หากใครกำลังสนใจจะไปเรียนต่อยังประเทศออสเตรเลียอยู่ล่ะก็ นอกจากเอกสารการยื่นขอวีซ่า ตลอดจนเรื่องที่พัก ค่าใช้จ่าย และการเตรียมตัวอื่น ๆ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ห้ามลืมเลยก็คือ ‘การเปิดบัญชีธนาคาร’ ในประเทศออสเตรเลีย!

‘บัญชีธนาคาร’ คือ สิ่งจำเป็นหลัก ที่เหมือนกับส่วนหนึ่งของชีวิตสำหรับนักเรียนนอกเลยก็ว่าได้ เพราะตราบใดที่ต้องไปกิน – อยู่ – อาศัย รวมถึงทำงานบ้างเป็นครั้งคราว ก็ต้องมีการจับจ่ายใช้สอยเงินตราตามมาเสมอ และนั่นเองที่ทำให้ ‘นักเรียนต่างชาติทุกคน’ จะต้องมีบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับคนออสเตรเลีย

การเปิดบัญชีธนาคารก็ไม่ได้ยุ่งยากหรือวุ่นวายนัก แถมยังช่วยให้เราใช้ชีวิตคล่องตัวมากกว่าเดิมอีกด้วย เพราะการมีบัญชีธนาคารของที่นี่จะทำให้เราชำระหนี้ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ไม่ว่าจะค่าที่พัก ค่าเทอม หรือค่าครองชีพ แม้แต่การทำงานพาร์ทไทม์ นายจ้างก็จะสามารถทำธุรกรรมการเงินได้อย่างสะดวก  วันนี้เราจึงอยากมาแบ่งปันวิธี – เทคนิคการเอาชีวิตรอดในออสเตรเลีย ด้วยการเปิดบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง!

STEP 1 : รู้จักกับธนาคารในออสเตรเลีย!​

ที่ออสเตรเลีย จะมีธนาคารยักษ์ใหญ่ผู้เป็นแนวหน้าของประเทศ อยู่ทั้งสิ้น 4 บริษัท ได้แก่

Australia and New Zealand Bank (ANZ)

ANZ หรือ The Australia and New Zealand Banking Group Limited มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Melbourne ออสเตรเลีย ANZ เป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 (คิดจากมูลค่าตลาดรวม)

Commonwealth Bank of Australia (CBA)

CBA หรือ CommBank เป็นธนาคารสัญชาติออสเตรเลียนที่มีสาขาอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่นนิวซีแลนด์ อเมริกา และอังกฤษ

National Australia Bank (NAB)

NAB เป็นหนึ่งในสี่สถาบันทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย (คิดจากมูลค่าทางการตลาด, รายได้ และจำนวนลูกค้า) NBA ถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 21 ของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Westpac Banking Corporation

Westpac เป็นสถานบันทางการเงินและธนาคารที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Sydney ออสเตรเลีย โดยเริ่มแรกก่อตั้งขึ้นในปี 1817ในนามของ Bank of New South Wales และได้ซื้อกิจการ the Commercial Bank of Australia ในปี 1982 หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อมาใช้ Westpac Banking Corporation ในเวลาต่อมา

ทั้ง 4 บริษัทนี้ มักถูกเรียกว่าเป็น ‘Big 4’ ของออสเตรเลียเลยก็ว่าได้ นอกจากธนาคารหัวกะทิเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีธนาคารขนาดย่อมลงมาที่ให้บริการอย่างมีคุณภาพไม่แพ้กัน เช่น Adelaide Bank, Bank of Queensland หรือ Bank of Melbourne ซึ่งส่วนมากมักเป็นธนาคารประจำเมืองหรือรัฐนั้น ๆ

STEP 2 : วิธีเลือกธนาคารใน BIG 4 อย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง!​

ขั้นชื่อว่า ‘ธนาคาร’ บรรดาผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ถูกเสนอผ่านการเปิดบัญชีก็มักมาสร้างความสับสน –  ไม่แน่ใจให้กับเราอยู่เสมอ ประเทศไทยมีให้เลือกมากแค่ไหน ในออสเตรเลียก็มีไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้นการเลือกธนาคารให้เหมาะกับการใช้งานของเราเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก แล้วต้องเลือกอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง? คำตอบคือ ต้องศึกษาข้อเสนอของธนาคารแล้วนำมาเปรียบเทียบกัน แบบไหนที่ตรงกับการใช้งานของเราที่สุด นั่นจะเป็นธนาคารที่ใช่!

