หากผู้ถึงปัญหาของโลกในปัจจุบัน นอกจากปัญหาที่เราควบคุมได้อย่างอย่างวิกฤติโลกร้อนหรือปัญหาภูมิอากาศแล้ว ในสังคมมนุษย์เองก็กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ “ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ” อันมีสาเหตุมาจากการที่มีอัตราการเกิดต่ำ ขณะที่ประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการสำรวจประชากรโลกในปี 2020 พบว่า ประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดก็คือ “ประเทศญี่ปุ่น”
ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 ในปัจจุบัน ปี 2020 ที่ทำการสำรวจนั้น ปรากฏว่าญี่ปุ่นมีประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 36.17 ล้าน คิดเป็น 28.7% ของประชากรทั้งหมด และจะพุ่งสูงไปถึง 35.3% ในปี 2040 (Ref. www.japantimes.co.jp)
สำหรับประเทศไทยเรานั้นเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2005 ปัจจุบันปี 2021 มีประชากรสูงอายุคิดเป็น 12.8% ของประชากรทั้งหมด และจะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” หรือมีผู้สูงวัยมากถึง 14% ของคนทั้งประเทศในปี 2565 ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ปัญหาสังคมนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และองค์กรต่าง ๆ ควรตั้งรับให้พร้อม โดยเฉพาะการวางระบบการศึกษาให้รองรับปัญหานี้ในอนาคต.
อาชีพที่กำลังมาแรงในสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น
หากใช้ประเทศญี่ปุ่นเป็น Case Study ในการศึกษาการรับมือสังคมผู้สูงอายุ จะเห็นได้ว่าช่วงหลังมานี้ “ญี่ปุ่นมีนโยบายเปิดรับแรงงานและนักศึกษาจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้น” เพื่อแก้ไขปัญหาวัยแรงงานชาวญี่ปุ่นที่มีจำนวนลดลง ในขณะเดียวกันก็มีสาขาอาชีพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุเกิดขึ้นมากมายในญี่ปุ่น
นักบริบาล
ในภาษาญี่ปุ่น เราจะเรียกอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุว่า “ไคโงะ” หรือนักบริบาล ปัจจุบันญี่ปุ่นมีธุรกิจที่เปิดรับเจ้าหน้าที่ตำแหน่งนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติเพื่อตอบสนองความต้องการใช้สถานบริบาลที่เพิ่มมากขึ้นของผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่น สำหรับอาชีพนักบริบาลนี้จะต้องทำหน้าที่คอยช่วยเหลือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือทำบางอย่างได้เหมือนวัยหนุ่มสาม เรื่องรายได้นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะไคโงะยังเป็นอาชีพที่หาคนมาทำงานได้ยาก “ในแต่ละเดือนอาจได้ค่าตอบแทนมากถึง 60,000-100,000 บาทเลยทีเดียว”
สำหรับประเทศไทยก็เริ่มมีสถาบันด้านการบริบาลเพื่อส่งนักศึกษาไปเป็นบุคคลากรด้านการบริบาลที่ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ เช่น โรงเรียนราชสีมาการบริบาล จังหวัดนครราชสีมา โรงเรียนรามบริรักษ์เชียงใหม่ ที่เปิดหลักสูตรการบริบาลดูแลผู้สูงอายุ พร้อมเรียนภาษาญี่ปุ่น เพื่อไปฝึกงานและทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ปกติแล้วหลักสูตรบริบาลจากสถาบันต่าง ๆ จะทำการฝึกเป็นเวลา 8-12 เดือน นอกจากนี้มหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยอาชีวศึกษาของญี่ปุ่นยังมีทุนการศึกษาสำหรับหลักสูตรบริบาลมอบให้กับนักศึกษาต่างชาติอีกด้วย
แนะนำอ่านต่อ : มาทำความรู้จักกับระบบวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่ญี่ปุ่น
นักโภชนาการผู้สูงอายุ
แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของเราคือ “อาหาร” และเมื่อประชากรในญี่ปุ่นมีจำนวนสูงขึ้น และความต้องการใช้สถานบริบาลก็เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องดูแลเลยคือ โภชนาการของผู้สูงอายุ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในญี่ปุ่นจึงตื่นตัวกันมาก และนักโภชนาการที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ก็ย่อมต้องเป็นที่ต้องการสูงขึ้นเป็นธรรมดา
