หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่า การได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเรียนนอกมันดียังไง!? ไปแล้วจะลำบากมั้ย เงินจะพอใช้รึเปล่า กังวลไปจนกระทั่งเราจะคุยกับคนที่นั่นรู้เรื่องหรือเปล่า จะกินยังไง จะอยู่อย่างไร นี่เป็นคำถามที่เกิดอยู่ในหัวของเราตลอดเวลา ก่อนที่เราจะได้ไปเรียนจริงที่ประเทศจีน ยอมรับเลยว่าตอนนั้น คนไปเรียนหรือไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจีน แล้วออกมาเขียนคอนเทนต์ แชร์ประสบการณ์ หรือ Blog ต่าง ๆ ว่าไป แล้วจะเป็นยังไง อยู่ยังไง ไม่ค่อยแพร่หลายเหมือนทุกวันนี้นัก “ในปี 2006 ที่เราไปแลกเปลี่ยน iPhone ยังไม่ถูกเปิดตัวเลยนะ”

แล้วนักเรียนนอกที่ดูเท่ห์ มันจะต้องไปโซนยุโรปมั้ย ไปอเมริกาสิ เสรีนิยม หรือไปอังกฤษก็ดูดี โก้ไม่หยอก ไม่ค่อยมีใครสนใจไปเรียนในโซนเอเชียกันเท่าไหร่นัก แต่เอาเข้าจริง ๆ โซนเอเชีย กลับมีคนโซนยุโรปเข้ามาเรียนกันอย่างแพร่หลายมาก “โดยเฉพาะประเทศจีน” ที่ก็ถือว่าเป็นประเทศมหาอำนาจเลยก็ว่าได้ เราซึ่งเป็นคนที่เรียนโรงเรียนใกล้บ้านตั้งแต่เล็กจนโต พอมีโอกาสได้เข้ามหาวิทยาลัย ก็จะเลือกไปที่ไกล ๆ จะได้อยู่หอ ไปนอนกับเพื่อน ไม่มีพ่อแม่ ผู้ปกครองอีกต่อไป ได้ชื่อว่าดูแลตัวเองในระดับหนึ่ง แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังคงเรียนที่กรุงเทพฯ บ้านเกิดของตัวเอง และไม่ได้ไปอยู่หอค่ะ ไป-กลับบ้านตลอด T-T

เริ่มต้นในรั้วมหาลัย!!

โชคยังเข้าข้างความทะเยอทะยานที่อยากจะออกจากบ้านไปอยู่หอเต็มแก่ โดยทางมหาวิทยาลัยมี “โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน เรียนที่ไทย 2 ปี เรืยนที่ประเทศจีน 2 ปี” แล้วได้ 2 ปริญญา ซึ่งทำให้เราใจจดจ่ออยากร่วมโครงการนี้มาก ๆ ในช่วง 10 กว่าปีที่แล้วถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการการศึกษาเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าจะนานในการรอให้อาจารย์ทางภาควิชาเอก ทำเรื่องนานจนถึง 2 ปีกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความมุ่งหวังของเรานั้นเปลี่ยนไปได้เลย… เพราะว่านี่ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่จะได้นั่งเครื่องบินออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก และได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนก็ว่าได้!!

ประสบการณ์ที่ไม่ได้รับจากใบปริญญา

การออกเดินทางนั้น ได้เพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกันทั้งหมด 18 คน เรียกได้ว่าครึ่งห้องพอดี เนื่องจากว่ากว่าเราจะได้ไปเรียนที่จีนจริง ๆ ก็เป็นเวลาที่เราเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ไปแล้ว ซึ่งเราจะได้เรียนวิชาการอีกแค่ 1 เทอม และอีก 1 เทอมเพื่อการฝึกงาน เลยมีแค่คนที่พร้อมจะไป หรืออยากไปเท่านั้น และการไปเรียนครั้งนี้ “ไม่ได้ปริญญาจากทางมหาวิทยาลัยจีน” แต่ได้กลับมาเป็นใบรับรองเท่านั้น แต่สำหรับเราได้ ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก ๆ

ณ เวลานั้นเรายังไม่มีผลสอบ HSK แต่ว่าหลังจากการเรียนในเทอมสุดท้ายที่ประเทศจีนนั้น เราจำเป็นจะต้องสอบวัดระดับภาษาจีนให้ผ่านนะคะ เราจึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาภาษาจีนของเราให้ดียิ่งขึ้น.


