“ญี่ปุ่น”  เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก และยังเป็นประเทศที่ร่ำรวยทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม และเทคโนโลยี มีหลายคนที่ใฝ่ฝันว่าอยากจะลองไปใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นดูสักครั้ง โดยทางเลือกหลัก ๆ ก็มีอยู่ 2 ทาง คือ “เรียน” หรือ “ทำงาน”

สำหรับเราที่แม้จะเรียนภาษาญี่ปุ่นมาตั้งแต่ม.ปลาย และเลือกเรียนต่อเอกภาษาญี่ปุ่น ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่อาจจะด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ภาษาในชีวิตจริง สกิลการพูดของเราถือว่ายังอ่อนแอนัก บวกกับ ณ ตอนนั้น ทางอาจารย์พยายามเชียร์ให้นิสิตลองคว้าโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่นดู และนั่นจึงเป็นที่มาของการตัดสินใจดรอปเรียน 1 ปีการศึกษา เพื่อไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่นในปีที่ 3 ของชีวิตการเป็นนิสิตของเรา

ก่อนเหินฟ้าบินสู่ญี่ปุ่น

สนามสอบที่สำคัญสำหรับนักเรียนแลกเปลี่ยนในจุฬาฯ ก็คือ “ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT)” และ “ทุนวิรัจกิจ” ถ้าจะให้เทียบความแตกต่างของทุนทั้ง 2 อย่างง่าย ๆ ก็คือ ทุนแลกเปลี่ยนของรัฐบาลญี่ปุ่น (ทุนญี่ปุ่นศึกษา หรือ Japanese Studies Students) จะมีการแข่งขันสูงกว่า และบังคับให้ต้องทำวิจัย ระยะเวลาทุนการศึกษาคือ 1 ปี

ทุนวิรัจฉกิจ เป็นของสำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการศึกษาต่อต่างประเทศของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยคู่สัญญาทั่วโลก

ทุนวิรัจฉกิจ

ซึ่งส่วนใหญ่ ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น เด็กเอกญี่ปุ่นจะกินเรียบค่ะ และแน่นอนว่าการแข่งขันต่ำกว่า เรื่องการทำวิจัย จะขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม อาจารย์จะแนะนำให้พวกเราทำวิจัยกัน เพื่อประโยชน์ของเราเอง ระยะเวลาของทุนก็มีทั้งแบบระยะสั้น คือ 3 เดือน และแบบระยะยาว คือ 1 ปี ของเราอยากไปนาน ๆ จึงเลือกไปแบบ 1 ปี แต่หากไป 1 ปี ไม่ว่าจะทุนไหน จะไม่สามารถโอนหน่วยกิตได้ จึงต้องดรอปเรียน นั่นหมายความว่า เราจะเป็นนิสิตในมหาวิทยาลัยรวมทั้งหมด 5 ปี

หลักฐานที่เราต้องเตรียมเพื่อยื่นสมัครกับทางสำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ เช่น

  • ผลสอบวัดระดับ JLPT N3 ขี้นไป
  • Study Plan หรือแผนการทำวิจัย
  • รายชื่อมหาวิทยาลัย 3 อันดับแรกที่เราอยากไปแลกเปลี่ยน

เมื่อเตรียมเอกสารเสร็จเรียบร้อย ก็ทำการยื่นสมัครกับทางเจ้าหน้าที่สาขาภาษาญี่ปุ่น จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์กับอาจารย์ ผลสุดท้าย ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 เราก็ทราบผลว่าได้มหาวิทยาลัยในกรุงโตเกียว ที่ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยโคกุชิกัง (Kokushikan University)

ปกติแล้วมหาวิทยาลัยที่ไปแลกเปลี่ยนจะเปิดรับนักศึกษาต่างชาติในเดือนตุลาคม แต่สำหรับมหาวิทยาลัยโคกุชิกัง ที่นี่จะเปิดเทอมในเดือนเมษายนพร้อมกับคนญี่ปุ่น นั่นหมายความว่า… เราจะได้ไปเร็วกว่าเพื่อนคนอื่นๆ ทางมหาวิทยาลัยบังคับให้ต้องไปถึงญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม หรือก่อนเปิดเทอมหนึ่งเดือนเพื่อเตรียมตัวและเรียนปรับพื้นฐาน

ใช้เอกสารอะไรบ้างในการขอ Visa? และเราสามารถทำงานพิเศษได้มั้ย?

