การไปแลกเปลี่ยนถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสดีๆ ที่เราจะได้ไปสัมผัสวัฒนธรรมที่ประเทศญี่ปุ่นระหว่างเรียน ปัจจุบันนี้เราเห็นมีหลายหน่วยงานที่เปิดรับสมัคร มีทั้งแบบทุนตัวเอง และทุนการศึกษา ในระดับ ม.ปลาย หรือมหาวิทยาลัย โดยส่วนตัวแล้ว “เราเคยไปแลกเปลี่ยนแบบทุนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย” ดังนั้น คราวนี้เราจะมาอธิบายให้น้อง ๆ ที่สนใจจะไปแลกเปลี่ยนได้อ่านกันว่า หากอยากไปต้องทำอย่างไร และต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง^^
ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนแลกเปลี่ยน
ทุนญี่ปุ่นศึกษา (Japanese Studies Students) | Monbukagakusho : MEXT
ทุนญี่ปุ่นศึกษาให้โดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศญี่ปุ่น (MEXT) หรือที่เด็กไทยเรียกกันติดปากว่า “ทุนมง” นั่นเอง สำหรับทุนญี่ปุ่นศึกษานี้ เป็นทุนสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น เพื่อไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่นในระยะเวลา 1 ปี จำนวนทุนต่อเดือน 117,000 เยน (ประมาณ 33,000 บาท) ส่วนมากแล้วจะให้เพียงแค่ 1-5 ทุนเท่านั้น มักเปิดรับสมัครในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี
ทุนมหาวิทยาลัย
สำหรับทุนมหาวิยาลัยนี้ เป็นทุนที่ทางมหาวิทยาลัยให้กับนักศึกษาไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาแบบทั้งระยะสั้น (3 เดือน) และระยะยาว (1 ปี) มหาวิทยาลัยคู่สัญญานั้นจะมีอยู่ทั่วโลก ในสาขาที่แตกต่างกันไป
สำหรับทุนของมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นนั้น มีทั้ง ทุนอุดหนุนนักเรียนแลกเปลี่ยน โดยสำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุนวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
ทุนอุดหนุนนักเรียนแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัย
ทางมหาวิทยาลัยที่ประเทศไทยจะเป็นผู้ออกค่าเล่าเรียนให้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะต้องยื่นขอทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจากทาง JASSO เพื่อรับทุนเดือนละ 80,000 เยน (ประมาณ 22,600 บาท) ปกติจะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนสิงหาคม
เงื่อนไขการสมัครค่อนข้างจะเหมือนกัน
ทุนนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่กล่าวมาข้าวต้น ส่วนใหญ่แล้วมักจะกำหนดเหมือนกันว่า นักศึกษาจะต้องเรียนอยู่ชั้นปี 2-3 เนื่องจากบางทุนจะไม่สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น เราได้จำแนกคุณสมบัติหลัก ๆ ของแต่ละทุน เอาไว้ดังนี้
ทุนญี่ปุ่นศึกษา (Japanese Studies Students) | Monbukagakusho : MEXT
- สัญชาติไทย
- เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 – 3
- กำลังศึกษาในสาขาภาษาญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย
- เกรด (GPA) 3.00 ขึ้นไป
- มีผลการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นในระดับที่สามารถใช้เรียนในมหาวิทยาลัยได้ (ปกติแล้วจะ N2 ขึ้นไป)
- ผ่านการทดสอบข้อเขียนภาษาญี่ปุ่น และการสอบสัมภาษณ์
- ต้องมีแผนการวิจัยในการยื่นสมัคร
- ไม่สามารถโอนหน่วยกิตได้ ดังนั้นต้องสามารถดรอปเรียนที่ประเทศไทยได้
ทุนมหาวิทยาลัย
ในที่นี้เราขอยกตัวอย่างทุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะคะ ทั้งนี้ รายละเอียดของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ จะไม่ต่างกันมากนัก ต้องลองสอบถามกับทางสาขาภาษาญี่ปุ่นดูค่ะ โดยเงื่อนไขทุนอุดหนุนนักเรียนแลกเปลี่ยนโดยสำนักงานวิรัชกิจ ระยะเวลา 1 ปีการศึกษา จะเป็นดังนี้ค่ะ
- เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 หรือ 3
- มีผลการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น N3 ขึ้นไป
- มีผลสอบวัดความสามารถภาษาอังกฤษ
- ต้องมีแผนการวิจัยในการยื่นสมัคร
- ต้องผ่านเกณฑ์คะแนนของวิรัชกิจ ซึ่งจะคำนวนจากเกรดเฉลี่ย 50% และคะแนนภาษาต่างประเทศ 50% ถ้าคะแนนรวมเกิน 75 คะแนนขึ้นไป ไม่ต้องสอบสัมภาษณ์ เป็นต้น
- ไม่สามารถโอนหน่วยกิตได้ “ดังนั้นต้องสามารถดรอปเรียนที่ประเทศไทยได้”
นอกจากทุนระยะเวลา 1 ปีโดยสำนักงานวิรัจฉกิจแล้ว ทางสาขาภาษาญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน 1 ปีกับทางมหาวิทยาลัยคู่สัญญาพิเศษ และทุนแลกเปลี่ยนระยะสั้น 3 เดือนที่สามารถโอนหน่วยกิตได้อีกด้วย
การขอวีซ่าไปเรียนแลกเปลี่ยน
สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการขอวีซ่าไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่นต้องขอวีซ่าทั่วไป (General Visa) ประเภท “วีซ่านักเรียน (Student)” การขอนั้นไม่ยากเลยเพราะในเว็ปไซต์สถานทูตประจำญี่ปุ่นในประเทศไทยบอกไว้อย่างละเอียดพอสมควร รวมถึงเอกสารสำหรับยื่นยังสามารถดาวน์โหลดได้จากหน้าเว็ปอีกด้วย

แต่ก่อนที่เราจะไปยื่นขอวีซ่าประเภทนี้ได้ เราต้องได้รับ “ใบรับรองสถานภาพการพำนัก (Certificate of Eligibility : COE)” ก่อน เอกสารนี้เป็นเอกสารที่ออกโดยกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น โดยทางมหาวิทยาลัยจะส่งฉบับจริงมาให้เราทางไปรษณีย์ค่ะ
เอกสารสำคัญที่เราต้องเตรียมให้พร้อม
- หนังสือเดินทางที่มีหน้าว่างตั้งแต่ 2 หน้าขึ้นไป และควรนำหนังสือเดินทางฉบับเก่า (ถ้ามี) ไปแสดงพร้อมกันด้วย
- ใบคำร้องขอวีซ่า (ดาวน์โหลดได้ที่หน้าเว็ปไซต์สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย)
- รูปถ่าย 2 x 2 นิ้ว 1 ใบ สีหรือขาวดำ พื้นหลังเป็นสีพื้น ควรเป็นสีขาวหรือสีอ่อน ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน นำไปติดลงบนใบคำร้องขอวีซ่า
- แบบสอบถามการยื่นวีซ่าเพื่อระบุวัตถุประสงค์การเดินทาง (ดาวน์โหลดได้ที่หน้าเว็ปไซต์สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย)
- ใบรับรองสถานภาการพำนัก (Certificate of Eligibility : COE) ฉบับจริง + สำเนา 1 ชุด
- ทะเบียนบ้าน ฉบับจริง + สำเนา 1 ชุด
- เอกสารรับรองการเป็นนักศึกษา
- สำเนาบัตรประชาชน เอกสารรับรองการทำงาน และเอกแสดงเอกสารสถานะการเงินย้อนหลัง 6 เดือนที่ออกโดยธนาคารของผู้อุปการะ
- เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว-สกุล (ถ้ามี) ฉบับจริง + สำเนา 1 ชุด
- กรณีให้บุคคลอื่นมายื่นขอวีซ่าแทนต้องให้ผู้แทนมายื่นเอกสารพร้อมหนังสือมอบอำนาจจากผู้ขอวีซ่า (ดาวน์โหลดได้ที่หน้าเว็ปไซต์สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย)
สถานที่ในการยื่นขอวีซ่า
- ศูนย์รับยื่นวีซ่าประเทศญี่ปุ่น (JVAC) กรุงเทพฯ อาคารวันแปซิฟิคเพลส ชั้น 9 ยูนิต 910 ที่ตั้งเลขที่ 140 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทร. 02-251-5197-8
- เคาน์เตอร์ยื่นคำร้องขอวีซ่าญี่ปุ่น (Japan Visa Intake Centre) ที่ทำการไปรษณีย์ 11 แห่งทั่วประเทศ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ภูเก็ต ที่ทำการไปรษณีย์ศรีราชา ที่ทำการไปรษณีย์พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น