ธุรกิจสถานบริบาล
จากการสำรวจของสภาสวัสดิการผู้สูงอายุแห่งชาติของญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจบ้านพักคนชรา 951 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นแล้วพบว่า ปี 2019 มีจำนวนผู้สูงอายุเข้ารับบริการมากถึง 89.9% ของจำนวนที่สามารถรองรับได้ และคาดว่าจะมีจำนวนสูงมากยิ่งขึ้นในอนาคต ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจสถานบริบาลนั้นกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก (Ref. prtimes.jp)
หลักสูตรที่มีการเปิดวิชาเฉพาะทางเพื่อดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
ด้วยสภาพปัญหาสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเช่นนี้ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะ “วิทยาลัยอาชีวศึกษา” จึงเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตรการพยาบาลเพื่อการบริการและการดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ (Nursing (caregiving) and wellness) ในสาขาการศึกษาและสวัสดิการทางสังคม (Education/ Social Welfare) ขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อผลิตบุคคลากรไปทำหน้าที่ช่วยเหลือและดูแลผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย สุขภาพ และจิตใจ รวมถึงผู้ที่สามารถให้คำแนะนำการดูแลผู้สูงอายุแก่คนอื่นได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งจะครอบคลุมความรู้ด้านการพยาบาล โภชนาการ สุขภาพ และจิตวิทยาของผู้สูงอายุ
ผู้ที่เรียนจบในสาขานี้ ส่วนมากแล้วจะไปเป็น “นักบริบาล ดูแลผู้สูงอายุตามบ้านพักคนชราต่าง ๆ” ซึ่งในหนึ่งวันจะต้องดูแลทั้งอาหารการกิน ดูแลสถานบริบาลให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี ตรวจเช็คสุขภาพของผู้สูงอายุ ในกรณีที่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นักบริบาลจะต้องคอยช่วยเหลือด้านการทานอาหาร การอาบน้ำ เป็นต้น นักบริบาลจะมีทั้งผู้ที่ประจำอยู่ในสถานที่นั้น และผู้ที่ต้องไปเยี่ยมผู้สูงอายุตามบ้าน
หากมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังสามารถทำงานสายวิชาการในด้านการดูแลผู้สูงอายุได้อีกด้วย เช่น “ครูในโรงเรียนฝึกอบรมนักสวัสดิการผู้สูงอายุ” ได้อีกด้วย สำหรับอาชีพนี้ จะต้องมีประสบการณ์ในด้านการสวัสดิการสังคม เช่น พยาบาล แพทย์ นักสวัสดิการผู้สูงอายุ มาแล้ว 5 ปีขึ้นไป รวมไปถึง “ผู้บรรยายให้นักฝึกอบรมบุคลากรด้านงานบริบาลขั้นต้น” ซึ่งต้องมีประสบการณ์ทางด้านนี้ 5 ปีขึ้นไปเช่นเดียวกัน (Ref. www.acpa-main.org)
วิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในด้านการดูแลผู้สูงอายุสำหรับนักศึกษาต่างชาติ
Asahikawa Welfare Professional Training College
วิทยาลัยอาชีวศึกษาของจังหวัดฮอกไกโดแห่งนี้ มุ่งผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านสวัสดิการทางสังคมอย่างมืออาชีพ มีทั้งหลักสูตรการดูแลเด็ก การดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
สำหรับหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุนั้น มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุที่สามารถให้บริการได้จากใจจริง สามารถเข้าใจผู้สูงอายุได้อย่างลึกซึ้งจากปัจจัยหลาย ๆ ด้าน “การันตีด้วยอัตราการจ้างงาน 100% ของผู้สำเร็จการศึกษา” มีการลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานจริง และที่สำคัญคือ มีนักศึกษาต่างชาติ ทั้งจากไทย เวียดนาม เกาหลี เข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก
เงื่อนไขการรับสมัคร
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย หรือระดับมหาวิทยาลัย
- ต้องมีการส่งเรียงความแสดงสาเหตุที่อยากเข้าเรียน และเข้ารับการสัมภาษณ์จากสถาบัน
