มหาวิทยาลัยโคกุชิคัง เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน แบ่งเป็น 3 แคมปัสในโตเกียว คือที่เขตเซตากายะ เขตมาชิดะ และเขตทามะ แต่ละแห่งจะมีคณะแตกต่างกันไป และนักศึกษาจะต้องอยู่หอในแคมปัสของตนค่ะ สำหรับคณะอักษรศาสตร์ที่เราเรียนนั้น อยู่ที่แคมปัสเซตากายะซึ่งเป็นแคมปัสหลัก และอยู่ใจกลางเมืองที่สุด คราวนี้เราจะพาน้องๆ ไปดูหอพักของเรากันค่ะ

Kokushikan University International Guest House

“Kokushikan University International Guest House” ชื่อนี้เป็นชื่อของหอพักนักศึกษาต่างชาติที่เรียนในแคมปัสเซตากายะ สามารถเดินไปมหาวิทยาลัยได้ภายใน 15 นาที ระยะทางระหว่างมหาวิทยาลัยและหอพักจะมีศาลเจ้าโชอิน (Shoin Shrine) มีสถานีรถไฟท้องถิ่นอย่างสถานี ShoinJinjya-Mae และสถานี Setagaya และยังมีซูเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ไปรษณีย์ ธนาคาร ร้านอาหาร ฯลฯ ตัวหอพักตั้งอยู่กลางย่านที่อยู่อาศัยที่เงียบสงบ นอกจากนี้ยังมีป้ายรถเมล์อยู่ที่หน้าปากซอยซึ่งเราสามารถนั่งไปย่านชิบุย่าได้ในเวลา 20 นาที

หอพักเป็นอาคารสูง 4 ชั้น การผ่านประตูหอจะต้องใช้บัตรนักศึกษาในการเข้า ชั้นแรกจะเป็นครัวกลางที่มีอุปกรณ์ครบครัน มีห้องพักของผู้ดูแลหอ และโซนห้องพักของนักศึกษาชาย  ด้านในหอมีทั้งลิฟต์และบันไดหนีไฟ

หอพักนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น
หอพักนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น  ชั้นแรกจะเป็นครัวกลางที่มีอุปกรณ์ครบครัน

ห้องของเราอยู่บนชั้น 3 ใกล้กับบันไดหนีไฟพอดี ห้องเป็นแบบ 1K คือมีครัวเล็กๆ กับห้องนอน ด้านในมีห้องเก็บของ ห้องน้ำพร้อมอ่างอาบน้ำ ในโซนห้องนอนมีโทรทัศน์ ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางหนังสือ โต๊ะอ่านหนังสือ อินเตอร์เน็ต Wi-Fi ให้เสร็จสรรพ

ราคาของหอพัก ปกติจะอยู่ที่ 50,000 เยนต่อเดือน (ประมาณ 14,000 บาท) แต่ตอนที่เราไป นักศึกษาที่ได้ทุนแลกเปลี่ยนจะได้ราคาที่ลดลงมาอยู่ที่ 17,000 เยน (ประมาณ 4,800 บาท) ที่ถือว่าถูกมากจนเพื่อนอิจฉา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ราคานี้ไม่รวมค่าอินเตอร์เน็ต 2,000 เยน (ประมาณ 570 บาท) ค่าน้ำและค่าไฟนะคะ

สิ่งที่ต้องเตรียมไปเอง vs สิ่งที่ทางหอเตรียมไว้ให้

ก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น เรากังวลไปเสียหมดว่าของที่ใส่ลงกระเป๋าจะพอเอาไปใช้ชีวิตได้ไหม รุ่นพี่ก็บอกอยู่เหมือนกันว่าในห้องจะมีของที่รุ่นก่อนๆ ทิ้งเอาไว้อยู่ เอาไปใช้ได้เลย แต่เราก็ยังไม่วางใจอยู่ดี เลยขนไปหมด ตั้งแต่จาน ชาม แม้กระทั่งหม้อ แต่เราอยากจะบอกน้องๆ นะคะว่า ไม่ต้องขนาดนั้น เพราะที่หอเตรียมของใช้จำเป็นเอาไว้ให้เราหมดแล้ว

