ก่อนจะไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น เราเคยได้ยินเรื่องเล่ามาจากรุ่นพี่ ถึงความโดดเดี่ยว การไม่มีเพื่อน หรือปัญหาเรื่องที่คนญี่ปุ่นไม่ยอมเปิดใจ จนช่วงหนึ่งเรารู้สึกกังวลไปเลย แต่ในความเป็นจริงที่เจอกับสิ่งที่คิดจะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน เราจะพาน้อง ๆ ทุกคนไปหาคำตอบด้วยกันในบทความนี้

ช่วงปรับตัวในเทอมแรก

หอพักของเราตั้งอยู่ในเขตเซตากายะ สามารถเดินไปมหาวิทยาลัยที่เราเรียนได้ภายใน 15 นาที ระหว่างทางจากหอพักไปมหาวิทยาลัย ก็จะมีสำนักงานเขตเซตากายะตั้งอยู่ และรอบๆ บริเวณนั้นก็จะมีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ไปรษณีย์ ศาลเจ้า ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นทำเลที่ดีและสะดวกมากๆ

หลังจากนักศึกษาแลกเปลี่ยนมาถึงญี่ปุ่นกันครบทุกคนแล้ว เจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยก็พาพวกเราไป “สำนักงานเขต” เพราะตามกฏหมายของประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่จะต้องแจ้งเรื่องการย้ายเข้ากับสำนักงานเขตภายใน 14 วัน  สิ่งที่เราต้องเตรียมก็คือ

  • หนังสือเดินทาง
  • บัตรผู้พำนัก “ไซริวการ์ด” (Resident Card)
  • อินกัง
  • ที่อยู่ที่เราพำนัก

ไม่ว่าจะทำธุรกรรมใดๆ ในญี่ปุ่นก็แล้วแต่ เราจะต้องพก “อินกัง” หรือตราประทับส่วนตัวที่เปรียบเสมือนลายเซ็นต์ไปด้วยทุกครั้ง การทำอินกังต้องไปทำในร้านที่รับทำโดยเฉพาะ เพราะเขาจะมีการออกใบรับรองมาให้ด้วย กรณีเรา ทางมหาวิทยาลัยส่งอีเมลมาขอชื่อภาษาญี่ปุ่นของเราไปตั้งแต่ก่อนเดินทาง เมื่อมาถึง เจ้าหน้าที่ก็นำมาให้ทันที

อินกัง

ประกันสุขภาพแห่งชาติ

พวกเราต้องกรอกเอกสารเพื่อทำการแจ้งที่อยู่ จากนั้นก็พาไปทำ “ประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance)” ที่บังคับให้ต้องทำทุกคน จ่ายค่าประกันเดือนละ 1,200 เยน (ประมาณ 340 บาท) รวมทุกขั้นตอน ใช้เวลาประมาณครึ่งวันพอดี

เดินเล่นย่าน Shinjuku

จากนั้นก็มาถึงการเปิดบัญชีธนาคาร ทางมหาวิทยาลัยติดต่อธนาคารให้มาทำเรื่องให้ถึงมหาวิทยาลัย แต่คราวนี้ส่งเพื่อนบัดดี้ชาวญี่ปุ่นมาคอยดูแลพวกเราแทน สิ่งที่ต้องเตรียมก็คืออินกัง บัตรผู้พำนัก หนังสือเดินทาง และเอกสารแสดงสังกัด ของเราใช้บัตรประจำตัวนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกให้ก่อนหน้านี้

แล้วบัดดี้ชาวญี่ปุ่นก็พาพวกเราไปซื้อซิมส์การ์ดที่แผนกโทรศัพท์มือถือในห้างฯ ย่านชินจูกุ ซิมส์การ์ดมีหลายประเภท มีระยะเวลาของสัญญาที่แตกต่างกันไป ค่าบริการเป็นแบบรายเดือน จ่ายด้วยการตัดบัตรเครดิต หรือตัดบัญชีธนาคาร สิ่งที่ต้องเตรียมไปซื้อก็คือ อินกัง บัตรผู้พำนัก หนังสือเดินทาง ขั้นตอนก็แค่เลือกซิมส์การ์ดและกรอกเอกสารสัญญา แต่เพื่อนบางคนที่โทรศัพท์ติดสัญญากับประเทศบ้านเกิด ทำให้ต้องซื้อเครื่องใหม่พร้อมซิมส์การ์ดไปเลยก็มี ส่วนเราโชคดีค่ะที่ไม่มีปัญหา จึงซื้อเฉพาะซิมส์การ์ดแบบ 1 ปี รายเดือนตกที่ประมาณ 1,080 เยน (ประมาณ 307 บาท)

