Owl Interview วันนี้มีโอกาสดีและจังหวะค่อนข้างลงตัวมาก ๆ ที่ได้คุยกับพี่แพร์ “ศิษย์เก่าสาธิตจุฬาฯ CUD41” และ “นิติจุฬาฯ 49” ที่ปัจจุบันทำธุรกิจอยู่ในอเมริกา และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นหลัก แต่ว่าช่วงนี้เดินกลับมาพักผ่อนที่ประเทศไทย (ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องเรียกว่ามากักตัวอยู่แต่ในบ้านซะมากกว่า!)

บทสัมภาษณ์ครั้งนี้จะพูดถึงเรื่องการไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา แล้วหลังจากนั้นมีอะไรเกิดขึ้น? จึงทำให้ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นต่อเนื่องจนมาถึงในปัจจุบัน

เราอยากให้พี่แพร์แนะนำตัวเองซักนิดนึง

ชื่อแพร์นะคะ อายุ 32 ปี ป.ตรี เรียนนิติศาสตร์ที่จุฬาฯ ส่วน ป.โท ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) ในวอชิงตัน ดีซี, สหรัฐอเมริกา

ก็อยากไปเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่เด็กๆ เพราะมีญาติอยู่เมืองนอกพอดี พอเราไปเยี่ยมก็แบบว่า ชอบบบ! รู้สึกว่าเด็กๆที่เรียนในต่างประเทศ เค้ามีความคิดเป็นของตัวเอง มั่นใจ! อะไรอย่างงี้!

ทำไมถึงเลือกที่จะไปอเมริกา?

คือต้องบอกก่อนว่าโดยทั่วไปคนที่เรียนจบนิติ จะเลือกไปสองประเทศหลัก ๆ ก็คือ อเมริกา และ อังกฤษ ทั้งสองประเทศเนี่ยใช้เวลาเรียนโทแค่ 1 ปี แต่ที่เลือกอเมริกาหลัก ๆ ก็เพราะ culture เคยไปเที่ยวอังกฤษมาแล้วเค้าจะแบบ proper หน่อย ด้วยนิสัยใจคอเราอาจจะไม่เหมาะ (หัวเราะ) และอีกเรื่องก็คือเราไม่เคยได้เที่ยวที่อเมริกานาน ๆ ได้มาแป๊ป ๆ แล้วประเทศเค้าก็ใหญ่มาก เราอยากเที่ยวให้ครบด้วย ไหน ๆ ก็จะได้มาอยู่อย่างน้อย ๆ ก็ปีนึง

อีกอย่างก็คืออยากเข้าเรียนที่ Georgetown University เพราะเราเรียนมาด้านภาษี “ซึ่งด้านภาษีที่จอร์จทาวน์ เค้าจัดอันดับในเป็น 1 ใน 2 ที่ดีที่สุดในด้านภาษีในอเมริกา” ซึ่งอีกที่ก็คือ NYU แต่พอดีชอบ DC มากกว่า NY ก็เลยเลือกที่จะสมัครที่ จอร์จทาวน์ ซึ่งสมัครแค่ที่เดียวด้วยนะ มั่นหน้าสุด ๆ คือเราไม่ได้รีบ ฟีลแบบอยากเข้าที่นี่เท่านั้น (หัวเราะ)

แต่แนะนำให้น้อง ๆ เรียนจบใหม่ ให้ทำงานก่อน จะได้ค้นหาตัวเองรู้ว่าอยากทำอะไรจริง ๆ แล้วค่อยสมัคร แล้วตอนสมัครให้สมัครหลาย ๆ ที่ หว่าน ๆ ไปดีกว่า สมัครหลาย ๆ ที่ก็จะมีโอกาสมากกว่า

ตอนสมัครมหาวิทยาลัยเค้าดูอะไรบ้าง?

