนี้จะเปิดใจรับวัฒนธรรมได้ดีมาก ๆ ค่ะ

เรียนต่อประเทศญี่ปุ่น!! แล้วไปอยู่โตเกียวไม่แพงหรอ?

เวลาที่เราบอกไปว่า “ไปอยู่โตเกียวมาค่ะ” หลายคนมักจะทำตาโตและตอบกลับมาว่า “เห้ย! แพงงง” โดยเฉพาะเพื่อน ๆ ที่เรียนญี่ปุ่นและต้องไปเรียนแลกเปลี่ยนด้วยกัน ยังเลี่ยงไม่อยากมาโตเกียวกันเป็นแถบ ถามว่าแพงไหม? ก็แพงจริงแหละค่ะ ไม่เถียงเลย

เพราะถ้าดูจากสถิติในแต่ละปี จังหวัดที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในญี่ปุ่น จะเป็นโตเกียว และเมืองรอบ ๆ โตเกียว ทุกปี เช่น ในปี 2019 โตเกียวเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยจังหวัดคานางาวะ และจังหวัดไซตามะ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดคือจังหวัดมิยาซากิ (Ref. Statistics Bureau)

คำถามที่ถูกถามบ่อยก่อนจะไปเรียนต่อประเทศญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นจะแบ่งขนาดห้องโดยตัวเลขด้านหน้าจะหมายถึงจำนวนห้องนอน เช่น หากเป็นเลข 2 คือมีห้องนอน 2 ห้อง

ความจริงแล้ว เรื่องค่าอาหารการกิน หรือการเดินทางจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่เรื่องที่ทำให้โตเกียวแพงมากกว่าที่อื่น หลัก ๆ จะเป็นพวกอสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น หากจะให้เทียบกันอย่างชัด ๆ ขอยกตัวอย่างค่าห้องขนาด 1K (ห้องเดี่ยว + ห้องน้ำ) ขนาด 20 – 25 ตารางเมตรแล้วกัน

  • โตเกียว ค่าเช่าห้องต่อเดือนจะอยู่ที่ 60,000 – 90,000 เยน (ประมาณ 17,725 – 26,588 บาท)
  • จังหวัดมิยาซากิ ค่าเช่าห้องขนาดพอ ๆ กัน เริ่มต้น 30,000 – 60,000 เยน (ประมาณ 8,862 – 17,725 บาท)

เห็นไหมคะว่าต่างกันแบบไม่ทิ้งฝุ่นเลย และแน่นอนว่า ยิ่งเรานำค่าครองชีพเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับรายได้ต่อหัวของประเทศไทยแล้ว ยังไงก็แพงค่ะ แต่หากลองมาเทียบกับรายได้ที่ญี่ปุ่นแล้ว แม้โตเกียวจะยังสูงอยู่ แต่ถือได้ว่าสมเหตุสมผลนะ อย่างตอนที่เราไปแลกเปลี่ยน เราเองก็ไม่ได้ทุนค่าครองชีพนะคะ ต้องทำงานพิเศษเอา และสำหรับค่าจ้างขั้นต่ำในโตเกียวที่เราได้คือ 900 – 1,000 เยนต่อชั่วโมง (ประมาณ 265-300 บาท) แต่หากเป็นจังหวัดอื่นก็อาจจะได้ 800 – 850 ต่อชั่วโมง (ประมาณ 236-251 บาท) แตกต่างกันไป ซึ่งเงินที่เราได้มาจากงานพิเศษในแต่ละเดือนก็ยังพอให้จ่ายค่าหอ ค่าน้ำกับค่าไฟ (ที่ใช้อย่างประหยัด) และค่ากินอีกนิดหน่อย (ไม่มากแต่ก็พอกินอยู่)

แนะนำอ่านต่อ : การทำงานพิเศษที่ญี่ปุ่น รายได้ ภาษี ระดับภาษาที่ใช้ต้องได้ระดับไหน?

ถ้าจะให้แนะนำการใช้ชีวิตอย่างประหยัดละก็ จะแนะนำเรื่องแหล่งอาหารถูกแล้วกัน ปกติเราจะไปซื้อพวกกับข้าวหรือวัตถุดิบจากซูเปอร์ หรือไม่ก็ร้านของพวกชาวบ้านมาทำกินเองค่ะ เพราะถูกกว่าข้าวกล่องใน 7-11 หรือกินข้าวนอกบ้านแน่นอน แล้วซูเปอร์นี่ก็ต้องเลือกด้วยนะ อย่างแถวหอเราจะมีซูเปอร์ที่ชื่อว่า Summit ที่ส่วนใหญ่ราคาค่อนข้างสูงกว่าที่อื่น เราเลยไปหาแหล่งใหม่ ทำให้ได้เจอกับ Seiyu เป็นซูเปอร์แถวที่ทำงานพิเศษเรา พวกกับข้าวไรงี้ ถูกกว่ามาก แล้วชอบลดราคาด้วย!!