โดยทั้ง 4 ธนาคารระดับท็อปจะมีข้อเสนอการเปิดบัญชีสำหรับนักเรียนที่แตกต่างกัน บางธนาคารก็เหมาะกับนักชอปปิ้งตัวยง บางธนาคารก็เหมาะกับสายประหยัดที่เงินในบัญชีแทบไม่หนีไปไหน ผลประโยชน์ที่ได้ตอบแทนก็มักจะแตกต่างกันตามไปด้วย

STEP 3 : ข้อเสนอจากธนาคาร BIG 4 “เจ้าไหนดี เจ้าไหนเด่น”​

ธนาคาร Westpac Banking Corporation

Westpac เป็นธนาคารที่ถูกก่อตั้งเป็นแห่งแรกของประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุด มีสาขาให้บริการอยู่ทุกเมืองหลวงของรัฐนั้น ๆ มีข้อเสนอดังต่อไปนี้

  • ออกแบบมาเพื่อนักเรียนที่ลงเรียนแบบเต็มหลักสูตร
  • ไม่มีค่าธรรมเนียมการถอนที่ตู้ ATM 
  • ไม่มีค่าธรรมเนียมรายเดือนตลอดการเรียนทั้งหลักสูตร
  • อนุญาตให้นักเรียนต่างชาติ สามารถทำการเปิดบัญชีล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 3 เดือนก่อนเดินทางมายังออสเตรเลียได้
  • ไม่ขอที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย เมื่อเปิดบัญชีจากต่างประเทศ
  • ใช้เวลาเปิดบัญชีง่าย ๆ เพียง 5 นาที!

ธนาคาร Australia and New Zealand Bank (ANZ)

ANZ เป็นสถาบันการเงินแนวหน้าของประเทศออสเตรเลีย ไม่เพียงแต่ให้บริการเรื่องฝาก – ถอน – โอน – ดูแลบัญชีธนาคารเท่านั้น ANZ ยังมีบริการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นของตนเอง เรียกว่า ‘ANZ Foreign Exchange Service’ ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนต่างชาติสามารถแลกเปลี่ยนสกุลเงินจากประเทศของตนเป็น ดอลลาร์ออสเตรเลียได้ แถมยังสามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านบัญชีธนาคาร ANZ ของตนเองอีกด้วย ส่วนข้อเสนอของธนาคาร ANZ มีดังต่อไปนี้

  • สามารถทำการเปิดบัญชีล่วงหน้า ก่อนเดินทางเข้ามายังออสเตรเลียได้ และเมื่อเดินทางมาถึง จะสามารถทำเรื่องที่สาขา เพื่อเริ่มเปิดใช้งานบัญชีได้ทันที
  • หากใครที่วางแผนจะทำงานพาร์ทไทม์ระหว่างด้วย ANZ จะมีระบบบัญชีเพิ่มเติมที่เอื้อแก่การทำงานพาร์ทไทม์โดยเฉพาะ เรียกว่า ‘ANZ Progress Saver Account’ ที่จะมาเป็นตัวช่วยให้การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บออม โดยปราศจากค่าธรรมเนียมรายเดือน 
  • ANZ Progress Saver สามารถเชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารหลักได้โดยตรง สามารถโอนเข้า – ออก ได้อย่างง่ายดาย