สิ่งที่หอมีให้

  • เครื่องนอน : ทางหอจะเตรียมฟูกและผ้าห่มไว้ให้ แต่ไม่ใช่ของใหม่ หากไม่สะดวก ก็สามารถไปซื้อเองได้ ส่วนตัวเราไม่ติดอะไร เพียงแต่เตรียมหมอนสุญญากาศและปลอกหมอนไป เพราะเขาไม่มีให้
  • เครื่องครัว : ไม่ต้องเอาไปแบบเรานะคะ เพราะพอไปถึงปรากฏว่าเขาใช้เตาไฟฟ้ากัน หม้อธรรมดาใช้ไม่ได้ ส่วนพวกจานชาม ทางหอมีเตรียมไว้เยอะมาก สามารถหยิบไปใช้ส่วนตัวได้เลย รวมถึงในครัวรวมยังมีเตาอบ หม้อหุงข้าว เตาปิ้งขนมปัง เตรียมเอาไว้ให้พร้อมมากๆ ส่วนตู้เย็นมีทั้งในครัวรวม และห้องส่วนตัวของเรา
  • อุปกรณ์ทำความสะอาดห้อง : ทางหอมีเครื่องดูดฝุ่นให้เป็นของส่วนกลาง 
  • มรดกจากรุ่นพี่ : ของที่รุ่นพี่ทิ้งไว้ให้ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันค่ะ อย่างของเรา รุ่นพี่ทิ้งของเอาไว้เยอะมากแบบรุ่นต่อรุ่น มีทั้งผ้าห่มไฟฟ้าที่ช่วยชีวิตตอนหน้าหนาวได้มาก น้ำยาล้างห้องน้ำ กระจกส่องตัว พัดลม ฯลฯ ส่วนของเพื่อนคนอื่นๆ ได้จักรยาน หรือแม้กระทั่งเสื้อกันหนาวก็มี

สิ่งที่เราต้องเตรียมไป

  • ยาแก้ปวดลดไข้และยาส่วนตัว : ส่วนตัวเรารู้สึกว่ายาของญี่ปุ่นไม่แรงเอาเสียเลย ถ้าเทียบกับยาพาราเซตามอลบ้านเราแล้ว กว่าจะหายได้นี่นานมากค่ะ 
  • คอนแทคเลนส์ : การจะซื้อคอนแทคเลนส์ชนิดสายตาสั้นที่ญี่ปุ่นได้จะต้องมีใบรับรองแพทย์ไปยื่นเท่านั้น ดังนั้นแนะนำให้ซื้อตุนจากที่ไทยไปจะดีที่สุด
  • บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่สามารถถอนเงินในญี่ปุ่นได้ : ควรสมัครเอาไว้เพราะสะดวกในการชำระค่าโทรศัพท์ และกรณีรับโอนเงินจากประเทศไทย

การหาหอพักนอกมหาวิทยาลัย

ส่วนใหญ่แล้วมหาวิทยาลัยที่ไปแลกเปลี่ยนจะบังคับให้นักศึกษาอยู่หอพักภายในมหาวิทยาลัย เพราะสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง และยังถูกกว่าออกไปอยู่หอพักด้านนอกมาก แต่ก็มีบางกรณีที่เราอาจจะต้องหาห้องพักเอง ในหัวข้อนี้เราจะพามาดูเรทราคาห้องพัก และแนะนำเว็ปไซต์สำหรับหาหอพักกันค่ะ

เรทราคาและขนาดห้องในโตเกียว

กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นนั้น เรียกได้ว่ามีค่าครองชีพที่แพงที่สุดในญี่ปุ่น เรทห้องพักจะแตกต่างไปตามแต่ละขนาดและย่าน แต่ก่อนอื่นเราจะพาไปแนะนำชนิดของห้องในญี่ปุ่นอย่างคร่าวๆ กันก่อน

ญี่ปุ่นจะแบ่งขนาดห้องดังนี้ โดยตัวเลขด้านหน้าจะหมายถึงจำนวนห้องนอน เช่น หากเป็นเลข 2 คือมีห้องนอน 2 ห้อง เป็นต้น

  • One room / 1R : ห้องโล่งๆ ไม่มีการแบ่งสันปันส่วน ยกเว้นห้องน้ำ ขนาดประมาณ 13 – 20 ตารางเมตร
  • 1K : ห้องนอน 1 ห้อง + ห้องครัว ขนาดประมาณ 13 – 25 ตารางเมตร
  • 1DK : ห้องนอน 1 ห้อง + ห้องทานอาหาร + ห้องครัว ขนาดประมาณ 25 –30 ตารางเมตร
  • 1LDK : ห้องนอน 1 ห้อง + ห้องรับแขก + ห้องทานอาหาร + ห้องครัว ขนาดตั้งแต่ 30 ตารางเมตรขึ้นไป

เว็ปไซต์อสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นอย่าง homes.co.jp ได้จำแนกราคาห้องพักตามเขตในโตเกียวเอาไว้ ทำให้ทราบว่า ห้องขนาด 1R/1K/1DK แบบที่เราอยู่นั้น มีราคาตั้งแต่ 42,800 เยน (ประมาณ 12,000 บาท) ไปจนถึง 126,200 เยน (ประมาณ 36,000 บาท) ต่อเดือน โดยเขตมินาโตะมีราคาแพงที่สุด และย่านอากิรูโนะ เขตทามะ มีราคาถูกที่สุด ส่วนเขตเซตากายะ ที่ตั้งมหาวิทยาลัยโคกุชิคังนั้น ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 87,900 เยน (ประมาณ 25,000 บาท)