ไม่นานนักมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นก็ส่งเอกสารมาให้ว่าจะยอมรับเราเข้าศึกษาอย่างเป็นทางการ ในจำนวนนั้นมีเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ขอวีซ่าที่เรียกว่า Certificate of Eligibility หรือ COE และยังมีเอกสารแจ้งรายละเอียดหอพัก มหาวิทยาลัยนี้จะบังคับนักศึกษาทุกคนให้อยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำในส่วนนี้ มีแค่แจ้งกลับไปทางอีเมลว่า เราจะไปถึงญี่ปุ่นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

ใบอนุญาตทำงานพิเศษที่ญี่ปุ่น - ดรอปเรียน 1 ปี ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Tokyo!
ใบอนุญาตทำงานพิเศษที่ญี่ปุ่น | การทำงานพิเศษที่ญี่ปุ่นจะเรียกว่า อะรุไบโตะ (アルバイト)

ยังมีเอกสารสำคัญอีกหนึ่งใบที่ทางมหาวิทยาลัยกำชับมาว่า หากต้องการทำงานพิเศษ อย่าลืมกรอก “ใบอนุญาตทำงานพิเศษ” ก่อนจะออกจากด่านตรวจคนเข้าเมือง ตอนนั้นเราไปหยิบเอาตรงเคาท์เตอร์ที่เป็นจุดวางเอกสารสำหรับยื่นให้ ต.ม. เมื่อกรอกเสร็จแล้วก็ให้ไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ได้เลย แต่ปัจจุบันเห็นว่าสามารถดาวน์โหลดผ่านเว็ปไซต์ได้แล้วนะคะ แนะนำให้กรอกไปให้เรียบร้อยเลยดีกว่าค่ะ

ค่าใช้จ่ายที่ทางทุนวิรัชกิจออกให้มีอะไรบ้าง?

สำหรับค่าเทอมตลอดปีการศึกษา ทางสำนักงานฯวิรัชกิจจะออกให้ทั้งหมด ส่วนค่ากินอยู่ จะมีทุนสนับสนุนที่ชื่อว่า JASSO เดือนละ 80,000 เยน (ประมาณ 22,600 บาท) ทางมหาวิทยาลัยจะส่งเอกสารมาให้เรากรอกและยืนยันกลับไป แต่เราไม่ได้ค่ะ ทางมหาวิทยาลัยให้เหตุผลว่า คนที่จะได้คือคนที่มีเกรดถึง 3.50 เท่านั้น ส่วนเราขาดไปนิดเดียว ก็อดไป T-T

1 ปีของเราในญี่ปุ่น

เรามาถึงญี่ปุ่นช่วงต้นเดือนมีนาคม ปี 2016 หลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ก็ออกบัตร “ไซริวการ์ด” หรือ บัตรพำนักในประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะเป็นเสมือนบัตรประชาชนของเราขณะอยู่ที่นี่มาให้ เมื่อออกไปแล้วก็เจอกับบัดดี้ชาวญี่ปุ่นมายืนถือป้ายชื้อรออยู่กับเพื่อนสาวคนไทยอีกคนที่มาแลกเปลี่ยนโครงการเดียวกัน หลังจากนั้นบัดดี้ก็พาเรานั่งรถบัสจากสนามบินนาริตะเข้าไปยังย่านชิบุย่า และจากชิบุย่า เราก็นั่งรถเมล์ไปยังหอพักอีกที

Residence Card และ Student's ID Card
ไซริวการ์ด (Residence Card) และ Student’s ID Card

หอพักของเราอยู่ในเขตเซตากายะและสามารถเดินไปมหาวิทยาลัยได้ภายใน 15 นาที ในห้องพักแต่ละห้องจะมีเตียงนอน โต๊ะอ่านหนังสือ ตู้เสื้อผ้า เตาไฟฟ้า ตู้เย็น ห้องน้ำ และห้องเก็บของให้ ห้องของเราอยู่บนชั้น 3 จากทั้งหมด 4 ชั้น ชั้นล่างสุดจะเป็นครัวกลางสำหรับทำอาหารร่วมกัน ราคาต่อเดือนที่เราต้องจ่ายสำหรับห้องพักคือ 17,000 เยน (ประมาณ 4,800 บาท) ถือว่าถูกมาก!!! สำหรับหอพักที่อยู่ใจกลางโตเกียวแบบนี้ แถมยังมีอุปกรณ์ให้ครบครัน นักเรียนแลกเปลี่ยนในปีนั้นมีทั้งหมด 15 คน มีทั้งชาวไทย รัสเซีย เกาหลี ที่เยอะสุดจะเป็นชาวจีน พวกเราต่างตื่นเต้นที่จะทำความรู้จักกันจนสนิทกันอย่างรวดเร็ว

