การทำงานพาร์ทไทม์หรือทำงานพิเศษ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดฮิตของชาวเด็กแลกเปลี่ยน เราที่ไม่ได้ทุนค่ากินอยู่ จำเป็นต้องหางานพิเศษทำอย่างช่วยไม่ได้ ขณะเดียวกัน เพื่อน ๆ เราหลายคนที่ได้รับทุนก็ยังมาหางานพิเศษทำเหมือนกัน แต่ก่อนที่เราจะทำงานในญี่ปุ่นได้ เราจำต้องขออนุญาตทำงานพิเศษอย่างถูกต้องเสียก่อน

การขออนุญาตทำงานพาร์ทไทม์

ตามกฏหมายแล้ว “วีซ่านักเรียนจะกำหนดเพื่อให้มาศึกษาหาความรู้ในญี่ปุ่นเท่านั้น” ดังนั้นการทำงานพิเศษถือเป็นเรื่องนอกเหนือที่เราต้องขออนุญาตเสียก่อน แต่ขั้นตอนก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดนะคะ เพราะความจริงแล้ว เราสามารถโหลดเอกสารมากรอกและยื่นขอที่สนามบินได้เลย

กรณีมีสถานที่ทำงานแล้ว

ขั้นตอนแรก ให้เราไปโหลดเอกสารที่ชื่อว่า “Application for permission to engage in an activity other than those permitted by the status of residence previously granted” จากทางเว็ปไซต์ www.isa.go.jp และกรอกให้เรียบร้อย

เมื่อถึงสนามบิน ให้นำเอกสารไปยื่นที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองพร้อมหนังสือเดินทาง และใบรับรองสถานะการพำนัก (Certificate of Eligibility : COE) จากนั้นเจ้าหน้าที่จะออกบัตรผู้พำนัก “ไซริวการ์ด” (Resident Card) พร้อมประทับตราอนุญาตทำงานพิเศษ

กรณียังไม่มีสถานที่ทำงาน

เราสามารถไปขอได้หลังจากเราทราบสถานที่ทำงานพิเศษแล้ว เอกสารที่ใช้ก็มี หนังสือเดินทาง บัตรผู้พำนัก แต่ต่างกันตรงที่ “เราต้องไปกรอกเอกสารและยื่นเรื่องที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง” โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ใกล้กับหอพักของเรามากที่สุด สำหรับโตเกียวนั้น สำนักงานจะตั้งอยู่เขตมินาโตะ สถานีที่ใกล้ที่สุดคือ สถานีชินางาวะ

อาจจะใช้เวลาดำเนินการ 2 อาทิตย์ หรืออาจจะนานถึง 2 เดือนเลย ดังนั้นน้อง ๆ ที่มาแลกเปลี่ยนก็เผื่อค่าใช้จ่ายมาล่วงหน้ากันก่อนนะคะ

เงื่อนไขการทำงานพาร์ทไทม์ในญี่ปุ่น

สำหรับเงื่อนไขในการทำงานพิเศษของผู้ที่ถือวีซ่านักเรียนนั้น จะมีประมาณนี้ค่ะ

  • เป็นนักเรียนนักศึกษาที่พำนักอยู่ที่ญี่ปุ่นนานเกิน 3 เดือน
  • อายุ 18 ปีขึ้นไป
  • ทำงานพิเศษได้ไม่เกิน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
  • ไม่เป็นงานผิดกฏหมาย ไม่ผิดศีลธรรม
  • ไม่กระทบต่อการเรียน
  • มีจุดประสงค์เพื่อหารายได้เสริมระหว่างเรียน

การหางานพาร์ทไทม์

การหางานพิเศษในประเทศญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาตินั้นไม่ยากเลยค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้ตามร้านรวงต่าง ๆ ต้องการพนักงานต่างชาติเป็นจำนวนมากไม่แพ้เด็กญี่ปุ่นเองเลย

สำหรับงานพิเศษยอดฮิตของเหล่าเด็กแลกเปลี่ยน มีทั้งงานในร้านอาหาร งานขายของหน้าร้านหรือร้านสะดวกซื้อ ครูสอนภาษา งานล่าม เป็นต้น สำหรับชาวไทยที่เห็นเพื่อน ๆ ทำกันมากก็คือร้านอาหารไทย และร้านสะดวกซื้อค่ะ

ร้านอาหารต้องการพนักงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก
ร้านอาหารต้องการพนักงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก

ตอนไปแลกเปลี่ยน เราก็ทำงานพิเศษในร้านอาหารไทยเหมือนกันค่ะ ตอนหาก็ไม่ยากเพราะมีรุ่นพี่แนะนำมาให้ เรียกได้ว่าเป็นร้านที่ทำกันมารุ่นสู่รุ่น หน้าที่ของเราก็แค่ติดต่อพี่คนไทยที่เป็นผู้จัดการร้านไป และทำการนัดยื่นใบสมัครและวันสัมภาษณ์

แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะไปหางานพิเศษทำที่ไหนดี ก็ให้ลองเข้าไปที่เว็ปไซต์หางานต่าง ๆ อย่างเช่น

หรือจะลองหาตามนิตยสารรับสมัครงานแจกฟรี ตามสถานีรถไฟก็ได้ เช่น Townwork เป็นต้น

วิธีสมัครงานพาร์ทไทม์ในญี่ปุ่น

เมื่อมีที่ที่สนใจแล้ว ก็กรอกข้อมูลผ่านหน้าเว็ปไซต์ได้เลย หรือบางที่อาจจะต้องโทรศัพท์ไปสอบถามด้วยตัวเอง และหลังจากทางร้านเรียกสัมภาษณ์ สิ่งที่ต้องเตรียมไปด้วยก็คือ “ใบสมัคร” ซึ่งในญี่ปุ่นจะเรียกว่า “ริเรคิโชะ” สามารถหาซื้อได้ที่ร้าน 100 เยน หรือร้านสะดวกซื้อ จะมีขายเป็นชุดพร้อมซองเลย หลังจากนั้นก็กรอกข้อมูลไปให้เรียบร้อย และนำไปยื่นตอนสัมภาษณ์

ใบสมัครงานพาร์ทไทม์ในญี่ปุ่นจะเรียกว่า “ริเรคิโชะ”
“ใบสมัคร” ในญี่ปุ่นจะเรียกว่า “ริเรคิโชะ” Ref : employment.en-japan.com All Right Reserved

ปกติแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ว่าจ้างต้องการจากเด็กนักเรียนชาวต่างชาติก็คือ “ระดับภาษา” ตามประสบการณ์แล้ว ร้านส่วนใหญ่จะรับสมัครชาวต่างชาติ ที่มีระดับภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ N3 ขึ้นไป เพราะเป็นระดับที่สามารถสื่อสารในชีวิตประจำวันได้แล้ว หรือหากมีระดับภาษาที่ต่ำกว่านี้ ก็อาจจะรับ แต่ไปอยู่ในตำแหน่งที่ยังไม่ต้องสื่อสารมากนัก

ตอนที่เราไปสัมภาษณ์ที่ร้านอาหารไทย ผู้จัดการชาวญี่ปุ่นเป็นคนสัมภาษณ์ คำถามหลัก ๆ ก็เพื่อทดสอบระดับภาษา ตอนนั้นเรามีผลสอบ JLPT N2 แล้วจึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ หลักจากนั้นก็ถามถึงวันเวลาที่สามารถมาทำงานได้

ประสบการณ์การทำงานในร้านอาหารไทย

ร้านอาหารไทยที่เราทำนั้น จะแบ่งเป็นช่วง Lunch 11:00 – 15:00 น. และ Dinner 18:00 – 23:00 น. เนื่องจากช่วงกลางวันเรามีเรียน ดังนั้นเวลาที่เราสามารถทำงานได้คือช่วงเย็น ส่วนวันที่สามารถทำงานได้นั้น ของเราสามารถทำได้สัปดาห์ละ 3 วัน โดยปกติช่วงดินเนอร์ในหนึ่งวันจะใช้พนักงานประมาณ 4 – 5 คน คือมีพี่กุ๊กชาวไทย 2 คน ผู้จัดการร้านชาวไทยหรือญี่ปุ่น 1 คน และพนักงานพาร์ทไทม์ชาวไทยหรือญี่ปุ่น 1 – 2 คน

หน้าที่ของเราจะเรียกว่า Hall Staff ทำทั้งรับออร์เดอร์ ชงเครื่องดื่ม เสิร์ฟอาหาร เก็บเงิน เก็บโต๊ะ ล้างจาน ทำความสะอาด เก็บร้าน ทิ้งขยะ เป็นต้น

สิ่งที่เราต้องจำให้ได้ก็คือ วิธีการรับโทรศัพท์ ชื่อเมนู ราคาเมนู วิธีการชงเครื่องดื่ม วิธีการเสิร์ฟ ยิ้มเยอะ ๆ แน่นอนว่าเขาจะให้เราทำแบบค่อยเป็นค่อยไป มีพี่คนไทยคอยสอนงานให้ นอกจากนี้เราจะได้กินอาหารไทยด้วย แต่ก็ต้องทนหิวหน่อย เพราะเราจะได้กินข้าวช่วงก่อนปิดร้าน คือหลัง 4 ทุ่มไปแล้ว

สำหรับค่าจ้างในร้านอาหารไทยที่โตเกียว หากเป็นร้านทั่วไป จะอยู่ที่ 850 – 900 เยนต่อชั่วโมง (ประมาณ 240 – 260 บาท) แต่ถ้าเป็นร้านที่อยู่ในย่านธุรกิจ หรือตามโรงแรมจะอยู่ที่ 1,000 เยนขึ้นไป (ประมาณ 300 บาท) ส่วนเพื่อนที่ทำงานในร้านสะดวกซื้อ ค่าจ้างก็สูงเหมือนกัน จะอยู่ที่ 1,000 เยนขึ้นไปค่ะ