- มีผลการสอบวัดระดับ N2 ขึ้นไป
- ระยะเวลาหลักสูตร 2 ปี
- มีทุนสำหรับนักศึกษาต่างชาติ และเมื่อจบแล้วจะต้องเข้าทำงานในสถานบริบาลที่จังหวัดฮอกไกโด เป็นเวลา 5 ปี
เว็บไซต์หลักสูตร : www.hokko.ac.jp/kyokufuku/course_kaigo
O-hara College of Business
วิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งนี้ตั้งอยู่ที่โตเกียว เปิดทำการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 จนปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 60 แล้ว จุดเด่นของที่นี่ก็คือมีหลักสูตรที่ครอบคลุมในหลากหลายอาชีพ ทั้งด้านการแพทย์ การสวัสดิการสังคม เกม เป็นต้น ซึ่งจะทำการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น ทั้งวิชาการและการปฏิบัติจริง สำหรับหลักสูตรนักบริบาลผู้สูงอายุนั้นจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ “หลักสูตรสำหรับปฏิบัติงานจริง” และ “หลักสูตรสำหรับการต่อยอดอาชีพ” เปิดรับสมัครช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี
- หลักสูตรสำหรับปฏิบัติงานจริงนั้น จะเน้นการเรียนการสอนให้สามารถสอบใบวิชาชีพนักบริบาลได้ภายใน 2 ปี และจะมีการฝึกงานเพื่อให้ได้สัมผัสกับผู้สูงอายุในสถานการณ์จริง
- หลักสูตรสำหรับการต่อยอดอาชีพ นอกจากจะเรียนวิชาด้านการบริบาลแล้ว นักศึกษายังสามารถเลือกเรียนวิชาเสริมได้ตามอิสระ เหมาะสำหรับผู้ที่มีงานประจำ
แต่สำหรับวิชาเรียนทั่วไปของทั้งสองแบบจะไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น วิชาการเข้าใจมนุษย์ เทคนิคการสื่อสาร การบริบาลในชีวิตประจำวัน องค์ประกอบของจิตใจและร่างกาย การบริบาลในทางปฏิบัติ เป็นต้น
เงื่อนไขสำหรับผู้สมัคร
- ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย
- มีการเขียนเรียงความแสดงความต้องการเข้าศึกษากับทางสถาบัน และมีการสัมภาษณ์
- มีผลการสอบวัดระดับ N2 ขึ้นไป
- ระยะเวลาหลักสูตร 2 ปี
เว็บไซต์หลักสูตร : www.o-hara.ac.jp/senmon/hukushi
Kitakami Professional Preschool Education and Welfare Training College, Senshu University
วิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งนี้เป็นวิทยาลัยในเครือของมหาวิทยาลัยเซนชูซึ่งมุ่งหวังผลิตนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลสวัสดิการต่าง ๆ และสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้แบบมืออาชีพ
สำหรับภาควิชาสวัสดิการและการบริบาลของวิทยาลัยแห่งนี้จะเน้นการเรียนการสอนใน 4 องค์ความรู้หลัก ๆ คือ มนุษย์และสังคม การบริบาล การทำงานของจิตใจและร่างกาย และการดูแลเชิงการแพทย์ นอกจากนี้ที่นี่ยังมีจุดเด่นคือ “เน้นสอนให้นักศึกษาสามารถสอบใบวิชาชีพนักบริบาลได้แบบรวดเร็วมากที่สุด” หลักสูตรมีความเข้มข้น ให้ความสำคัญทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติงานจริงในสถานบริบาลกว่า 117 แห่ง
ตัวอย่างวิชาในวิทยาลัยแห่งนี้ เช่น ภาษามือ หลักการบริบาล เทคนิคการช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน เทคนิคการสื่อสาร เป็นต้น
เงื่อนไขการรับสมัคร
- ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย
- มีการเขียนเรียงความประกอบการสมัคร
- ต้องเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและชีวิตของมนุษย์ และพร้อมพัฒนาความรู้ด้านการบริบาล
- มีผลการสอบวัดระดับ N2 ขึ้นไป
- ระยะเวลาหลักสูตร 2 ปี
เว็บไซต์หลักสูตร : kitakami-fukushi.ac.jp/fukushikaigoka
เป็นอย่างไรกันบ้างกับหลักสูตรน่าสนใจเหล่านี้ ถ้าน้อง ๆ สนใจอยากเรียนและสอบใบวิชาชีพนักบริบาลในประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะต้องมีความชอบในด้านนี้แล้ว ภาษาญี่ปุ่นก็ยังคงจำเป็นจะต้องใช้งานอีกด้วย ขอให้กำลังใจน้อง ๆ ทุกคนได้ทำตามความฝันนะคะ.
แนะนำอ่านต่อ : การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น JLPT