หลายคนมักคุ้นชินกับระบบการศึกษาแบบปกติ ระบบที่มีเพียงโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน แต่รู้หรือไม่ว่า ในอีกหลายประเทศกลับมีตัวเลือกที่หลากหลายมากไปกว่านั้น ในวันนี้ เราจึงอยากจะหยิบยก – ถกประเด็นในเรื่อง “Home Schooling” อีกหนึ่งรูปแบบการเรียน – การสอนสุดพิเศษ ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์เด็กนักเรียนหรือผู้ปกครองเฉพาะกลุ่ม ผู้มีจุดประสงค์ต่างจากหลายครัวเรือน
Home School คืออะไรนะ?
บ้างก็อาจเคยได้ยิน บ้างก็อาจไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่ จริง ๆ แล้ว ระบบ Home School คือรูปแบบที่ใช้กันมาอย่างเนิ่นนาน เพียงแต่อาจไม่แพร่หลายเป็นวงกว้างเท่าไหร่นัก เหตุผลส่วนใหญ่อาจเป็นเพราะด้วยข้อจำกัดที่ซับซ้อน รวมถึงข้อกฎหมายที่แตกต่าง เช่นเดียวกับในอเมริกา Home School ถือว่าเป็นข้อกฎหมายทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับและมีการนิยมใช้ในบางกลุ่ม จากคำจำกัดความของการศึกษาแบบ Home School ถูกระบุเอาไว้ว่า “เปรียบเสมือนโรงเรียนที่ผู้ปกครอง จะสามารถออกแบบและสอนหลักสูตรวิชาการได้แก่บุตรหลานได้เองที่บ้าน” แทนที่จะเป็นการเรียนการสอนจากสถาบันของรัฐหรือเอกชน
เอาล่ะ ก่อนจะเขยิบไปพูดถึง Home School ในสหรัฐอเมริกา ขอเท้าความกันสักเล็กน้อยก่อนว่า จริง ๆ แล้วเจ้า Home School เป็นระบบที่เริ่มเติบโตมาตั้งปี ค.ศ. 1970 เชียวนะ ประมาณ 50 ปีก่อนเห็นจะได้ สืบเนื่องมาจากนักเขียนและนักวิจัยในขณะนั้น นามว่า John Holt ชาวอเมริกัน ได้ริเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา โดยแนะนำต่อสังคมว่า โฮมสคูลเป็นตัวเลือกทางการศึกษาที่ดี โดยจอห์นเลือกหยิบใช้คำว่า “Homeschooling” ในการอธิบายกระบวนการดังกล่าวนี้

เวลาต่อมาจอห์นเขียนหนังสือที่ชื่อว่า Teach Your Own : The John Holt Book of Homeschooling เป็นเนื้อหาที่เล่าและอธิบายถึงกระบวนการและสาเหตุว่าทำไม เด็ก ๆ ถึงสามารถเติบโตและเรียนรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียน หรือ ไม่จำเป็นต้องไปบ่อยเช่นปกติ แนวคิดดั้งเดิมของจอห์นน่าสนใจไม่น้อย เขาบรรยายเจตนาของเขาผ่านตัวอักษรประมาณว่า
ชีวิตของผู้คนล้วนเคยชินกับการอยู่ร่วมกับโรงเรียน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ซึ่งนั่นล้วนกลายมาเป็นสิ่งที่ขาดหายไม่ได้ในปัจจุบันเสียแล้ว แต่สักวันหนึ่งเราอาจจำเป็นต้องใช้ชีวิตโดยปราศจากสิ่งเหล่านั้น กับความจริงอีกด้านที่ว่า เราไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากบ้าน ในความคิดจอห์น สังคมประสบปัญหาทางด้านการศึกษาที่ไม่สามารถเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงเรียนได้ มีแต่จะเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นดั่งบ้านแทน
John Holt
ซึ่งถ้าหากเราคิดตามเป็นลำดับขั้นตอนล่ะก็ จะเห็นได้ว่าความคิดของจอห์นก็ฟังดูเข้าท่าไม่น้อยเลย เพราะจริง ๆ แล้วเราหลายต่อหลายคน ต่างคุ้นเคยกับการเรียนในสถาบันการศึกษามาแล้วทั้งชีวิต.
