ก่อนที่เราจะเริ่มต้นสมัครทุนกันนั้น เรามาทำความรู้จักกับทุน Erasmus Mundus กันอีกนิดนึงว่าทุนนี้เป็นทุนเต็มจำนวนพร้อมเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นเวลา 2 ปีเต็ม ในปัจจุบันจะให้ทุนกับหลักสูตรปริญญาโท และจะต้องเรียนให้จบภายใน 2 ปี (รวมเวลาทำวิทยานิพนธ์) โดยการเรียนจะยึดระบบหน่วยกิตที่เรียกว่า ECTS ก่อนจะสมัครทุนนั้น OWl Campus แนะนำให้ทำความเข้าใจกับทุน Erasmus Mundus เพิ่มอีกเล็กน้อย เพราะแต่ละโปรแกรมนั้นมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร

แต่ถ้าพร้อมจะสมัครทุน Erasmus Mundus แล้ว! เรามาเริ่มต้นกันเลย

Owl Campus Team

Step 1 ค้นหาสาขาวิชาที่เราสนใจจะขอทุน

ค้นหาสาขาวิชาที่น่าสนใจได้ที่นี่ EMJMD Catalogue หรือ Erasmus Mundus Joint Master Degrees นั่นก็คือ โครงการปริญญาโทอีราสมุส มุนดุสนั่นเอง เว็บไซต์นี้จะรวบรวมรายชื่อคณะและโครงการที่เปิดสอนในปีการศึกษานั้น ๆ เช่น ปีการศึกษา 2021-2022 หมายความว่า ทางโครงการและมหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปเปิดรับสมัครช่วงระหว่างเดือนตุลาคมปี 2021 ไปจนถึงประมาณต้นเดือนมกราคมปี 2022 ดังนั้น เมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าว ผู้สมัครและผู้สนใจต้องรีบติดต่อทางโครงการโดยเร็ว เพราะขั้นตอนและเอกสารประกอบการสมัครมีจำนวนมาก

ในหน้าเว็บไซต์นี้รวบรวมคณะและโครงการซึ่งให้ทุน Erasmus Mundus ในการศึกษาต่อเป็นจำนวนมากกว่า 100 หลักสูตร ทั้งหมดเป็นหลักสูตรปริญญาโท
ค้นหาสาขาวิชาที่สนใจผ่าน EMJMD Catalogue
ค้นหาสาขาวิชาที่สนใจผ่าน EMJMD Catalogue Ref. eacea.ec.europa.eu

ภาพจากหน้าเว็บไซต์แสดงให้เห็นถึงชื่อโครงการ ประเทศที่เปิดสอน และเว็บไซต์ที่นำไปสู่รายละเอียดของแต่ละโครงการ ทางด้านซ้ายมือในกรอบสีน้ำเงินสามารถเลือกรายละเอียดของโครงการได้ เช่น ประเทศที่เปิดสอน หน่วยกิต ECTS สาขาวิชา ปีที่เปิดให้ศึกษา แต่สิ่งที่สำคัญ คือ หน่วยกิต ECTS ที่ระบุจำนวนหน่วยกิตที่ศึกษา มีตั้งแต่ 60 90 และ 120 หน่วยกิตแต่ละหน่วยบ่งบอกถึงจำนวนปีที่ต้องศึกษา

ยกตัวอย่างเช่น หากโครงการหรือคณะไหนศึกษาทั้งหมด 60 หน่วยกิต นักศึกษาจะต้องเรียนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1 ปี ซึ่งแบ่งออกเป็นจำนวน 3 เทอมในหลายประเทศ แต่หากหน่วยกิตมีจำนวนทั้งสิ้น 90 หน่วยกิต ก็เรียนเป็นจำนวนประมาณ 1 ปีครึ่งและกระจายออกไปเรียนใน 3 ประเทศ สำหรับโครงการและคณะส่วนใหญ่นั้นจะมี 120 หน่วยกิตให้ศึกษาหรือต้องใช้เวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 2 ปีเต็มและสามารถเลือกได้ถึง 4 ประเทศ

ตัวอย่างของรายละเอียดเบื้องต้นของโครงการหรือคณะที่สนใจ
รายละเอียดเบื้องต้นของโครงการหรือคณะที่สนใจ Ref. eacea.ec.europa.eu

