ออสเตรเลีย เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางในฝันของเหล่าเด็กนักเรียนต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก เช่นเดียวกับประเทศไทย เด็กไทยหลายคนมุ่งหวังจะเดินทางไปเรียนต่อทั้งระยะสั้นและระยะยาวยังประเทศออสเตรเลียในทุก ๆ ปี ไม่ว่าจะด้วยเพราะความเป็นมืออาชีพของสถาบันต่าง ๆ ที่มีดีกรีระดับแนวหน้าของโลก

สถาบันในออสเตรเลียมักจะติดอันดับในการจัดตารางสุดยอดของโลกเสมอ ไหนจะค่าครองชีพที่ไม่ได้สูงมากนัก ความหลากหลายของเชื้อชาติและอัดแน่นไปด้วยวัฒนธรรม จึงผลักดันให้ ‘ออสเตรเลีย’ กลายเป็นประเทศในใจของเด็กไทยหลายคน

เอาตัวรอดในออสเตรเลียด้วยการทำงานพาร์ทไทม์ #ฉบับนักเรียนนอก ยุค 2021!
เอาตัวรอดในออสเตรเลียด้วยการทำงานพาร์ทไทม์ #ฉบับนักเรียนนอก ยุค 2021!

นอกจากดีกรีการศึกษาที่อัดแน่นแล้วนั้น อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ออสเตรเลียมีเสน่ห์เพิ่มขึ้นได้แก่ การที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้นักเรียนต่างชาติที่ลงเรียนทั้งคอร์สระยะสั้นและระยะยาว สามารถทำงานชั่วคราวระหว่างเรียนได้ (Part-Time) ซึ่งข้อดีข้อนี้เองที่จะเป็นผลดีกับตัวนักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะอันดับแรกเลยคือ เด็กนักเรียนจะสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้พอสมควร รวมถึงจะได้ประสบการณ์การทำงานที่เพิ่มมากขึ้น หรือเรียกได้ว่าไปการไปเล่าเรียน นอกจากจะได้ความรู้ทางทฤษฎีแล้ว ยังแถมประสบการณ์ภาคปฏิบัติเพิ่มอีกต่างหาก มากกว่านั้น หากใครที่สนใจงานด้านท่องเที่ยวและบริการ บอกเลยว่าจะได้ฝึกงานกันจนคล่องเลยล่ะ

รัฐบาลออสเตรเลียจำกัดชั่วโมงการทำงานหรือไม่ ?​

ตามธรรมเนียมปกติ เด็กนักเรียนต่างชาติ หรือ ผู้ถือวีซ่านักเรียน (Subclass 500) จะได้รับอนุญาตให้ทำงานพาร์ทไทม์ได้ 40 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ และทำได้อย่างอิสระในช่วงปิดภาคเรียน แต่จากการอัพเดทล่าสุดเมื่อปี 2021 รัฐบาลออสเตรเลียได้ผ่อนปรนข้อจำกัดดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องด้วยประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ส่งผลให้นักเรียนต่างชาติ หรือ ผู้ถือวีซ่านักเรียน จะสามารถทำงานได้แบบไม่จำกัดชั่วโมง

วิธีเตรียมตัวและเทคนิคในการหางานที่ออสเตรเลีย ฉบับเด็กนักเรียน​

การเตรียมตัวของเด็กนักเรียนพร้อมเทคนิคในการหางานพาร์ทไทม์ทำที่ออสเตรเลีย ทาง Owl Campus นั้นมีคำแนะนำ ดังนี้

จากประสบการณ์ของพี่ๆ Owl Campus Team ^^
  • เปิดบัญชีธนาคารของออสเตรเลีย
  • ลงทะเบียนออนไลน์ขอเลข TFN หรือ Tax File Number (ทำเองได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย)
  • เตรียมเรซูเม่ฉบับภาษาอังกฤษ
  • ฝึกการสัมภาษณ์งานและหาข้อมูลของสถานประกอบการที่ต้องการสมัคร