แล้วชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยนจีนก็เริ่มต้นขึ้นที่คุนหมิง

เราไปถึงสนามบินคุนหมิง ทางมหาวิทยาลัย จัดรถบัสมารับคณะนักเรียนที่มาจากไทย และก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย อาจารย์ก็ได้พาเราไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล เพราะว่าทางมหาวิทยาลัยจีนนั้น ยอมรับแต่ผลที่ออกมาจากโรงพยาบาลจีนเท่านั้น

แล้วชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยนจีนก็เริ่มต้นขึ้นที่คุนหมิง
Yunnan Normal University ในยุคกล้องฟิล์ม

เนื่องจากว่าเราไปจากโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน กับมหาวิทยาลัย Yunnan Normal University ทางมหาวิทยาลัย จึงจัดเตรียมหอพักนักศึกษาให้กับพวกเรา ซึ่งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย เราได้พักตึกเดียวกับที่เป็นหอพักอาจารย์ ที่ทุก ๆ วันจะต้องเดินขึ้นเขาไปทางด้านข้างนอกมหาวิทยาลัยนิดหน่อย เนื่องจากหอพักหญิงในตัวมหาวิทยาลัยนั้นเต็ม

เด็กหอ! ใครที่เคยอยู่หอน่าจะเข้าใจดี

หอพักนักศึกษานั้น เป็นห้องพักรวม มีห้องน้ำในตัวด้านนอกระเบียง เป็นส่วนห้องน้ำ และส่วนซักล้าง ภายในตัวห้องเป็นเตียง 4 เตียงคล้ายเตียงสองชั้น แต่ด้านบนเป็นเตียง ส่วนด้านล่างนั้นเป็นโต๊ะหนังสือ เอาไว้ให้นักเรียนใช้ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ อยู่ชิดติดผนังทั้งสองด้าน ด้านข้างเตียงแต่ละหลังนั้นจะเป็นตู้เสื้อผ้า ส่วนตรงกลางเป็นพื้นที่ส่วนกลางพื้นโล่ง “เรากับเพื่อนเคยเอาผ้ามาปูนอนกันได้ 4 คนพอดี” หอพักอาจารย์นั้นดีกว่าหอพักนักเรียนที่อยู่ในตัวมหาวิทยาลัย เพราะว่าห้องกว้างกว่ามาก เราเคยไปเยี่ยมเพื่อนที่หอพักชายในตัวมหาวิทยาลัย พื้นที่ส่วนกลางห้อง กว้างแค่สองคนยืนเอง!!

เด็กหอ! ใครที่เคยอยู่หอน่าจะเข้าใจดี
Ref. kknews.cc นะคะ เราพยายามหารูปแล้ว แต่สมัยยังไม่มีกล้องดิจิตอลค่ะ. T-T

เนื่องจากเป็นหอพักของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด

  • หอพักหญิง นักศึกษาชายห้ามเข้า แต่ในส่วนหอพักชาย นักศึกษาหญิงเข้าได้ แต่ต้องอยู่ในระหว่าง 6:00 – 18:00 น. เท่านั้นห้ามค้างคืน
  • ไฟฟ้าที่ใช้จะมีปริมาณการใช้จำกัด ไม่สามารถใช้เตารีดได้ ไม่สามารถทำอาหารได้ เพราะว่าถ้าใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้น กำลังไฟจะไม่พอ ซึ่งแน่นอน เราอยู่หอพักอาจารย์ ทำได้ทุกอย่างเลย หุๆๆ
  • และเนื่องจากใช้กาต้มน้ำในห้องไม่ได้ ทางมหาวิทยาลัยจึงมีเครื่องกดน้ำร้อน บริการให้นักศึกษามากดน้ำใส่กา เพื่อเก็บไปดื่มระหว่างอยู่ในห้องได้

ฝากท้องได้ที่ไหนบ้าง!?