หากต้องการดูรายละเอียดเบื้องต้นของโครงการหรือคณะที่สนใจ สามารถกดเข้าไปดูได้ตรงชื่อของโครงการนั้น และยังมีลิงค์ที่นำไปสู่เว็บไซต์โดยตรงของโครงการนั้น ซึ่งจะบอกวิธีการสมัคร กระบวนการสมัคร รวมไปถึงรายละเอียดการสอน บางโครงการถึงขนาดแนะแนวการใช้ชีวิต การปรับตัวและค่าครองชีพในแต่ละประเทศ เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่ให้ทุนแล้วจบ สอบให้ผ่าน แต่ยังเข้าใจและใส่ใจผู้สมัครด้วยการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ก่อนตัดสินใจสมัครเรียนต่อ ต้องพิจารณาถึงจำนวนปีการศึกษา ประเทศปลายทางและการใช้ชีวิตประกอบกันไปด้วยนะ

Step 2 เปิดไปที่เว็บไซต์ของโครงการโดยตรง

เมื่อเลือกโครงการหรือคณะที่น่าสนใจและต้องการเรียนต่อได้แล้ว ก็ให้เปิดเข้าไปที่เว็บไซต์ของโครงการนั้น ๆ เพื่อศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขเพิ่มเติม

ตัวอย่างที่อยู่ในภาพ คือ โครงการ Erasmus Mundus Joint Master Degree Programme on the Engineering of Data-intensive Intelligent Software Systems (EDISS) หรือ โครงการปริญญาโทร่วมวิศวกรรมศาสตร์ สาขาระบบซอฟต์แวร์ประมวลผลข้อมูล ผู้สมัครสามารถค้นหาข้อมูลช่วงเวลาการเปิดรับสมัคร ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ เงื่อนไขการรับสมัคร คำถามที่เกี่ยวข้องและค่าครองชีพ

STEP 3 เช็คก่อนว่าเรามีสิทธิ์ขอรับทุนมั้ย?

ก่อนที่เราจะสมัครทุนใดๆนั้น เราจำเป็นจะต้องตรวจสอบให้แน่นอนก่อนว่าเรามีสิทธิ์ที่จะสมัครทุนนั้นได้ ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาเตรียมตัวและเอกสารแย่แน่ ๆ เลย สำหรับประเทศไทยนั้นจะตกอยู่ใน Other Partner Countries (Region 6) สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้ แต่จะมีข้อสังเกตุอยู่ 3 ข้อด้วยกันคือ

  • ผู้สมัครต้องเรียนจบปริญญาตรีหรือแสดงให้เห็นว่ามีความรู้เทียบเท่า และไม่เคยได้รับทุนนี้มาก่อน (ข้อมูลนี้แนะนำให้เช็คกับแต่ละสาขาวิชาที่จะสมัครได้เลย จะมีความแตกต่างกันบ้าง)
  • ผู้สมัครทุนการศึกษาต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยศึกษาหรือทำงานในยุโรปเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 12 เดือน (12-months rule)ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
  • แต่ถ้าหากว่าเคยเรียนหรือทำงานที่ยุโรปล่ะ จะสมัครได้มั้ย คำตอบคือ สมัครได้แต่จาก Partner Country ก็จะถูกโยกไปอยู่ภายใต้ Programme Country นั่นเอง (โอกาสจะลดลง เพราะ Erasmus Mundus จะมอบทุนไม่เกิน 25% กับ Programme Country)

ข้อมูลเหล่านี้ OWl Campsu แนะนำว่าควรเช็คเพื่อความอัพเดทของข้อมูลอยู่เสมอๆ โดยสามารถติดตามข้อมูลทุน Erasmus Mundus <—-ได้ที่นี่

Step 4 ได้เวลาสมัครทุน Erasmus Mundus กันแล้ว

ขั้นตอนการสมัครทุนนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของหลักสูตรนั้น ๆ เมื่ออ่านเงื่อนไขที่มีอยู่อย่างมากมายจนเข้าใจแล้ว ก็ให้หาคำว่า Admission แล้วไปที่ Admission Process หรือบางโครงการอาจใช้คำว่า Apply Now ก็เป็นไปได้ และเมื่อเข้าไปแล้ว ก็จะพบกับกระบวนการ วันและเวลาในการรับสมัครและวันหมดเขตรับสมัคร บางโครงการอาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น ให้อัพโหลดคลิปที่บอกถึงแรงจูงใจหรือเหตุผลในการสมัครโครงการนี้