เทคนิคการหางาน​

การหางานพาร์ทไทม์ในฐานะนักเรียนต่างชาติสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 : Walk-In​

รูปแบบการ walk-in เป็นการยื่นสมัครด้วยตนเองที่สถานประกอบการนั้นๆ ในรูปแบบนี้เราจะต้องใส่ใจในบุคลิกภาพและท่าทีเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความประทับใจแรกให้แก่นายจ้าง รวมถึงจะต้องมีความรู้ในกิจการนั้นๆเบื้องต้นและอย่าลืมที่จะฝากเรซูเม่ไว้เสมอ ถึงแม้จะไม่สามารถติดต่อกับผู้จัดการห้างร้านได้โดยตรง

รูปแบบที่ 2 : ยื่นสมัครออนไลน์​

ในออสเตรเลียจะมีเว็บไซต์หางานอยู่มากมาย เช่น Seek , CareerOne หรือ Indeed เว็บไซต์ดังกล่าวจะมีฟังก์ชันการใช้งานไม่ต่างกับของไทยที่เราคุ้นชิน ในหน้าเว็บไซต์จะประกอบไปด้วยแถบค้นหา ตามสายงาน หรือ คำจำกัดความเฉพาะ มีให้ค้นหาตามพื้นที่กว้าง-แคบ ตามเมืองที่เราอยู่อาศัย

รายละเอียดงานต่างๆจะถูกระบุไว้อย่างละเอียดและชัดเจน ทั้งชื่อตำแหน่ง ขอบเขตและหน้าที่ของการทำงาน ค่าตอบแทนที่จะได้รับและสวัสดิการอื่นๆ นอกจากนี้เว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง Seek ยังมีรายละเอียดยิบย่อยไปถึงตัวอย่างคำถามที่จะต้องเจอหากถูกเรียกสัมภาษณ์ด้วย นั่นหมายความว่า เราจะสามารถเตรียมตัวได้อย่างถูกต้องและเข้าใจเป้าหมายของนายจ้างนั่นเอง

รูปแบบยื่นสมัครออนไลน์นี้มีข้อดีตรงที่ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องออกเดินเท้าไปตามบริษัทด้วยตนเอง และเหมาะกับยุคเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีที่นักเรียนคนใดมีบริษัทห้างร้านในใจอยู่ก่อนแล้ว สามารถยื่นสมัครผ่านเว็บไซต์ทางการของบริษัทนั้นๆได้อีกทางหนึ่งด้วย จะทำให้เราได้งานที่ใช่อย่างที่ชอบแบบเป๊ะๆเลยล่ะ

รูปแบบที่ 3 : โทรศัพท์ไปยังร้านค้าหรือบริษัทนั้นๆ​

การหางานทางโทรศัพท์ ซึ่งวิธีนี้อาจดูเก่าไปสักหน่อยแต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้ผล หากสายงานที่เราต้องการสมัครนั้นเกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสาร วิธีนี้จะเป็นเหมือนการสัมภาษณ์กลายๆเลยก็ว่าได้ แต่การจะหางานด้วยรูปแบบนี้ได้จะต้องเป็นคนที่มั่นใจในภาษาอังกฤษและการพูดที่ฉะฉาน ส่วนมากมักเป็นสายงานบริการจำพวก Call Centre

เมื่อเตรียมตัว เตรียมความพร้อมสำหรับการสมัครงาน ขั้นตอนต่อไปเราก็จะต้องรู้ก่อนว่า ตลอดงานในออสเตรเลียภาคส่วนใดบ้างที่เปิดโอกาสให้เหล่านักเรียนต่างชาติสามารถทำงานชั่วคราวระหว่างเรียนได้ และอุตสาหกรรมใดเสนอตำแหน่งอะไรบ้าง

5 ประเภทงานพาร์ทไทม์ในออสเตรเลีย ที่เหมาะกับนักเรียนต่างชาติ!