บทบาทของ Home Schooling ในอเมริกา
Home schooling หรือ โฮมสคูล เป็นรูปแบบการเรียนที่ถูกกฎหมายทั่วทั้งยุโรป รวมไปถึงประเทศแนวหน้าทางการศึกษา อย่าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือแม้แต่ฮ่องกง และแอฟริกาใต้ ก็ล้วนแต่ได้รับการยอมรับในข้อกฎหมายทั้งสิ้น เฉกเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา
แท้จริงแล้ว “หลักสูตร Home School เป็นโมเดลการศึกษา ที่ไม่ได้มีเฉพาะการศึกษาด้วยตนเองที่บ้าน หรือ นอกห้องเรียนเท่านั้น” แต่ยังมีรูปแบบการเรียนภายในห้องเรียนแบบปกติอีกด้วย เพียงจะมีความต่างจากระบบทั่วไปตรงที่ เด็ก ๆ สามารถเลิกเรียนได้ตามความต้องการ หากเด็ก ๆ มีความสนใจเฉพาะด้านไปทางไหน ผู้ปกครองก็จะผลักดันเด็ก ๆ ให้ไปทางนั้นได้อย่างเต็มที่ พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มักเลือกออกแบบหลักสูตรผ่านการเลือกสรรหนังสือและสื่อการสอนให้กับบุตรหลานเสียมากกว่า.

โฮมสคูลได้กลับกลายมาเป็นกระแสอีกครั้งอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อิงจากสถาบันวิจัยการศึกษาแห่งชาติ National Home Education Research Institute ระบุว่า “สหรัฐอเมริกา มีจำนวนนักเรียนเข้าสู่ระบบโฮมสคูลประมาณ 2.5 ล้านคน” ตั้งแต่ระดับอนุบาล – ประถม – มัธยมศึกษา และในปัจจุบัน Home School ได้กลายมาเป็นกระบวนการทางกฎหมายอย่างถูกต้องใน 50 รัฐของอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดอันซับซ้อน ทำให้กฎระเบียบของโฮมสคูลแต่ละรัฐภายในอเมริกา จะแปรผันตามตัวเด็กนักเรียน – ผู้ปกครองอีกทีหนึ่ง
เด็กนักเรียนที่จบการศึกษาจากระบบ Home School ในอเมริกาจะได้รับประกาศนียบัตรเช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐและเอกชนอื่น ๆ วิทยาลัยส่วนมากยอมรับวุฒิการศึกษาจากโฮมสคูล แต่อาจจำเป็นต้องแนบมาด้วยการวัดระดับคะแนน SAT (การทดสอบความถนัดทางภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์) หรือ ACT : American College Testing Assessment ควบคู่กัน
แนะนำอ่านต่อ : รายละเอียดของการสอบ SAT
ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูงที่ยอมรับนักเรียนผู้สำเร็จการศึกษาจากโฮมสคูลมากถึง 800 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และ มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) มากไปกว่านั้นการเติบโตของโฮมสคูลยังไปเข้าตาสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน นั่นก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ทำให้สถาบันเหล่านั้นเริ่มสนับสนุนสื่อการสอน การเวิร์กช็อป ในชั้นเรียนพิเศษนี้
6 ขั้นตอนที่ควรรู้ ก่อนเริ่มเข้าวงการ Home School
หัวข้อนี้อาจตรงใจผู้ปกครองรุ่นใหม่ที่กำลังสนใจกับระบบโฮมสคูลในอเมริกา ณ ขณะนี้ และนี่คือ 6 ขั้นตอนก่อนที่ต้องศึกษาก่อนก้าวเข้าสู่วงการ Home School!