อย่างแรกเค้าก็ดูเกรด, คะแนนสอบ TOEFL เค้าจะมี set standard ไว้ในแต่ละมหาวิทยาลัย พวก Top Tier, Ivy League คะแนนเค้าก็จะสูงกว่าที่อื่น ซึ่งน้อง ๆ ควรเผื่อเวลาให้การสอบ TOEFL ด้วย เพราะเวลาสอบครั้งแรกอาจจะตื่นสนาม ตื่นเต้นไรงิ เผื่อเวลาไว้สอบซ่อมถ้าคะแนนยังไม่ถูกใจนิดนึง

และเค้าก็จะดูประสบการณ์ทำงานด้วยนะ ถ้ายิ่งทำงานกับบริษัทใหญ่เป็นที่รู้จักทั่วโลกก็จะดี เช่นมาเรียนทางด้านภาษี “ถ้าทำงาน big4 ก็จะยิ่งมีเครดิตมากขึ้น” หรือทำงานที่ law firms ใหญ่ ๆ

แล้ว Refer Letter ก็สำคัญมาก แนะนำ(ถ้าได้)ให้ Alumni มหาลัยที่จะสมัครเขียนให้ หรือคนที่ Well-known เช่น รัฐมนตรีใด ๆ

พี่แพร์
แชร์ประสบการณ์ ต่อป.โทด้านภาษีที่ Georgetown University, USA
แชร์ประสบการณ์ ต่อป.โทด้านภาษีที่ Georgetown University, USA

ในส่วนของ portfolio ก็สำคัญเหมือนกัน “การไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็มีผลกับการพิจารณา” ที่มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในอเมริกา ชอบนักเรียนที่มีการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากกว่าคนที่เด่นด้าน academic อย่างเดียว

ในส่วนของ essay ก็ต้องเขียนดี ๆ แอบแนะนำว่าหากมีเป้าหมายเลือกมหาลัยได้แล้ว ให้ลองเข้าไปดูว่ามหาลัยเค้าเด่นด้านอะไร มีชมรมอะไรมีคลับหรือการรณรงค์อะไรมั้ย เช่นเค้ารณรงค์ลดโลกร้อน เราก็อาจจะเขียนใน essay ว่านอกจากการเรียนแล้ว เราอยากเข้าร่วมในการรณรงค์นี้นะ อยากเข้าคลับนี้เพราะเรามีความสนใจใด ๆ คือก็จะทำให้ essay เราอะโดดเด่นขึ้นนน!!

จะเข้า Georgetown University การแข่งขันสูงมั้ย?

สำหรับ ป.โท เราว่าไม่สูงเท่า ป.ตรีนะ ตอนเรียน ป.โท เพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ เพราะคนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียน ป.โท เท่าประเทศในฝั่งเอเชีย

คนเข้าใจว่ากฎหมายที่อเมริกาเป็นแบบ Common Law ที่ไทยแบบ Civil Law จริง ๆ แล้วมันมีผลมั้ย?

คือจริง ๆ แล้วการไปเรียนมันเหมือนสอนวิธีคิดมากกว่า แล้วถ้าเรากลับไปทำงานที่ไทย ในเมื่อตอนป.ตรีเราเรียนกฎหมายไทยมาแน่นๆแล้ว เราก็สามารถนำวิธีการคิดมาประยุกต์ใช้ได้เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสาขาและความต้องการของแต่ละคนด้วย

ถ้าถามเราว่า common law หรือ civil law มีผลกับการเรียนมั้ยนะ การเรียนในระดับ ป.โท ส่วนตัวเราว่าไม่มีผล เพราะป.ตรี เราได้เรียนพื้นฐานกฎหมายของไทยมา 4 ปีแน่นๆแล้ว ในระดับป.โท ด้วยความที่เรียนแค่ 1 ปีด้วย เค้าจะสอนวิธีคิดมากกว่า “น้องๆสามารถเลือกมาเรียนฝั่งอเมริกาได้แน่นอน ไม่มีปัญหาอะไร”