- สถานกงสุลญี่ปุ่นในเชียงใหม่ เฉพาะผู้อาศัยในเขตภาคเหนือ 9 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์
หลังจากเรายื่นเอกสารครบทั้งหมดตามข้างต้นแล้ว ต่อไปก็ทำได้เพียงรอทางสถานทูดส่งหนังสือเดินทางกลับมาให้ทางไปรษณีย์ หรือจะไปรับเองที่สถานทูตก็ได้ ของเรารอประมาณ 5 วันก็ได้รับหนังสือเดินทางกลับมาพร้อมประทับวีซ่าที่ให้เวลาเราพำนักในญี่ปุ่นได้ไม่เกิน 1 ปี 3 เดือนค่ะ และเราจะต้องใช้วีซ่านี้เข้าประเทศญี่ปุ่นภายใน 90 วัน
การขอใบอนุญาตการทำงาน
สำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการทำงานพิเศษในประเทศญี่ปุ่น จำเป็นต้องขออนุญาตการทำงานอีกครั้งเมื่อไปถึงประเทศญี่ปุ่น หากเราหารายได้โดยไม่มีใบอนุญาตถือว่าผิดกฏหมาย เงื่อนไขของผู้ที่สามารถทำงานพิเศษในญี่ปุ่นได้ ก็จะมีประมาณนี้ค่ะ
- เป็นนักเรียนนักศึกษาที่พำนักอยู่ที่ญี่ปุ่นนานเกิน 3 เดือน
- อายุ 18 ปีขึ้นไป
- ทำงานพิเศษได้ไม่เกิน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- ไม่เป็นงานผิดกฏหมาย ไม่ผิดศีลธรรม
- ไม่กระทบต่อการเรียน
- มีจุดประสงค์เพื่อหารายได้เสริมระหว่างเรียน
การขอก็ไม่ยาก มีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
- กรณีมีสถานที่ทำงานพิเศษแล้ว ดาวน์โหลดเอกสารสำหรับขออนุญาตทำงานในประเทศญี่ปุ่นจากทางเว็ปไซต์ Immigration Services Agency of Japan และกรอกให้เรียบร้อย
- นำไปยื่นกับหนังสือเดินทางพร้อมใบรับรองสถานภาการพำนัก (Certificate of Eligibility : COE) ให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจหนังสือเดินทางที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน
- เจ้าหน้าที่จะออกบัตรพำนักในประเทศญี่ปุ่น “ไซริวการ์ด (Residence Card)” มาให้ พร้อมประทับตราอนุญาตทำงานพิเศษให้ที่ด้านหลังบัตร
ก่อนไปเราทราบสถานที่ทำงานพิเศษอยู่แล้ว เพราะมีร้านอาหารไทยที่รุ่นพี่ทำต่อกันมา เราจึงกรอกที่อยู่ของร้านลงไปในเอกสาร แต่สำหรับใครที่ยังไม่ทราบสถานที่ทำงานแน่ชัด สามารถนำเอกสารไปยื่นได้ทีหลังซึ่งเราจะอธิบายในบทความหัวข้อ “การทำงานพิเศษ” หลังจากนี้นะคะ
ค่าใช้จ่ายในการไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน
แม้ว่าเราจะได้รับทุนไปเรียนต่อในประเทศญี่ปุ่น แต่เราก็จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ที่แน่ๆ ก็คือค่าวีซ่านั่นเอง T-T
- ค่าธรรมเนียมการขอประทับตราวีซ่าทั่วไป 860 บาท
- กรณียื่นผ่านศูนย์ยื่นขอวีซ่าญี่ปุ่น (JVAC) : มีค่าดำเนินการเพิ่ม 655 บาท เป็น 860 + 655 = 1,515 บาท
- กรณียื่นผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยใน 11 จังหวัด จะคิดค่าจัดส่งเพิ่มอีก 440 บาท เป็น 1,515 + 440 = 1,955 บาท
ประสบการณ์นักเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัย Kokushikan Tokyo กิจกรรมในมหาวิทยาลัย Kokushikan Tokyo ชีวิต 1 ปีในมหาวิทยาลัย Kokushikan Tokyo
นอกจากนี้เรายังต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับนำไปใช้ในญี่ปุ่นด้วย เพราะปกติแล้ว แม้จะได้ทุน แต่จะไม่ได้ในทันทีเมื่อไปถึงญี่ปุ่น โดยนักศึกษาจะได้รับเงินทุนหลังจากดำเนินการแจ้งที่อยู่ และเปิดบัญชีธนาคารแล้ว อย่างต่ำจะใช้เวลา 1 เดือน ตอนนั้นจำได้ว่าเราเตรียมเงินไปทั้งหมด 90,000 เยน หรือประมาณ 25,000 บาท สำหรับจ่ายค่าหอพัก ค่ากินอยู่ และค่าหนังสือเรียนในเดือนแรกค่ะ
รายละเอียดค่าใช้จ่ายขณะเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของเรา สามารถติดตามได้ในบทความต่อไปเลย
milkcream