ทางมหาวิทยาลัยพาพวกเราไปจัดการกับเอกสารทางกฏหมาย การเปิดบัญชีธนาคาร การซื้อซิมการ์ด การเรียนปรับพื้นฐานก่อนเปิดเทอม รวมถึงยังจัดให้มีทัศนศึกษา การไป “ฮานามิ” หรือการชมดอกซากุระ ที่กล่าวมานี้ เจ้าหน้าที่จากทางมหาวิทยาลัย รวมถึงเพื่อนบัดดี้ชาวญี่ปุ่นอีกหลายคนคอยช่วยดูแลพวกเราอย่างเต็มที่ทุกขั้นตอน

ที่นี่แบ่งเป็นเทอมฤดูใบไม้ผลิ (เมษายน) และฤดูใบไม้ร่วง (ตุลาคม) การลงทะเบียนเรียนในหนึ่งปีต้องลงให้ครบ 18 หน่วยกิต มีทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก วิชาที่บังคับที่ทุกคนต้องเรียนคือวิชาภาษาญี่ปุ่น ส่วนวิชาเลือกจะแตกต่างกันไปตามแต่ละคณะ คณะของเราคือ “Letters” เทียบได้กับคณะอักษรศาสตร์ เรียนสาขา “Japanese Literature” หรือวรรณคดี ซึ่งจะมีวิชาให้เลือก เช่น ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเบื้องต้น วรรณคดีเบื้องต้น สำหรับการเรียนในวิชาทั่วไป เราจะได้เรียนกับเด็กญี่ปุ่นด้วย ส่วนบางวิชาที่มีเพื่อชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นชาวจีน และแน่นอนว่าแม้จะเป็นเด็กแลกเปลี่ยน แต่การสอบจะทำเหมือนกันหมดทุกคน ของเรามีทั้งสอบข้อเขียน และทำรายงาน

อารุไบโตะ หรือเรียกสั้นๆว่าทำไบต์

นอกจากนั้น เราและเพื่อนคนไทยยังไปสมัครงานพิเศษที่ร้านอาหารไทยที่รุ่นพี่แนะนำมา

เริ่มแรกก็เข้าไปสัมภาษณ์ จากนั้นก็ตกลงกันเรื่องเวลาทำงาน ค่าแรงที่เราได้คือ 900 เยนต่อชั่วโมง (ประมาณ 250 บาท)

(ปัจจุบัน ค่าแรงเฉลี่ยของโตเกียวจะอยู่ที่ 1,013 เยน หรือประมาณ 270 บาท) เฉลี่ยแล้วต่อเดือนเราจะหาเงินได้ 50,000-70,000 เยน (ประมาณ 14,000 – 19,000 บาท) ถือว่าได้พอๆ กับเงินทุนเลยทีเดียว แต่สิ่งที่ต้องแลกกันก็คือ

“เราจะไม่มีเวลาไปเที่ยว หรือร่วมกิจกรรมบางอย่างของมหาวิทยาลัยได้เหมือนคนอื่นๆ”

ในระหว่างปีนั้น มหาวิยาลัยมักจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้นักเรียนแลกเปลี่ยน เช่น ช่วงหน้าร้อน มีอบรมการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ มีการตรวจสุขภาพ ในฤดูใบไม้ร่วง จะมีกิจกรรม “บุงกะไซ” หรืองานวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย ส่วนหน้าหนาว ก็มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มีการพูดคุยกับอาจารณ์เพื่อประเมินผลการเรียนที่ผ่านมา รวมถึง “พิธีจบการศึกษา”

แนะนำอ่านต่อ : ประสบการณ์ทำงานพิเศษที่ญี่ปุ่น

แล้วก็ถึงเวลาที่ต้องอำลา

โชคร้ายที่ทางจุฬาฯ เปิดเรียนช่วงกลางเดือนมกราคม ปี 2017 ก่อนที่คอร์ดจะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ข้อแม้คือเราหยุดเรียนที่จุฬาฯ เกินสองอาทิตย์ไม่ได้ และเราไม่สามารถกลับก่อนพิธีจบการศึกษาได้ เราจึงต้องส่งอีเมลกลับไปแจ้งอาจารย์รายวิชาที่จุฬาฯ ว่าเรามีเหตุจำเป็นที่ต้องกลับช้าเพื่ออยู่รับประกาศนียบัตร หลังจากนั้น วันที่ 30 มกราคม 2017 เราก็บินกลับกรุงเทพฯ ก่อนใครเพื่อน

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการไปใช้ชีวิตในญี่ปุ่น 1 ปีเต็มในครั้งนี้ นอกจากความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดแล้ว เรายังได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง ได้มิตรภาพระยะยาวจากเพื่อนต่างชาติที่  ชีวิตใน 1 ปีนั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แต่มันก็สร้างความทรงจำที่ดีที่สุดที่เราจะไม่มีวันลืม

milkcream