แชร์ประสบการณ์ ต่อป.โทด้านภาษีที่ Georgetown University, USA
แชร์ประสบการณ์ ต่อป.โทด้านภาษีที่ Georgetown University, USA

สังคมการเรียน การใช้ชีวิตระหว่างเรียน

ตอนเรียนป.โท คือมีความสุขมากกกกก ชอบมากกกกกก

เพื่อนเป็นยังไง มีคนไทยเรียนมั้ย

“มี มีแก๊งค์คนไทยเหมือนกัน แต่เราไม่คุยกับเค้าเลย (หัวเราะ)” คือปกตินิสัยคนไทยถ้าเจอคนไทยที่เรียนก็จะจับกลุ่มใช่มะ เราไม่เอาเลย เพราะคือเราตั้งใจไว้ว่าไปเรียนเมืองนอก เราก็อยากพัฒนาภาษาไง ตอนไปถึงห้องเรียนเห็นโต๊ะไหนมีคนไทยนั่ง เราไม่นั่งนะเราไปนั่งอีกโต๊ะเลยอะ

คือเราก็คิดว่า เราอุตส่าห์มาแล้ว นอกจากอยากให้ภาษาดีขึ้น เราก็อยากเรียนรู้ culture ของประเทศอื่น ๆ ด้วย เรามีเพื่อนต่างชาติดี ๆ เยอะมาก และยังแบบคุยกันถึงตอนนี้ ส่วนมากก็จะเป็นเอเชียเหมือนกัน อินโด จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซาอุ 

ซึ่งเพื่อนๆต่างชาติส่วนใหญ่เค้าจะแบบมีเป้าหมายในการมาเรียนโท ว่าเค้ามาเรียนเนี่ยเค้าจะได้อะไรกลับไป จะเป็นในแง่ของความรู้ หรือเป้าหมายการทำงานก็แล้วแต่คน

พี่แพร์

เราเลยอยากแนะนำให้น้อง ๆ ก่อนที่จะเรียนโทอะ “ทำงานก่อนเพื่อเราจะได้ค้นหาและตั้งเป้าหมายก่อนมาเรียน” คือสังคมไทยอะ ก็จะมองว่าเออเรียนโทสิ เรียนจบตรีละก็ต่อเลยมันดี เรียนอะไรก็ได้ แต่เรามองว่าถ้าจะจ่ายเงินมาเรียนแล้วเราควรรู้แล้วอะ ว่าเป้าหมายเราคืออะไรอยากเรียนอะไร เรียนไปทำไม ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนไปอยู่ในสังคมที่คนมีเป้าหมายเหมือน ๆ กัน มันก็จะช่วยผลักดันกันอะ

มีได้ไป Hangout ใช้ชีวิตนอกห้องเรียนมั้ย?

คือต้องบอกก่อนว่าเรียนด้านนิติเนี่ย อ่านหนังสือเยอะ แต่ก็ยังพอ manage เวลาได้ มีเวลาออกไปใช้ชีวิตหรือเที่ยวบ้างเหมือนกัน คืออาจจะด้วยความที่เป้าหมายเราอาจจะไม่ได้มุ่งว่า ชั้นต้องเป็นที่ 1 อะไรแบบนั้น แต่เราต้องได้ใช้ชีวิตด้วย คือได้เที่ยวด้วยแหละ

หลักสูตรนิติศาสตร์ ป.โท 1 ปี แต่เราเรียน 2 ปี

คือปีแรกเราไปลงเรียนหลักสูตรที่เหมือนช่วย prepare เราในด้านภาษาอังกฤษที่ใช้ในด้านนิติศาสตร์โดยเฉพาะ กับเรียนพื้นฐานกฎหมายของอเมริกา แล้วปีที่ 2 ก็ค่อยไปเรียนเจาะทางด้านภาษี คือจริง ๆ แล้ว “คนส่วนมากเข้ามาก็จะเรียนเฉพาะทางเลย ปีเดียวจบ” แต่เราก็มองว่ามาแล้วเอาให้คุ้มค่ะ (หัวเราะ) ขอพื้นฐานแน่น ๆ ไปเลย

ในระหว่างเรียน มีการฝึกงานหรือทำงานไหม?