IC Card หรือ บัตรรถไฟ

ธุรกรรมอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ “บัตรรถไฟ” ที่ชาวญี่ปุ่นจะเรียกว่า “IC Card” เหมือนบัตร BTS บ้านเรา แต่ต่างกันตรงที่ใช้ได้ครอบคลุมทั้งรถไฟ รถเมล์ รถบัส ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ขั้นตอนก็ไม่ยาก เพียงแค่ไปกดซื้อที่ตู้ซื้อตั๋ว มีค่ามัดจำบัตร 500 เยน (ประมาณ 140 บาท) และต้องเติมเงินเข้าไปเพื่อเปิดบัตรขั้นต่ำ 2,000 เยน (ประมาณ 600 บาท) ขั้นตอนก็ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้ตามตู้ซื้อตั๋วต่างๆ มีเมนูภาษาไทยอยู่แล้ว มองหาคำว่า “IC Card” เข้าไว้ค่ะ ประโยชน์ของการซื้อบัตรแบบนี้ นอกจากความสะดวกแล้ว บางทีก็ยังได้ส่วนลดค่ารถไฟด้วย

3 เดือนแรก เวลาแห่งการปรับตัว

มหาวิทยาลัยโคกุชิกังจะแบ่งเป็นสองแคมปัส คือเซตากายะของเรา และมาชิดะ ก่อนเปิดเรียน นักเรียนแลกเปลี่ยนทั้งสองแคมปัสต้องมาเรียนปรับพื้นฐานด้วยกันเพื่อทดสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นและแบ่งห้องเรียนเป็นระดับสูง และระดับกลาง

เทอมแรกเปิดเรียนในเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ผลิที่ชาวญี่ปุ่นมองว่าเป็นฤดูแห่งการเริ่มต้นใหม่ เช่นเดียวกับนักเรียนแลกเปลี่ยนอย่างพวกเราที่ได้เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เจอคนใหม่ๆ ทุกอย่างจึงน่าตื่นเต้นไปหมด

เมื่อเปิดเทอมแล้ว เราก็จะได้เจอเพื่อนใหม่เยอะขึ้น โดยเฉพาะบัดดี้ชาวญี่ปุ่น โชคดีของเราที่เจอแก๊งเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่เคยมาแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทย พวกเขาชอบประเทศไทยมาก เราจึงสนิทกันอย่างรวดเร็ว คอยพากันไปเที่ยวตลอด

ระหว่างนั้น ทางมหาวิทยาลัยก็มีการจัดทัศนะศึกษา ฮานามิ (การชมดอกซากุระ) เพื่อนบัดดี้ก็ชวนพาเที่ยวไม่เว้นแต่ละอาทิตย์ เพื่อนๆ ในหอมักจะชวนกันทำอาหารของแต่ละชาติและนั่งกินด้วยกันที่ครัวกลาง ต้องขอบคุณโอกาสเหล่านั้น เพราะมันทำให้ความกังวลก่อนมาของเราหายไปตั้งแต่ 3 เดือนแรก

ช่วงเวลาแห่งความสนุก

การเรียนในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นสำหรับเรา นอกจากการปรับตัวกับการเรียนการสอนที่เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมดแล้ว นอกนั้นก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง อาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคอยช่วยเหลือพวกเราอย่างดี แม้ว่าเราไม่สามารถโอนหน่วยกิตได้และไม่มีผลอะไรกับเกรดของเราที่ประเทศไทยก็จริง “แต่เราก็เต็มที่กับการเรียนทุกวิชา”

การเรียนในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น
เราเต็มที่กับการเรียนทุกวิชาในมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้มาอยู่หอคนเดียว ช่วงแรก เราไม่ทำอาหารกินเองเลยค่ะ อาศัยความสะดวก ซื้อข้าวกล่องจากร้านสะดวกซื้อมาตลอด แต่พอได้เห็นเพื่อนชาวจีนซื้อของมาทำอาหารกินเองแล้ว เราก็ได้พบว่าวิธีนี้ประหยัดกว่าเป็นไหนๆ และใกล้ๆ หอมีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่พอดี เรามักจะไปซื้อวัตถุดิบหรืออาหารลดราคาอาทิตย์ละ 2 ครั้งเพื่อนำกลับมาทำกับข้าวเอง เท่านั้นยังไม่พอ เรายังไปซื้อต้นกะเพราจากร้านต้นไม้แถวนั้นมาปลูกไว้ข้างหน้าต่างและเก็บใบมาผัดกะเพรากินด้วยนะ ผลที่ได้จากการอยู่หอ นอกจากสกิลการทำอาหารจะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังรู้จักการซื้อของให้คุ้มด้วย