การจ่ายเงินค่าจ้างและภาษี

สถานที่ทำงานพิเศษมักจะนับการจ่ายเงินค่าจ้างจากการตอกบัตร หากมาสายแม้วินาทีเดียวก็อาจจะถูกหักเงินได้ ในขณะเดียวกัน ร้านที่เราไปทำยังมีการจ่ายโบนัสพิเศษหลัง 4 ทุ่ม เป็น 1,000 เยนต่อชั่วโมงด้วย และในแต่ละเดือน ทางร้านก็จะนำใบตอกบัตรของเราไปคำนวนค่าแรง และจ่ายเป็นเงินสดพร้อมใบเสร็จ ซึ่งจะมีรายละเอียดบอกว่า เดือนนั้นเราทำงานไปทั้งหมดกี่ชั่วโมง ได้ค่าจ้างในเวลาปกติเท่าไหร่ ค่าจ้างโบนัสเท่าไหร่

ส่วนเรื่องภาษีเงินได้ ตามกฎหมายญี่ปุ่น ผู้มีรายได้ที่เป็นนักศึกษาจะต้องเสียภาษีเงินได้เมื่อมีรายได้เกิน 1,300,000 เยน จะเก็บเฉพาะรายได้ที่เกินในเรท 5% และภาษีท้องที่เมื่อมีรายได้เกิน 1,240,000 เยน เก็บเฉพาะส่วนที่เกินในเรท 10% แต่เงินได้ของนักเรียนอย่างเราที่ทำงานได้ไม่เกิน 28 ชั่วโมงนั้น ถือว่ายังมีรายได้ไม่ถึง จึงไม่ต้องเสียภาษีค่ะ

บรรยากาศการทำงาน

น้อง ๆ หลายคนที่ยังไม่เคยทำงานพิเศษมาก่อน อาจจะรู้สึกกังวลเรื่องการทำงานพิเศษ เราเองในตอนนั้นก็เพิ่งจะเคยทำงานพิเศษเป็นครั้งแรกเหมือนกันค่ะ ช่วงแรก ๆ เราก็ทำอะไรไม่ค่อยถูก จำอะไรยังไม่ค่อยได้ เสิร์ฟผิดบ่อย ๆ ยิ้มน้อยไปหน่อย จนโดนเจ้าของร้านดุก็มี

“โนมิไค” หรือการกินเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างเพื่อนร่วมงานหลังเลิกงาน
“โนมิไค” หรือการกินเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างเพื่อนร่วมงานหลังเลิกงาน

แต่โชคดีที่พี่ผู้จัดการร้านคนไทย รวมถึงเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ใจดีมาก คอยเตือน คอยสอนเราอย่างใจเย็น แต่แม้ตอนทำงานจะเครียด หลังจากเลิกงานไปแล้ว บางทีก็มีชวนกันไป “โนมิไค” หรือการกินเลี้ยงสังสรรค์กันเป็นระยะ ทำให้พวกเราสนิทกันมาก พี่ ๆ แก๊งคนไทยของเรานั้นเปรียบเสมือนเซฟโซนของเราเลย และหลังจากปรับตัวได้ เริ่มทำงานได้คล่องขึ้น ทีนี้เราก็เริ่มสนุกกับการทำงานแล้วค่ะ ลูกค้าที่เราเจอส่วนใหญ่ก็น่ารักมาก มีมาชวนคุย พูดถึงการท่องเที่ยวที่เมืองไทย เรายังเคยไปทิปจากลูกค้าด้วย แต่ลูกค้าจอมอาละวาดก็มีเหมือนกันนะคะ ทั้งคนเมา ทั้งคนเรื่องมาก แต่พอเจอคนแบบนี้เราจะยิ้มสู้ พูดน้อยเท่าที่จำเป็น และทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำงานพิเศษในครั้งนี้ก็คือ เราไม่ควรอยู่เฉย ต้องกะตือรือร้นเตรียมรับลูกค้าตลอดเวลา หากลูกค้ายังไม่เข้าร้าน ก็เดินไปเช็กสต็อกเครื่องดื่ม เช็ดโต๊ะ ตรวจดูช้อนส้อมบนโต๊ะอย่าให้พร่อง และต้องมีความอดทนสูง การทำงานในร้านอาหารต้องเดินอยู่ตลอด ไม่มีทางได้นั่ง พอเลิกงานที ก็แทบหมดแรง แถมบางที วันรุ่งขึ้นยังมีเรียนคาบเช้าอีก แรก ๆ มันค่อนข้างยาก แต่พอเราทำได้แล้ว รู้ตัวอีกทีเรากลับรู้สึกสนุกขึ้นมา จำได้ว่าเราร่าเริงทุกครั้ง ที่ได้รับซองเงินเดือนค่ะ

milkcream