แน่นอนว่าสำหรับคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองหลาย ๆ คน คงอยากจะรีบส่งเด็ก ๆ ให้ได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนสอนดนตรีตั้งแต่ช่วงขวบปีแรก เพราะมีความเชื่อที่ว่ายิ่งเด็ก ๆ ได้เข้าไปเรียนดนตรีได้อย่างรวดเร็วมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะกลายเป็นอัจฉริยะที่มีความเก่งกาจในด้านการเล่นดนตรีมากเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้วการเริ่มต้นเรียนดนตรีเร็ว ไม่ใช่การสร้างอัจฉริยะเลยแม้แต่น้อย กลับกันอาจเป็นการสร้างบาดแผลครั้งใหญ่ให้กับเด็ก ๆ เลยก็ว่าได้ ดังนั้นแล้วบ้านไหนที่ยังชั่งใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นเรียนดนตรีของเด็ก ๆ อยู่ มาลองหาคำตอบจากบทความนี้กันเลย!!

การเริ่มต้นเรียนดนตรีควรเริ่มจากการทำความเข้าใจ

สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญมากไปกว่าการทราบช่วงอายุที่เหมาะสมของเด็ก ๆ ในการเริ่มเรียนดนตรี นั่นก็คือเรื่องของ “การทำความเข้าใจ” เพราะยังมีคุณพ่อคุณแม่อีกหลายคนยังคงคาดหวังว่าการเรียนดนตรีในเด็กเล็กนี้จะทำให้พวกเขากลายเป็นอัจฉริยะด้านดนตรีในสักวันหนึ่ง

ดังนั้นอย่างแรกที่แต่ละบ้านจะต้องเริ่มทำความเข้าใจก่อนก็คือ การส่งลูกน้อยหรือเด็กเล็กให้เรียนดนตรีเป็นเพียงการฝึกทักษะอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับการเล่นกีฬา ปั่นจักรยาน ปั้นดินน้ำมัน โยนบอล วาดภาพระบายสี หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ควรใช้การบังคับหรือการตั้งความหวังว่าเด็ก ๆ จะต้องสามารถแสดงทักษะทางดนตรีออกมาได้เป็นอย่างดี เพราะเด็กเล็กยังคงอยู่ในช่วงวัยที่พร้อมเปิดรับกับกิจกรรมใหม่ ๆ เสมอ ซึ่งนั่นหมายความ “ว่าการเรียนดนตรีไม่ใช่ทั้งหมดของการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก” แต่มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ สามารถเติบโตขึ้นไปพร้อมกับพัฒนาการที่เปี่ยมล้น และหากเมื่อเด็ก ๆ เติบโตไปถึงช่วงวัยที่พวกเขาสามารถตัดสินใจเองได้แล้วว่า เขาจะมุ่งมั่นไปกับการทำกิจกรรมด้านไหน ในช่วงเวลานั่นแม่ ๆ ค่อยสนับสนุนพวกเขาอย่างเต็มที่อีกครั้งก็ได้!

การเรียนดนตรีไม่ใช่ทั้งหมดของการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก
ดนตรีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก การเล่นของเล่นบล็อกไม้ก็ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเช่นกัน

เพราะไม่อยากนั้นแล้วเมื่อเกิดการบังคับ เข้มงวดหรือตั้งความหวังกับการเรียนดนตรีในเด็กเล็กมากจนเกินไป อาจจะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเบื่อ หรือไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้จักสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเติม ซึ่งนั่นก็จะส่งผลให้เขารู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง เกิดการเก็บตัว ก้าวร้าว หรือเป็นคนเจ้าอารมณ์ ดังนั้นแล้วจึงควรให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้กิจกรรมที่หลากหลายควบคู่ไปกับการเรียนดนตรีด้วย โดยกิจกรรมเหล่านั้นอาจจะไม่ต้องลงเรียนหรือเข้าคอร์สอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ร่วมกันทำกิจกรรมสนุก ๆ กับเด็ก ๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น วาดรูป อ่านหนังสือ ร้องเพลง วิ่งเล่น ออกกำลังกาย ฯลฯ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เค้าได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และได้สำรวจความต้องการของตัวเองโดยไม่รู้สึกว่าถูกบีบบังคับจนเกินไป

ช่วงวัยที่เหมาะกับการเริ่มเรียนดนตรีมากที่สุด

สำหรับช่วงวัยที่เหมาะกับการเริ่มเรียนดนตรีในเด็กเล็กมากที่สุดคงหนีไม่พ้นช่วงวัย 2-7 ปี เพราะแน่นอนว่าในช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่เริ่มมีพัฒนาการในด้านทักษะการฟังสูง ซึ่งเมื่อได้เข้ามาเรียนดนตรีก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วในช่วงวัย 2 ปี ยังเป็นช่วงวัยที่เด็ก ๆ เริ่มมีพัฒนาการที่หลากหลาย ทั้งด้านการเคลื่อนไหว การพูด การคิด และการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมจึงเห็นเด็ก ๆ ในช่วงวัย 2 ขวบเริ่มเข้ามาเรียนดนตรีกันแล้ว

และที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือเรื่องของการพัฒนาการด้านสมอง ซึ่งแน่นอนว่าจะพัฒนาได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงขวบปีแรกไปจนถึงอายุ 10 ปี ดังนั้นแต่ละบ้านควรใช้กิจกรรมต่าง ๆ ในการกระตุ้นสมองของลูกน้อยตลอดช่วงวัยนี้ ซึ่งกิจกรรมที่สามารถช่วยได้ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสมอง ก็คือการ “เรียนดนตรี” นั่นเอง

ก่อนจะพาเด็ก ๆ เข้าสู่โลกของการเรียนดนตรี

นอกจากการทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และรู้ถึงช่วงวัยที่เหมาะสมกับการเรียนดนตรีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือเรื่องของการพาเด็ก ๆ ค่อย ๆ เข้าสู่โลกของดนตรี ซึ่งทุกบ้านนั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลงให้เด็ก ๆ ฟัง การร้องเพลงร่วมกัน การร้องเพลงกล่อมนอน หรือแม้กระทั่งการพาเด็ก ๆ ไปพบเจอกับการแสดงดนตรีต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการกระตุ้นทัศนคติในเชิงบวกที่เด็ก ๆ มีต่อดนตรีทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วค่อย ๆ พาพวกเขาเข้าไปสู่โลกของดนตรีอย่างช้า ๆ ก่อนที่จะมาเริ่มเรียนดนตรีเพื่อเสริมสร้างทักษะอย่างจริงจัง เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างแน่นอน

การเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่ช่วงอายุ 2 ขวบนั้น เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญนั่นก็คือแต่ละบ้านควรสังเกตและพิจารณาถึงความพร้อมของเด็ก ๆ ว่าเขาเหล่านั้นพร้อมที่จะเข้าสู่โลกของการเรียนดนตรีแล้วหรือไม่ และต้องทำความเข้าใจเสมอว่าจะประสงค์ของการเรียนดนตรีในเด็กเล็กคือการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

Owl Campus Team