ธนาคาร Commonwealth Bank of Australia

Commonwealth  เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย มีข้อเสนอให้แก่ลูกค้าแปรผันตามสินค้าและบริการ ครอบคลุมทั้งสำหรับการฝากออมและการทำธุรกิจ ที่สำคัญ ธนาคารแห่งนี้เองที่เป็น         ‘ธนาคารยอดนิยม’ ที่นักเรียนต่างชาติมักเลือกใช้ มีข้อเสนอที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  • ไม่มีค่าธรรมเนียมรายเดือน
  • ทำธุรกรรมผ่านเครือข่าย ATM – EFTPOS – เคาท์เตอร์บริการ – ทางโทรศัพท์ และผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แบบไม่จำกัดครั้ง!
  • ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงเงินตราเพียง 3%
  • สามารถทำการเปิดบัญชีล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 3 เดือนก่อนเดินทางเข้ามายังออสเตรเลียได้
  • โดยสามารถทำการเปิดบัญชีทางออนไลน์ง่าย ๆ บนเว็บไซต์ ใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น

ธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย หรือ National Bank of Australia (NAB)

ธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย ให้บริการอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ มีสาขาทั้งเมืองหลักและเมืองรอง รวมถึงมีระบบดูแลลูกค้าทางออนไลน์ มีข้อเสนอดังต่อไปนี้

  • ไม่มีค่าธรรมเนียมรายเดือน
  • ทำธุรกรรมผ่านทางโทรศัพท์และออนไลน์ ฟรี แบบไม่จำกัดครั้ง ง่ายต่อการจ่ายบิลต่าง ๆ
  • สามารถทำธุรกรรมผ่านตู้ ATM อื่น ๆ อีกกว่า 7,000 จุดทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
  • สามารถทำการเปิดบัญชีก่อนเดินทางมายังออสเตรเลียได้ ผ่านทางเว็บไซต์ทางการของธนาคาร

STEP 4 : วีธีการเปิดบัญชีง่ายๆ ฉบับนักเรียนนอก!​

เมื่อเราตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกเปิดบัญชีธนาคารที่ใด เรามาวิธีการเปิดบัญชีธนาคารง่ายๆ ที่นักเรียนนอกอย่างเราสามารำได้ด้วยตัวเองกันเถอะ

เปิดบัญชีทางออนไลน์

เข้าเว็บไซต์ของธนาคารนั้นๆที่เราเลือก ค้นหาฟังก์ชันการเปิดบัญชี อย่างเช่น ธนาคาร Commonwealth จะอยู่ในตัวเลือก Moving to Australia > Open Account ภายในหน้าเว็บไซต์จะมีตัวเลือกการเปิดบัญชีให้ตัดสินใจ ส่วนมากจะมีตัวเลือกสำหรับนักเรียนโดยเฉพาะ สังเกตได้จาก For Student

กรอกข้อมูล

ข้อมูลที่จะต้องระบุลงการเปิดบัญชีผ่านทางออนไลน์ มักจะเป็นข้อมูลส่วนตัว ชื่อ – นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล รวมถึงหมายเลขและข้อมูลบนหน้าพาสปอร์ต

รอการอนุมัติ

เมื่อเราทำการยื่นขอเปิดบัญชีผ่านทางออนไลน์เรียบร้อย จากนั้นต้องรอให้บัญชีได้รับการอนุมัติ ธนาคารจะแจ้งให้ทราบและเราจะได้รับรายละเอียดสำหรับบัญชีธนาคารฉบับใหม่ จากนั้นเราจึงสามารถโอนเงินฝากเข้าไปได้

เปิดการใช้งาน

เมื่อเดินทางถึงออสเตรเลีย เราจะต้องติดต่อขอเปิดใช้บัญชีธนาคาร ณ เคาท์เตอร์บริการของธนาคารที่เราได้ทำการเปิดไว้ล่วงหน้า โดยการยื่นแสดงพาสปอร์ตและเอกสารการยืนยันตน เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถใช้งานบัญชีธนาคารในประเทศออสเตรเลียได้ทันที