เคยขึ้นรถไฟช่วง Rush Hour มั้ย

แน่นอนว่าเรื่องการขึ้นรถไฟก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญสำหรับการอยู่ญี่ปุ่น หลายคนที่เคยเห็นภาพของนายสถานี พยายามยัดผู้โดยสารเข้าขบวนแบบยิ่งกว่าปลากระป๋องแล้วก็อาจจะรู้สึกเป็นกังวล ว่าถ้าต้องขึ้นรถไฟไปเรียนในตอนเช้าจะทำยังไงดี โดยเฉพาะในโตเกียวที่ใช้รถไฟเป็นขนส่งมวลชนหลัก เรียกได้ว่าแทบจะเลี่ยงไม่ได้เลย

รถไฟสายที่คนแน่นที่สุดในตอนเช้าคือ Tokyo Metro สาย Tozai
รถไฟสายที่คนแน่นที่สุดในตอนเช้าคือ Tokyo Metro สาย Tozai

เวลาที่พีคที่สุดจะอยู่ในช่วง 7:30-9:00 น. จากการสำรวจของเว็ปไซต์ hellomag พบว่า ในปี 2020 รถไฟสายที่คนแน่นที่สุดในตอนเช้าคือ “Tokyo Metro สาย Tozai” หากใครนึกภาพไม่ออก เป็นรถไฟใต้ดินสายที่วิ่งไปสถานี Waseda หรือ Nihonbashi แถว ๆ นั้น สำหรับน้อง ๆ ที่โชคร้ายหอไม่ได้อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย และต้องขึ้นรถไฟไปเรียนก็อาจจะต้องเผื่อเวลาไว้สักนิด อย่าง Tokyo Metro สาย Tozai เขามีแบบสำรวจออกมาว่า เวลาที่เหมาะจะขึ้นโดยที่คนไม่แน่นคือช่วง 6:00-7:15 หรือ หลัง 9 โมงเป็นต้นไปกำลังโอเคเลยค่ะ

เราโชคดีอย่างนึงที่หอพักของเราอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย ทำให้เดินไปถึงได้ไม่กี่นาที แต่ก็เคยมีประสบการณ์ช่วง Rush Hour อยู่เหมือนกัน ตอนนั้นเราไปดูเทศกาลดอกไม้ไฟแถว ๆ วัดอาซากุสะค่ะ “นั่นเป็นครังแรกและครั้งสุดท้าย ที่บอกเลยว่าชีวิตนี้จะไม่ไปอีกแล้ว” เพราะมันแน่นมากจนไม่มีที่ยืนถึงขนาดที่ไม่ต้องจับราวก็ทรงตัวอยู่ได้ เราทึ่งคนญี่ปุ่นมาก ที่เขาสามารถยืนเล่นโทรศัพท์ได้แบบหน้าตาเฉย หรือเพราะเขาชินกันแล้วก็ไม่รู้เนอะ.

มารยาททางสาธารณะของญี่ปุ่นที่ต้องระวัง

แน่นอนว่าเมื่อมาเรียนต่อประเทศญี่ปุ่นหรืออยู่ต่างบ้านต่างเมือง สิ่งที่ต้องระวังเลยก็คือมารยาท ยิ่งคนญี่ปุ่นเป็นประเภทที่เคร่งเรื่องมารยาทต่อสังคมมาก ๆ แม้จะเป็นชาวต่างชาติ หากทำอะไรผิดขึ้นมาก็อาจโดนมองแรงได้ จากประสบการณ์ที่เราไปอยู่มา ขอแยกเป็นข้อย่อย ๆ ดังนี้