อาจารย์เวรประจำหอ จะมีการพลัดกันมาตรวจความเรียบร้อยในห้องนอน สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และจะมีการให้คะแนนด้วย หากห้องไหนมีคะแนนต่ำจะถูกตักเตือน ถ้าหากไม่ปรับปรุง อาจถูกเชิญให้ออกจากหอพัก!! สิ่งที่อาจารย์เข้ามาตรวจ คือ ผ้าห่มต้องพับให้เรียบร้อย (ต้องพับนะคะ นี่ที่บ้านสอนให้คลุม T-T แต่โดนหักคะแนน ตอนหลังเลยต้องเปลี่ยนมาเป็นพับแทน) โต๊ะเรียนจัดเป็นระเบียบหรือไม่!? วางของเกะกะทางเดินพื้นที่ส่วนกลางหรือเปล่า!? ตรวจห้องน้ำและส่วนซักล้าง จะต้องไม่มีของวางเกะกะ และต้องสะอาด

ในมหาวิทยาลัยนั้น มีโรงอาหารให้สำหรับนักศึกษาเข้าไปทานกันแบบราคาย่อมเยาว หลายคนคงเคยได้ดูจากซีรีย์จีนบางเรื่องที่มีโรงอาหาร ให้นักศึกษาเข้าไปเลือกซื้ออาหารกันมาบ้าง มหาวิทยาลัยที่เราไปเรียนนั้นก็เช่นกัน นักศึกษาจะมีบัตรเติมเงินเพื่อเอาไว้ใช้ในการรับประทานอาหารในโรงอาหาร อาหารที่กิน ไม่เหมือนตามศูนย์อาหารในห้างเหมือนบ้านเราหรอกค่ะ จะมีแค่ กับข้าวให้เลือกทาน แต่มีหลายอย่างละลานตามาก นักศึกษาจะเลือกกับข้าว แล้วแต่ว่าจะเอากี่อย่าง แล้วก็คิดเงินในขั้นตอนสุดท้าย “จานข้าวกับจานกับ แยกกัน ไม่ได้ตักมาบนข้าวเหมือนบ้านเรา” นอกจากนั้น ก็จะมีเมนูที่เป็นแกง เอาไว้ให้นักศึกษาเลือกซื้อด้วยค่ะ

นอกจากโรงอาหารในมหาวิทยาลัยแล้ว ด้านนอกมหาวิทยาลัย ก็จะมีร้านอาการราคาย่อมเยาเช่นกัน โดยตอนเช้า ๆ ไม่ต้องไปไหนไกลเลย หน้าประตูมหาวิทยาลัยนั่นแหละ มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งไข่ม้วน จะเป็นมันฝรั่งหั่นเป็นเส้นฝอย ๆ ผัดกับน้ำมัน ปรุงรสด้วยเกลือ และเครื่องปรุงนิดหน่อย เอามาห่อกับไข่ มีรสเค็ม ๆ นิด ๆ ใครชอบเผ็ดก็ใส่พริกเติมเข้าไป ราคา 3 หยวนเท่านั้น

นอกจากไข่ม้วนแล้ว อาหารเช้าขึ้นชื่อที่นี่จะเป็นแป้งข้าวเจ้าห่อปาท่องโก๋ “饵块” แป้งย่างเอ่อไคว่” มีสองรสให้เลือก คือเค็มกับหวาน

  • ถ้าเค็ม เค้าจะเอาซอสที่ปรุงแล้ว เหมือนพริกเผา แต่เค็ม ๆ มาป้ายลงบนแผ่นแป้ง แล้วเอาปาท่องโก๋แบบยาวพับครึ่ง แล้วม้วนเข้ากับแผ่นแป้งห่อไว้ด้วยกัน
  • ส่วนแบบหวาน เป็นแบบที่เราขอบมากเลยทีเดียว ตัวซอสจะหนืด ๆ ดำ ๆ ซึ่งมีถั่วลิสงบดเป็นส่วนผสม มาป้ายกับแป้งแล้วนำปาท่องโก๋แบบยาวพับครึ่ง แล้วห่อม้วนเข้าด้วยกัน ราคา 3 หยวนเช่นกัน