ห้างร้านหรือร้านสะดวกซื้อ

สายงานนี้จะเป็นการทำงานตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าขายปลีกต่าง ๆ หรือร้านสะดวกซื้อ เช่น Coles หรือWoolworths ทั้ง 2 เป็นร้านสะดวกซื้อที่เทียบได้กับ Big C หรือ Tesco Lotus ของไทย การทำงานในประเภทนี้จึงเน้นไปที่งานบริการเป็นหลัก ไม่ว่าจะแผนกจัดของ ดูแลลูกค้า หรือ แคชเชียร์ เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่ม

ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม จะเป็นการทำงานในร้านอาหาร บาร์ ผับ ไนต์คลับ หรือร้านกาแฟ ซึ่งเป็นงานที่เด็กนักเรียนให้ความสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะเด็กไทย เนื่องจากที่ออสเตรเลียนั้นมีร้านอาหารไทยอยู่ไม่น้อย บรรยากาศการทำงานจึงดูใกล้ตัวและอบอุ่นมากกว่า รวมถึงเจ้าของร้านหลายคนอาจเป็นคนไทย ทำให้ง่ายต่อการติดต่อ หรือหากใครที่อยากท้าทายตนเองเพิ่มขึ้น ตามร้านอาหารท้องถิ่นก็ยังยินดีต้อนรับเด็กนักเรียนเสมอ แต่อย่าลืมอ่านข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วยนะ

การทำงานในประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นตำแหน่ง พนักงานเสิร์ฟ ผู้ช่วยบาริสต้า ผู้ช่วยบาร์เทนเดอร์ หรือผู้ช่วยงานครัว เป็นต้น

ภาคเกษตรกรรม

สายอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นอีกหนึ่งสายงานที่น่าทำไม่แพ้กัน อาชีพคนเก็บผลไม้ (Fruit Picker) เป็นอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดงานอยู่แทบตลอดเวลา

การขายและติดต่อสื่อสาร

สายงานนี้อาจจำเป็นต้องอาศัยใช้ทักษะในการสื่อสารค่อนข้างสูง การทำงานชั่วคราวเป็นพนักงานรับโทรศัพท์ หรือ Call Centre ก็เป็นอีกอาชีพที่สนใจสำหรับนักเรียนต่างชาติ

การสอนทักษะเฉพาะ หรือ Tutor

ติวเตอร์ อาชีพที่ไม่ไกลเกินตัว แต่ต้องอาศัยทักษะและความรู้ความสามารถเฉพาะตนที่สูงทีเดียว อาชีพนี้อาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไหนไกล สามารถรับสอนภายในสถานศึกษาหรือทางออนไลน์ สะดวกแถมรายได้ดีอีกด้วย

ค่าตอบแทน​

ตามมาตรฐานแล้วค่าแรงขั้นต่ำในออสเตรเลียอยู่ที่ประมาณ 19.84 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 483 บาทต่อชั่วโมง ถือเป็นค่าแรงที่สูงมากทีเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การทำงานพาร์ทไทม์ของนักเรียนนอก หรือ ผู้ถือวีซ่านักเรียนในออสเตรเลียนั้นก็จะมีอัตราค่าจ้างขึ้นอยู่กับสถานประกอบการ ห้างร้าน หรือบริษัทที่เป็นผู้จ้าง

เมื่อทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว น้องๆที่กำลังเตรียมตัวไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จะได้เตรียมตัวได้พร้อมมากขึ้นและทาง Owl Campus ขออวยพรให้ทุกๆคนประสบความสำเร็จในการเรียนอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ถ้าตอนที่เรียนอยู่แล้วมีปัญหาการเงินจริงๆ ติดต่อที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับนักเรียนได้นะ ลองอ่านบทความนี้ต่อดูจ้า กองทุน – ทุนการศึกษา – เงินกู้ ขณะเรียนต่อที่ออสเตรเลีย

Owl Campus Team