Manner Mode

แมนเนอร์ โหมด คือคำเรียกระบบสั่นของโทรศัพท์ซึ่งจะสำคัญมาก และควรใช้ทุกครั้งเวลาขึ้นรถไฟหรือรถเมล์ในญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นมองว่าการมีเสียงเรียกเข้าดัง หรือการคุยโทรศัพท์ในรถไฟ ถือเป็นการรบกวนผู้อื่น หากมีคนโทรเข้ามาจะรับก็ได้ แต่บทสนทนาไม่ควรเกินคำว่า “อยู่บนรถไฟ เดี๋ยวโทรกลับนะคะ” หากมีเรื่องด่วนที่ต้องคุยเดี๋ยวนั้นจริง ๆ ก็ต้องลงจากรถไฟไปคุยข้างนอก

ไม่เดินกิน

หากจะสังเกตตามร้านค้าหรือร้านแผงลอยของญี่ปุ่น มักจะมีม้านั่งหรือเคาน์เตอร์เล็ก ๆ จัดเตรียมไว้ให้ใช่ไหมคะ ตรงนั้นเขาเอาไว้สำหรับกินอาหารหลังซื้อจากร้านมาแล้ว เพราะญี่ปุ่นเขาถือว่าการเดินไปกินไปเป็นเรื่องเสียมารยาท ชีวิตต้องเลือกสักทางว่าจะเดินก่อน หรือจะกินก่อน เพราะอาจไปทำหกเลอะเทอะ หรือทิ้งขยะไม่เป็นที่เดือดร้อนคนอื่นก็ได้

ไม่เกาะกลุ่มเดินกั๊กที่

เวลาที่อยู่กับเพื่อน แล้วเดินคุยเล่นกันไปตามถนน เรามักจะเผลอเดินเรียงหน้ากระดานตามถนนใช่ไหมคะ เพราะแบบนั้นจะได้เห็นหน้ากันชัด ๆ ไง แต่ถ้ามาทำที่ญี่ปุ่นได้โดนมองแรงแน่ เพราะนอกจากจะเกะกะรบกวนคนอื่นแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับจักรยานที่ใช้ทางร่วมกับเราด้วยค่ะ

เด็กต่างชาติเข้ากิจกรรมชมรมของเด็กญี่ปุ่นได้ไหม

กิจกรรมชมรมเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสุดฮ็อตที่นักเรียนนักศึกษาหลายคนใฝ่ฝัน เพราะหลายคนอาจจะติดภาพมาจากละครหรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่ได้เจอรุ่นพี่หน้าตาดีในชมรมใช่ไหมคะ ในชีวิตจริงก็มีชมรมให้เลือกเยอะและหลากหลายมากเหมือนกัน เช่น ชมรมถ่ายภาพ ชมรมชงชา ชมรมร้องประสานเสีย ชมรมเต้น ฯลฯ

พอถึงวันเปิดเทอม พวกรุ่นพี่ก็จะจัดกิจกรรมแนะนำชมรมชักชวนให้น้อง ๆ มาสมัครกันเต็มมหาลัยเลย แน่นอนว่าเด็กต่างชาติก็สมัครเข้าไปได้เหมือนกัน แต่ก็ต้องแล้วแต่ชมรมด้วย อย่างเราเคยส่งใบสมัครเข้าชมรมถ่ายภาพไปทางอีเมล แต่ปรากฏว่า… รุ่นพี่อ่านแล้วไม่ตอบค่ะ ก็เลยคิดว่าที่นี่คงไม่อยากได้ชาวต่างชาติเข้าล่ะมั้ง แต่ของเพื่อนคนจีนเราเขาสมัครเข้าชมรมเคนโดไปได้สำเร็จ แล้วก็ต้องไปซ้อมแบบเป็นเรื่องเป็นราวทุกเย็น หรือเพื่อนคนไทยต่างมหาลัยเราสมัครเข้าชมรมโคฟเวอร์แดนซ์ไป จนสุดท้ายมีผลงานได้ขึ้นประกวดเวทีไอดอลมหาลัยที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เพื่อน ๆ ของเราดูสนุกกันมากเลย เรานี่อิจฉามาก เพราะจริง ๆ ก็อยากลองเข้าชมรมกับเขาบ้างเหมือนกัน ดังนั้นหากเป็นไปได้ เราอยากแนะนำให้น้อง ๆ ลองสมัครดูค่ะ เพราะได้ทั้งประสบการณ์และได้ทั้งเพื่อนด้วย

ถ้าชอบบทความแบบนี้ อย่าลืมแชร์และแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ด้วยนะคะ และสามารถติดตามอ่านเรื่องราวของนักเรียนแลกเปลี่ยน นักเรียนนอกได้ที่นี่ค่ะ ประสบการณ์นักเรียนนอก