การหาห้องพักในญี่ปุ่น

วิธีหาห้องพักในญี่ปุ่นที่ง่ายที่สุดคือการใช้บริการนายหน้าค่ะ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปญี่ปุ่นก็สามารถทำเรื่องเช่าห้องได้แล้ว โดยเว็ปไซต์นายหน้าที่เหล่านักเรียนชอบใช้บริการกันมีดังนี้

LandHousing

บริษัทนายหน้าที่นิยมของเด็กไทยอย่าง “LandHousing” มีจุดเด่นตรงที่มีเจ้าหน้าที่คนไทย และยังมีสาขาประจำประเทศไทยอยู่ที่อาคาร Interchange 21 สถานี BTS อโศก นอกจากบริการหาห้องพักแล้ว ยังมีบริการให้เช่าเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกด้วย

ที่อยู่ : 399  อาคาร Interchange 21  ชั้น 22   ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ 

เวลาทำการ : วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00 – 17.00 น. (หยุด วันเสาร์-วันอาทิตย์)

โทร. : 02-048-2271

อีเมล : thailand@landhousing.co.jp

เว็ปไซต์ : th-lh.com

BEST-ESTATE.JP

สำหรับใครที่อยากหาห้องให้พร้อมก่อนไปถึงญี่ปุ่น แนะนำเว็ปไซต์นี้ เพราะเราสามารถดูห้องผ่านโปรแกรม zoom ได้ เมื่อได้ห้องที่ต้องการแล้วก็สามารถทำสัญญาผ่านออนไลน์ได้เสร็จสรรพ การให้บริการไม่ติดขัด เพราะมีเจ้าหน้าที่ชาวไทยด้วยเว็ปไซต์ : www.gtn.co.jp

STUDENT.COM

เว็ปไซต์นี้เป็นนายหน้าหาห้องเช่าสำหรับนักเรียนนักศึกษาโดยเฉพาะ โดยจะให้บริการค้นหาในทั่วโลก สามารถเลือกสถานที่ตามมหาวิทยาลัยได้ด้วย สำหรับประเทศญี่ปุ่น จะมีแค่ที่โตเกียวเท่านั้น และเน้นทำเลที่ใกล้กับมหาวิทยาลัยโตเกียว เช่น มหาวิทยาลัยวาเซดะ มหาวิทยาลัยเคโอ เป็นต้น ลองเช็คในเว็ปไซต์ได้เลยค่ะ : www.student.com

นอกจากค่าเช่าแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกบ้าง?

สิ่งที่ควรรู้สำหรับการเช่าห้องในญี่ปุ่น นอกจากค่าเช่าห้องแล้ว ยังมีส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มเติมดังนี้

  • ค่าประกัน “ชิคิคิง” : เหมือนเงินค่ามัดจำ เอาไว้ประกันว่าเราจะไม่ทำห้องเสียหาย จะได้รับคือเมื่อย้ายออก จะคิดเท่ากับค่าเช่า 1-2 เดือน
  • ค่าธรรมเนียม “เรคิง” : เป็นเงินให้เปล่าที่จ่ายให้กับเจ้าของห้อง จะไม่ได้รับคืนแม้ย้ายออกจากห้อง จำนวนเงินจะคิดเท่ากับค่าเช่าห้อง 1 เดือน
  • ค่านายหน้า : จ่ายให้กับบริษัทนายหน้าที่เราใช้บริการ โดยจะคิด 1-2 เดือนของค่าเช่า
  • ค่าค้ำประกัน : หากชาวต่างชาติไม่มีคนญี่ปุ่นค้ำประกันให้ จะต้องใช้บริการบริษัทคำประกันค่ะ และทางบริษัทจะคิดค่าบริการเราในราคาค่าเช่า 1 เดือน
  • ค่าประกันอื่นๆ เช่น ค่าประกันไฟไหม้ ค่าประกันกุญแจห้อง ราคาจะแตกต่างกันไปตามแต่ละที่ค่ะ

จะเห็นว่านอกจากค่าเช่าห้องในเดือนแรกแล้ว เรายังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกรณีย้ายเข้าอยู่ใหม่อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากใครที่เพิ่งมาเรียนใหม่ๆ เราแนะนำให้อยู่หอพักของมหาวิทยาลัยไปก่อนจะดีกว่า จะได้มีเวลาตัดสินใจก่อนย้ายที่อยู่ใหม่ค่ะ

หากน้องๆสนใจไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ Owl Campus นะคะ และถ้าใครสนใจอยากรู้ว่าตอนเรียนนั้นมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? สามารถติดตามได้ที่บทความนี้ค่ะ –> ชีวิตประจำวันของนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น <–

milkcream