คือตอนเรียนอยู่มหาลัยเค้าจะมีบอกเลยว่ามีหน่วยกิตที่เราสามารถไปฝึกงานได้นะ บางงานก็จะมีได้ค่าตอบแทนด้วย ซึ่งเราก็ได้ไปฝึกงานเหมือนกัน คือโชคดีที่ DC มันเป็นเหมืองหลวงใช่มะ มันก็จะมีหน่วยงานของรัฐเยอะ เราไปทำที่ The Library of Congress ด้านกฎหมาย งานก็จะเป็นพวกช่วยตอบคำถามด้านกฎหมายที่คนเค้าส่งมาถาม

การช่วยเหลือของมหาลัยในด้านการหางาน

ที่ Georgetown University เค้าจะมี The Office of Graduate Careers ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาสำหรับ นักเรียน LL.M. (Master of Laws) และศิษย์เก่าของจอร์จทาวน์โดยเฉพาะเลย ซึ่งเค้าจะช่วยให้คำแนะนำตั้งแต่การเขียน resume, cover letter เลย  นอกจากนี้เค้าก็จะมีการจัด networking meeting/conference ซึ่งทุกคนก็จะจัดเต็มใส่สูทผูกไทค์ เตรียมนามบัตรไปแลกกัน

คือที่อเมริกานะ ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบเนี่ยเค้าจะทำนามบัตรกันละนะ ใส่ contact info ใส่ว่าเป็น LL.M. candidate ด้านไหน พยายามเจอคนเยอะ ๆ ทำความรู้จักคนใหม่ ๆ ใน industry นั้น ๆ

พี่แพร์

อีกอย่างคือพยายามตีสนิทอาจารย์ “อาจารย์ที่เค้าสอนด้านที่เราอยากทำงานปกติเค้าก็จะมี connection ในด้านนั้น” หรือแม้กระทั่งชวนอาจารย์ไปกินกาแฟ เพื่อขอคำปรึกษาคำแนะนำด้านต่าง ๆ การส่งอีเมล์ไปหาอาจารย์ หรือ alumni เก่า ๆ ก็ทำได้ไม่ผิด คือเค้าจะมี database ของ alumni ว่าคนไหนทำงานที่ไหน เราก็สามารถติดต่อเค้าไปได้เลย การแข่งขันที่นู่นมันสูงมากกกก! ถ้าเรามีโอกาสเราก็ต้องเข้าหาเอง ซึ่งสิ่งที่เหมือนกับที่ไทยก็คือ เค้าก็จะอยากช่วยเหลือพวกพ้อง เช่น จบจากมหาลัยเดียวกัน คนรู้จักแนะนำมา (ยิ้ม)


แชร์ประสบการณ์ ต่อป.โทด้านภาษีที่ Georgetown University, USA
แชร์ประสบการณ์ ต่อป.โทด้านภาษีที่ Georgetown University, USA

การเลือกคนเข้าทำงานในอเมริกา

บริษัทจะพิจารณาประสบการณ์ทำงานในอเมริกาเป็นอย่างแรก ๆ รองลงมาเป็นประสบการณ์ทำงานในบริษัทที่อยู่นอกอเมริกา แต่มีเครือข่ายทั่วโลกอย่าง Big 4 law firm ชื่อดัง ๆ เพราะเค้าเชื่อว่ามี standard เดียวกัน ถ้าเราทำงานที่ไทย สำนักงานกฎหมายเล็ก ๆ ไม่มีชื่อเสียง เค้าก็อาจจะไม่แน่ใจในคุณภาพเพราะเค้าไม่รู้จัก “Cover Letter ก็ต้องตั้งใจเขียนและควรเขียนเฉพาะสำหรับการสมัครแต่ละบริษัท”

ทำไมเค้าถึงมารับเราที่เป็นคนต่างชาติ?

ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เราทำบริษัทแรก “เค้าไม่ได้มี policy ที่จะ sponsor visa/green card” เพราะฉะนั้นเราทำงานแบบ contract  1 ปี เค้าก็ไม่ต้อง มีสัญญาผูกพันระยะยาว และได้คนที่เรียนจบโทด้วย คน local ก็อาจจะไม่ค่อยเรียนโท และอย่างสาขาที่เราเรียนด้าน ภาษี taxation จะมี demand เยอะ

ย้ายไปทำงานที่ SF

Culture ทำงานต่างกันค่อนข้างเยอะ

DC Eastcoast ด้วยความเป็นเมือง government ก็จะมีความ proper หน่อย แบบแต่งตัวต้องเรียบร้อยเป๊ะ ๆ หน่อย ทุกคนจะแบบมี space ถือตัวหน่อย

SF Westcoast จะสบาย ๆ หน่อย เราใส่กางเกงยีนส์ไปทำงานได้

แต่ที่เหมือนกันคือ “เพื่อนร่วมงานก็คือเพื่อนร่วมงาน” หลังจากเลิกงานเค้าก็อาจจะไป hang out กับเพื่อนอีกกลุ่ม ซึ่งจะไม่เหมือนที่ไทยนะ ที่ไทย เพื่อนร่วมงานก็จะค่อนข้างสนิทกัน ไปกินข้าวกัน

Workload ต่างจากการทำงานที่ไทยมั้ย?

ต่างกันมากกกกกกกก! คนที่อเมริกาจะไม่มีการมาสนใจว่าใครกลับก่อนกลับช้ากลับเร็ว คือที่ไทยคนกลับก่อนจะมองละ ไม่ทุ่มเท ไม่ขยัน ต้องทำงานดึก ๆ

“ที่อเมริกาเค้าให้ความสำคัญเรื่อง work life balance มาก ๆ” เราเคยครั้งนึงคือเราลง time sheet เวลาทำงานแล้วอาทิตย์นั้นมันเกิน 40 ชั่วโมง เราโดนเรียกคุยถาม ว่าเราทำงานหนักเกินไปรึเปล่า บางอย่างไม่ต้องกลับไปทำที่บ้านก็ได้นะ ค่อยมาทำอีกวันนึงก็ได้

พี่แพร์

หรือเวลาบางทีเค้าส่งเมลล์มาหาเราตอนเที่ยงคืน เค้าก็ไม่ได้ expect ให้เราตอบกลับเดี๋ยวนั้นวันรุ่งขึ้นเราก็ค่อยตอบในเวลางาน แต่ก็มีนะ บางช่วงที่มันอาจจะแบบต้องส่งภาษีหรือมีงานอะไรพิเศษ ก็อาจจะมีดึกบ้าง (ยิ้ม)

อีกอย่างนึงคือ เค้าสามารถเลือกเวลาทำงานเองได้เช่น อย่างเริ่มงานเช้าเลยไปส่งลูกที่ รร ละมาทำงาน 7 โมงเช้า พอบ่าย 3 เค้าก็เลิกงานไปรับลูกได้ ก็จะค่อนข้าง flexible หรือบางคนอยากทำแค่ part time ช่วงเลี้ยงลูก แล้วพอลูกเข้า รร ก็กลับมาทำ fulltime ได้ แต่ในบางสายงานอย่างถ้าทำงานใน law firm work load ก็อาจจะหนักเหมือนกัน

รายได้?