STEP 1 : ศึกษาข้อกฎหมายของรัฐที่อาศัยอยู่ในอเมริกา
เนื่องด้วยข้อกำหนดของโฮมสคูลในอเมริกาจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ผู้ปกครองจำเป็นต้องศึกษาข้อกำหนดของรัฐที่ต้องการทำโฮมสคูล โดยทางเว็บไซต์ Homeschool.com เป็นช่องทางช่วยเหลือที่ให้ความรู้ในข้อกำหนดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นทั้งอายุเริ่มต้นของเด็ก ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ทำโฮมสคูลได้ หลักสูตรที่จำเป็น ตลอดจนเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติม
STEP 2 : ค้นหาวิธีการที่ใช่สำหรับเด็ก ๆ
ก่อนอื่นเลย คนเป็นพ่อและแม่ จะต้องตั้งคำถามและตอบตัวเองให้ได้ว่า “ทำไม!? ถึงต้องการให้บุตรหลานเข้าเรียนฉบับโฮมสคูล” และนั่นจะนำไปสู่เส้นทางขั้นตอนต่อไปว่า แล้วจะเรียนแบบไหน? โฮมสคูลในแต่ละรัฐ / แต่ละแห่ง จะมีความแตกต่างกัน นักเรียนในระบบโฮมสคูลส่วนใหญ่เลือกที่จะออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองในสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้น การที่ทุกครอบครัวมีความต่างเป็นของตัวเอง ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องสรรหาวิธีการ – รูปแบบการเรียนรู้แบบโฮมสคูลของเด็ก ๆ ในวิถีของตัวเองด้วย
STEP 3 : รู้ความต้องการของลูก
แน่นอนว่าประเด็นนี้ คือสิ่งสำคัญอย่างมากและเป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อและแม่ควรใส่ใจให้มากที่สุด นั่นก็คือ ความต้องการและความถนัดของเด็ก ๆ พวกเขาเหล่านั้นย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตนและความสามารถแอบแฝงอยู่ การค้นหาว่าพวกเขาชอบอะไร – มีความสนใจด้านใดเป็นพิเศษ ปัจจัยเหล่านี้จะหลายมาเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการศึกษาของลูก ๆ ได้ในที่สุดนั่นเอง
STEP 4 : หาหลักสูตรโฮมสคูลที่ใช่
ด้วยความหลากหลายอย่างบอกไม่ถูก ที่ให้ทั้งอิสระและเสรีภาพในการตัดสินใจ ส่งผลให้การเลือกหลักสูตรโฮมสคูลที่ใช่สำหรับเด็ก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนปอกกล้วย! ฉะนั้นพ่อแม่ – ผู้ปกครอง จึงอาจจำเป็นอย่างยิ่งในการหาพี่เลี้ยงผู้เชี่ยวชาญ หรือ บุคคลที่เคยมีประสบการณ์ตรงในระบบโฮมสคูลมาก่อน นำไปสู่การปรึกษา ตลอดจนถกปัญหาที่พบ เพื่อหาหลักสูตรที่ตรงใจ นอกจากนี้ ในปัจจุบัน รูปแบบคำแนะนำของโฮมสคูลได้ปรับเปลี่ยนตามยุคกระแส New Normal มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น Virtual Homeschool Convention
STEP 5 : เริ่มวางแผน
จาก 4 ขั้นตอนด้านบน ถัดมาก็ถึงขั้นตอนลงมือทำ การเริ่มวางแผนโฮมสคูลของลูก ๆ จำเป็นต้องทำแผนการตลอดทั้งปี สร้างเป้าหมาย ขอบเขตและลำดับความสำคัญ รวมไปถึงการสร้างแผนรายวัน / รายสัปดาห์
STEP 6 : อย่าลืมที่จะบันทึกสถิติการศึกษารูปแบบโฮมสคูล
หากเป็นการศึกษาตามปกติ การเก็บบันทึกข้อมูลและสถิติคงเป็นหน้าที่ของครูผู้ช่วยคนใดคนหนึ่งของสถาบัน แต่สำหรับโฮมสคูลแล้วนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรใส่ใจและดูแล ไม่ว่าจะการเก็บหนังสือทั้งในรูปแบบเล่ม หรือ ออนไลน์ บันทึกสถิติต่าง ๆ ในรูปแบบสเปรดชีต เพื่อไล่ดูพัฒนาการของเด็ก ๆ และยังทำให้พวกเขาสามารถเห็นการก้าวหน้าของตัวเองได้
บทความนี้หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ปกครองที่สนใจในการทำโฮมสคูลให้เด็ก ๆ นะคะ และถ้าหากคุณพ่อคุณแม่สนใจในการทำ Home Schooling ในประเทศไทย สามารถอ่านต่อได้ที่บทความนี้ค่ะ จะมีขั้นตอนพร้อมรายละเอียดทั้งหมด ในการทำโฮมสคูลหรือบ้านเรียนในไทยค่ะ
แนะนำอ่านต่อ : บ้านเรียน หรือ Home School คืออะไร?