ทานกับน้ำเต้าหู้ร้อน ราคาแค่ 5 เหมาเท่านั้น (1 หยวน ราคาเท่ากับ 5 บาท โดยประมาณ 5 เหมา เท่ากับครึ่งหนึ่งของ 1 หยวน) ส่วนตอนกลางวันและเย็น รอบ ๆ บริเวณมหาวิทยาลัย ยังมีร้านอาหารตามสั่ง ร้านบะหมี่ ร้านปิ้งย่าง ต่าง ๆ นานา ให้ได้เลือกรับประทานกันอีกด้วย.

ยุคของเงินสด สวรรค์ของขโมย!!

ในปัจจุบันนี้ จีนได้พัฒนาไปมาก ผู้คนใช้โทรศัพท์จ่ายเงินกับร้านค้าเกือบทั้งหมด น้อยนักที่จะใช้เงินสด แต่ตอนที่เราไปเรียนนั้น ยังไม่ได้มีระบบเหมือนสมัยนี้ ขนาดโทรศัพท์ยังไม่ใช่สมาทโฟนเลยอ่ะนะ ซึ่งเราเป็นนักเรียนต่างชาติ พกเงินสดติดตัวมาจากบ้านเยอะ ๆ ก็มีความเสี่ยงสูงอยู่พอสมควร เนื่องจากที่นี่ ขึ้นชื่อเรื่องขโมยดีนักแล

จะว่าไป เราอยู่ที่นี่ หนึ่งปีถ้วน ก็โดนไปสองสามรอบอยู่เหมือนกัน โดนเองบ้างเห็นเหตุการบ้าง คละ ๆ กันไป

ดังนั้น สิ่งสำคัญลำดับถัดมาหลังจากไปทำเรื่องกับทางห้องธุรการของมหาวิทยาลัยเสร็จแล้ว พวกเราก็ดิ่งตรงไปยังธนาคารเพื่อเอาเงินที่ทางบ้านให้มาใช้จ่ายเกือบทั้งหมดเข้าธนาคาร และพกออกมาแค่บัตรเอทีเอ็ม ให้เป็นการอุ่นใจ

“โดยการเปิดบัญชีต้องใช้พาสปอร์ดคู่กับบัตรนักศึกษา” ที่ได้มาจากห้องธุรการนั่นแหละค่ะ เพราะว่าเราเป็นต่างชาติ จะไปเปิดธนาคารสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ค่ะ กรอกแบบฟอร์มจากทางธนาคาร (มีเป็นภาษาอังกฤษนะคะ ไม่ต้องห่วง) แล้วเค้าก็ให้เลือกบัตรเอทีเอ็ม ว่าเราอยากใช้แบบไหน มีให้เลือกสรร เหมือนบ้านเราแหละ ถ้าไม่ได้ทำอะไรมาก ก็เลือกแบบธรรมดาไป เราก็เช่นกัน เอาแค่กดเงินออกมาใช้ได้ ที่บ้านโอนเงินเข้ามาได้ แค่นั้นเป็นพอ อ้อ เตือนแล้วนะที่นี่ขโมยเยอะมาก!! ควรมีกระเป๋าคาดอก หรือกระเป๋าคาดเอวไว้ จะเป็นการดีที่สุด

ระบบขนส่งสาธารณะในจีนตอนนั้นก็ดีนะ…

เอาจริง ๆ จากหอพักของมหาวิทยาลัย ที่อยู่ด้านนอกตัวมหาวิทยาลัยของเรานั้น สามารถเดินมาเรียนได้อย่างสบาย ๆ เพราะว่าเป็นทางลงเขา และห่างจากรั้วมหาวิทยาลัยแค่ 500 เมตรเท่านั้น ส่วนใหญ่เราอยู่ที่นี่ใช้วิธีเดินเอาค่ะ เย็นดี ถือเป็นการออกกำลังกายไปด้วยในตัว แต่ว่า ถ้าเราอยากจะไปที่ไกล ๆ ก็ควรขึ้นรถประจำทางเอานะคะ