คือรายได้ที่นี่ก็ถือว่าเยอะแหละ ถึงจะเสียภาษีเยอะขึ้นตามรายได้ แต่ถ้าคำนวณแล้วก็ถือว่ามันพอสำหรับคน ๆ นึงที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้ดี กินอะไรที่อยากกิน อยากไปไหนก็ไปได้


แชร์ประสบการณ์ ต่อป.โทด้านภาษีที่ Georgetown University, USA
แชร์ประสบการณ์ ต่อป.โทด้านภาษีที่ Georgetown University, USA

Relocate ไป ฟลอริด้าแล้ว

คือเรามีโอกาสในการลงทุนกับเพื่อนที่ฟลอริด้า เราก็เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่นี่ แต่เราก็ยังไม่ได้จะแบบเลิกทำด้านกฎหมายไปเลยนะ ตอนนี้ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะสอบ Bar ซึ่งหมายถึงว่าเราสามารถให้คำปรึกษาด้านกฎหมายได้และว่าความได้ก็อาจจะมีเปิดอะไรเป็นของตัวเองด้านกฎหมายในอนาคต

สอบ Bar : คือการสอบเนติบัณฑิตในอเมริกา หรือก็คือ เนติ + ตั๋วทนาย ที่นักเรียนนิติรู้จักกันดีนั่นเอง

ได้กรีนการ์ดแล้ววางแผนชีวิตไว้อย่างไร?

คือด้วยความที่เรายังมีครอบครัวอยู่ที่ไทย เราก็เลยคงยังต้องไป ๆ มา ๆ อยู่ ก็เลยพยายามจะทำธุรกิจที่ทำระหว่างประเทศได้

แนะนำน้อง ๆ ที่อยากมาเรียนหรือทำงานที่อเมริกา

อย่างแรกเลยน้องต้องค้นหาตัวเองก่อน ต้องรู้ว่าอยากทำอะไร ไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานบรรทัดฐานของสังคม ว่าต้องรีบเรียนต่อโทเลยเพื่อจะอัพเงินเดือนหรือเอาวุฒิ “ขอให้ค้นให้เจอก่อน แล้วค่อยไปต่อค่ะ”

การค้นหาตัวเองทำได้ตั้งแต่มัธยมเลยค่ะ ลองออกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ นอกห้องเรียนบ้าง ให้ไปลองขอฝึกงานตามบริษัท หรือหน่วยงานที่สนใจ หรือแม้กระทั่งการลองลงเรียนคอร์สต่าง ๆ เดี๋ยวนี้มีออนไลน์เยอะแยะเลย

“สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือภาษา อย่างน้อย ๆ ภาษาอังกฤษจำเป็นมากค่ะ” เพราะมหาลัยเค้าก็จะมี minimum requirement ซึ่งไม่ว่าด้านอื่น ๆ เราจะเก่งแค่ไหน ถ้าเราไม่ผ่านตรงนี้ก็จะไม่ได้ไปต่อน้า (ยิ้ม)

พี่แพร์

ทางทีม Owl Interview ขอขอบคุณพี่แพร์สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ในช่วงเวลาที่เรียนต่อในอเมริกา และขอเอาใจช่วยน้อง ๆ ที่กำลังวางแผนในการไปเรียนต่อที่นั่นด้วยน้า

Key Takeaways

  • ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนต่อหรือทำงาน ภาษาอังกฤษ ยังคงเป็น Req อย่างแรก แต่น้อง ๆ ก็สามารถเตรียมตัวได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • East vs West เลือกให้ดี เพราะวัฒนธรรมต่างกันทำให้ Lifestyle ต่างไป ทั้งเรื่องเรียนและเรื่องทำงาน
  • ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนก่อน ไม่ต้องรีบ การทำกิจกรรมนอกห้องเรียนช่วยทำให้ค้นพบความชอบและตัวเองได้
  • Connection ยังคงสำคัญตั้งแต่การเริ่มไปเรียนต่อจนถึงการทำงานที่นั่น ดังนั้น น้อง ๆ ควรสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับอาจารย์, เพื่อนและรุ่นพี่รุ่นน้องในสายงานไว้น้า