อีกหนึ่งกิจวัตรของเราตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นคือการทำงานพิเศษที่ร้านอาหารไทย ปกติจะเข้างานตอน 18:00 ออก 23:00 บางวันเลิกช้าหน่อยก็ต้องวิ่งไปสถานีรถไฟเพื่อให้ทันรถไฟเที่ยวสุดท้ายตอน 24:30 และให้ทันเคอร์ฟิวส์ของหอตอน 01:00 โดยเฉพาะตอนหน้าร้อนที่ร้านอาหารไทยจะขายดีที่สุด จากที่ช่วงเปิดเทอมเคยได้เดือนละ 50,000 เยน (ประมาณ 14,000 บาท) ช่วงปิดเทอมหน้าร้อนเราได้มากถึง 80,000 เยน (ประมาณ 22,774 บาท) เลยทีเดียว แต่ก็ต้องแลกกับการอดไปร่วมบางกิจกรรม หรือเที่ยวที่ไกลๆ กับเพื่อนๆ

นับถอยหลังเวลากลับบ้าน

ความรู้สึกที่ว่า “เวลาแห่งความสนุก ใกล้จบลงแล้ว” เกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาเปิดเทอมที่ 2 ในเดือนตุลาคม เพื่อนๆ ดูจริงจังกับการเรียนมากขึ้น เพราะบางคนต้องทำวิจัยหรือรายงานให้เสร็จก่อนกลับ

ช่วง 2-3 เดือนก่อนกลับ อาจารย์วิชาภาษาญี่ปุ่นที่สอนพวกเรามาเกือบครบปีเรียกพวกเราไปคุยกันทีละคนเพื่อรายงานพัฒนาการด้านภาษาญี่ปุ่น

milkcream

1 เดือนก่อนกลับประเทศ ได้เวลาเตรียมเก็บของกลับบ้าน ทางหอเตรียมกล่องลังเอาไว้ให้โดยเฉพาะ ตอนนั้นเราใช้บริการไปรษณีย์ญี่ปุ่น (Japan Post) โดยเรียกให้พนักงานมารับพัสดุที่หอพักผ่านลิงก์ จำได้ว่าเราส่งของกลับประเทศ 2 กล่อง กล่องละ 30 กิโลกรัม เสียค่าส่งไปทั้งหมดราวๆ 1 หมื่นเยน

นอกจากนั้นยังต้องไปทำเรื่องย้ายกลับประเทศที่สำนักงานเขต เสร็จแล้วก็นัดให้ผู้ดูแลหอมาตรวจห้องพักว่ามีอะไรเสียหายหรือไม่ จากนั้นก็ยกเลิกสัญญาซิมส์โทรศัพท์ และสิ่งสุดท้ายก็คืออำลาเพื่อนๆ ช่วงนี้เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ออกข้างนอกบ่อยมาก เพราะต้องไปกินเลี้ยงกับเพื่อนกลุ่มต่างๆ บอกลาพี่ๆ ที่ทำงานพิเศษ หลังจากนั้นเราก็กลับไทยมาหลังจากพิธีจบการศึกษาประมาณ 3 วัน

 สรุปค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายประจำใน 1 เดือน

  • ค่าหอพัก : 17,000 เยน (ประมาณ  4,800 บาท)
  • ค่าอินเตอร์เน็ตภายในห้อง : 2,000 เยน (ประมาณ 570 บาท)
  • ค่าไฟ : ประมาณ 2,000-3,000 เยน แล้วแต่ฤดู (ประมาณ 570-850 บาท)
  • ค่าน้ำ : ไม่เกิน 1,000 เยน (ประมาณ 300 บาท)
  • ค่าประกันสุขภาพแห่งชาติ : 1,200 เยน (ประมาณ 341 บาท)
  • ค่ากิน (กรณีทำกินเอง) : ประมาณ 5,000  เยน (ประมาณ 1,423 บาท)
  • ค่าโทรศัพท์ : 1,080 เยน (ประมาณ 307 บาท)
  • ค่าเดินทางไปมหาวิทยาลัย : 0 เยน

รวมแล้ว 29,280-30,280 เยน (ประมาณ 8,300-8,620 บาท)

ค่าใช้จ่ายข้างต้นเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะที่ต้องจ่ายทุกเดือน ยังไม่รวมกรณีกินเลี้ยงสังสรรค์ ค่าเดินทางไปเที่ยว ซื้อของฟุ่มเฟือย ฯลฯ แต่ตามปกติแล้ว เราจะบังคับให้ตัวเองเก็บเงินเอาไว้เดือนละ 2,000 เยน กรณีฉุกเฉิน และหากน้องๆ ไปอยู่ในเมืองที่ค่าครองชีพถูกกว่าโตเกียวก็อาจจะถูกกว่านี้ค่ะ

milkcream