ระบบขนส่งสาธารณะในจีน
Ref. kunmingbus.cn ที่นี่จะขึ้นรถทางด้านหน้าข้าง ๆ คนขับ

ป้ายรถประจำทางที่นี่ ไม่ได้มีถี่ ๆ เหมือนกับป้ายรถเมล์ในกรุงเทพฯ ระยะทางก็ไกลกันอยู่พอสมควร ราคาค่าโดยสารรถเมล์ตลอดสายที่นี่ (สมัยที่เรียน) แค่ 2 หยวนเท่านั้น (ถ้าจำไม่ผิดนะคะ แหะๆ) โดยขึ้นทางด้านหน้ารถ ข้าง ๆ คนขับ จะมีตู้เอาไว้หยอดเหรียญหรือเครื่องแตะบัตรโดยสาร แล้วเวลาลงก็ลงทางด้านหลังค่ะ แต่ถ้าใครที่ขึ้นรถโดยสารบ่อย ๆ แนะนำเลยค่ะ ซื้อบัตรโดยสารดีกว่า ราคาถูกกว่าใช้เงินสด โดยที่บัตรโดยสารสามารถซื้อได้ที่สถานีรถได้เลยค่ะ และถ้าเป็นนักศึกษาก็สามารถใช้บัตรนักศึกษาและมีส่วนลดค่าโดยสารได้อีกด้วย เพียงแค่ตอนไปซื้อก็ยื่นบัตรนักศึกษาให้เค้าดู เป็นอันเรียบร้อย.

นักเรียนแลกเปลี่ยนจีน เค้าเรียนอะไรกันบ้าง!?

คาบเรียนแรกจะเริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไปจนถึงเที่ยง โดยแต่ละคาบจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาทีโดยประมาณ และจะทำการเริ่มการเรียนการสอนในช่วงบ่าย คือเวลา 14:30 เป็นต้นไปจนถึงเย็น แล้วแต่ตารางเรียนที่นักเรียนลงเรียน “สาเหตุที่เริ่มคาบบ่ายตอนสองโมงครึ่งนั้น ก็เพราะว่าที่นี่เค้ามีวัฒนธรรมการนอนกลางวัน”

นักเรียนแลกเปลี่ยนจีน เค้าเรียนอะไรกันบ้าง!?
หลังจากนอนกลางวันก็เริ่มต้นคาบบ่ายเวลา 14:30 อย่างสดชื่น

นอนกลางวันคือนอนจริง ๆ นอนจริงจัง กลับหอไปนอนเลยค่ะ แม้แต่ห้องพักอาจารย์ หรือห้องธุรการก็ปิดล๊อคหมด จะเปิดทำการอีกที คือหลัง 14:30 เป็นต้นไป แต่เอาจริง ๆ ได้นอนกลางวันช่วงแรก ๆ เราก็จะไม่ค่อยชินนะ แต่พอปรับตัวได้แล้ว มาเรียนช่วงบ่าย คือไม่เคยง่วงอีกเลย เพราะว่าหลับมาเรียบร้อยแล้ว บางทีติดมาจนกระทั่งทำงาน หากวันไหนกินอิ่มจัด คือ ต้องของีบก่อน 15 นาที หลังจากนั้นคือต่องานได้ยาวจนถึงเย็นเลยทีเดียว

แนะนำอ่านต่อ : วิธีการสมัครทุนรัฐบาลจีน CSC เรียนต่อที่ประเทศจีน

ประสบการณ์ตอนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจีนของเราเท่าที่จำความได้ก็จะมีประมาณนี้นะคะ น้อง ๆ ที่อยากไปเรียนต่อประเทศจีนหรือชื่นชอบในวัฒนธรรมจีนและอยากไปสัมผัสประสบการณ์ที่นั่นดูบ้าง ถ้าไม่ได้ไปด้วยการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนแล้วล่ะก็ การขอทุน CSC ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกน่าสนใจนะคะ ถ้าน้อง ๆ เตรียมตัวขอทุนอยู่แล้วมีโอกาสอ่านบล็อกนี้ก็ขออวยพรให้โชคดีกันทุกคนเลยค่า