10 เชคลิสต์ ‘อย่าลืมทำ’ ก่อนตัดสินใจเปิดบัญชีในออสเตรเลีย!​

  • อย่าลืมสังเกต ธนาคารที่เราเลือก ‘มีค่าบริการ’ การเปิดบัญชีหรือไม่ 
  • อย่าลืมเช็ก ธนาคารนั้นอนุญาตให้เปิดบัญชีก่อนเดินทางเข้าประเทศไหม 
  • หากใช้บริการนายธนาคารส่วนตัว อย่าลืมตรวจสอบว่าเขาสามารถพูดภาษาเดียวกับเราได้หรือไม่
  • ไม่ใช่ทุกธนาคารที่จะเสนอค่าธรรมเนียมรายเดือนฟรี อย่าลืมเช็ก ว่าเราเข้าเกณฑ์หรือเปล่า
  • อย่าลืมเช็กว่า มีการระบุเงินฝากขั้นต่ำเท่าไหร่ในการเปิดบัญชี รวมถึงต้องมียอดเงินในบัญชีเท่าไหร่
  • อย่าลืมศึกษาให้ดี ธนาคารนั้น ๆ มีตัวเลือกธุรกรรมบัญชี ที่สามารถทำการโอนเงินไปออสเตรเลีย ผ่านบริการแลกเปลี่ยนเงินตราหรือไม่
  • อย่าลืมเช็ก การเปิดบัญชีมีตัวเลือกการใช้บัตร Visa หรือ Master Card ร่วมด้วยหรือไม่ เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มไหม และบัญชีที่เปิดสามารถใช้จ่ายทางออนไลน์ได้หรือเปล่า
  • อย่าลืมเช็ก ธนาคารของเรา มีสาขาหรือเครือข่ายกับธนาคารใดบ้าง
  • อย่าลืมเช็กให้ดี ว่ามีบริการตู้ ATM มากน้อยแค่ไหน
  • ที่สำคัญ อย่าลืมสอบถามหรือตรวจสอบ ว่าตู้ ATM มีการให้บริการในหลายภาษาหรือไม่

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Australian Dollar​

และข้อควรรู้อย่างสุดท้ายที่อยากแบ่งปันเรื่องราวใน ‘การเอาชีวิตรอดด้วยการมีบัญชีธนาคาร’ นั่นก็คือ ประเภทของเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย Australian Dollar มีชื่อย่อว่า  AUD  จะประกอบไปด้วยธนบัตรมูลค่า 5 ดอลลาร์ 10 ดอลลาร์ 20 ดอลลาร์ 50 ดอลลาร์ และ 100 ดอลลาร์

ส่วนประเภทเหรียญ จะประกอบไปด้วย เหรียญสีทองมูลค่า 1 ดอลลาร์ และ  2 ดอลลาร์ แยกกันกับ เหรียญสีเงินที่มีมูลค่า 5 เซนต์ 10 เซนต์ 20 เซนต์ และ 50 เซนต์ นอกจากนี้ราคาสินค้าที่มีเศษทศนิยมใกล้จำนวน 5 เซนต์จะถูกปัดขึ้นเป็น 5 ทันที เช่น สินค้ามูลค่า 4.22 ดอลลาร์ จะถูกคิดเงินเป็น 4.25 ดอลลาร์โดยอัตโนมัติ

พอมาถึงขั้นตอนนี้ทุกคนก็อาจจะเริ่มเข้าใจมากยิ่งขึ้น ในขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารในออสเตรเลีย รวมถึงเทคนิค – ทริค – ข้อควรรู้ ต่าง ๆ ที่ต้องรู้เอาไว้ เพราะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิต ยิ่งน้อง ๆ ไปเรียนต่อต่างแดน หรือทำงานพาร์ทไทม์ไปด้วยแล้วล่ะก็ หากเราเลือกพลาด- เลือกผิด การหาทางแก้ไขในต่างประเทศก็ต้องยุ่งยากกว่าบ้านเกิดเมืองนอนเป็นธรรมดา

Owl Campus Team