ที่สำคัญ คือ คณะกรรมการจะไม่พิจารณาเอกสารการสมัครไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นหากสิ้นสุดวันรับสมัครแล้ว ดังนั้น ขอให้ผู้สมัครทุกคนทำตามที่กำหนดเพราะหมายถึงโอกาสของเรา 1 ปีเต็มๆ เลยทีเดียว

จากนั้นให้ทำตามขั้นตอนที่กำหนด หากโครงการเปิดรับสมัครแล้วจะมีที่ให้กรอกให้รายละเอียด ตั้งแต่ข้อมูลส่วนบุคคลไปจนถึงข้อมูลทางวิชาการและเอกสารให้อัพโหลดตามที่กำหนด โดยมีรายการคร่าว ๆ ตามนี้

  • Transcript หรือเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าเราเรียนจบจากคณะและสาขาวิชาตามที่ทางโครงการกำหนด
  • ผลสอบภาษาอังกฤษ TOEFL หรือ IELTS โดยมีระดับคะแนนที่กำหนด (TOEFL จะต้องมีคะแนน 90 ขึ้นไปในระบบ internet-based และ IELTS ได้คะแนนตั้งแต่ 6.5 ขึ้นไป โดยแต่ละส่วนทักษะต้องได้คะแนนตั้งแต่ 6.0 ขึ้นไป)
  • Motivation letter หรือหนังสือแสดงแรงจูงใจที่ต้องการศึกษาต่อ/เหตุผลที่ต้องการสมัครเข้าโครงการนี้ ประมาณ 1 หน้ากระดาษ
  • Recommendation letter เราหรือหนังสือรับรองจากอาจารย์หรือนายจ้างที่รู้จักที่บอกนิสัย ทักษะและลักษณะของเราซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย และจะเป็นหนึ่งในตัวตัดสินว่าเราจะได้รับทุนหรือไม่

สิ่งที่เราต้องให้ความสนใจด้วย คือ จำนวนผู้สมัครทุนนี้มีเป็นจำนวนมาก หากภูมิหลังทางวิชาการของผู้สมัครดีมากแต่ว่าคู่แข่งก็ดีเท่ากัน ดังนั้นอาจจะต้องนำประสบการณ์ที่ผ่านมา เช่น การทำงาน การทำกิจกรรมหรือการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะไปเรียนต่อมาประกอบด้วย เพื่อสร้างโอกาสในการได้รับทุนนี้มากยิ่งขึ้น

STEP 5 รอฟังข่าวดี

หลังจากยื่นเอกสารทั้งหมดแล้ว คราวนี้ก็เป็นเวลารอประกาศผลจากทางคณะกรรมการ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ผลการได้รับทุน Erasmus Mundus จะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการ ซึ่งผลที่ออกมาจะมีอยู่ 4 รูปแบบ คือ

  • ได้รับทุนแบบเต็มจำนวน ถ้าเป็นแบบนี้ก็คือผู้สมัครไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นเมื่อบินไปเรียนที่ประเทศปลายทางแล้ว
  • อยู่ใน wait list หรืออยู่ระหว่างการรอคอยทุน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็หมายถึงผู้สมัครอยู่ในรายชื่อรอเรียกรับทุนหรือรายชื่อตัวสำรองหากตัวจริงสละสิทธิ์หรือไม่สามารถรับทุนได้ เราก็จะได้รับทุนนั้นไปแทน
  • ไม่ได้รับทุน แต่ยังได้รับเลือกให้ไปเรียน นั่นก็คือ ผู้สมัครได้รับสิทธิ์ให้เข้าไปเรียนในโครงการดังกล่าว แต่จะต้องหาแหล่งเงินทุนไปเรียนเอง ทั้งค่าเล่าเรียนเป็นเวลาตามที่กำหนดและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าครองชีพ เป็นต้น
  • ได้รับการปฏิเสธ คือ ไม่ได้ทั้งทุนและไม่ได้รับสิทธิ์ให้เข้าเรียน

หากได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนและรับทุนแล้ว เราก็ต้องคอยจดหมายตอบรับการเข้าศึกษาต่อจากทางคณะกรรมการหรือมหาวิทยาลัย คุณก็กรอกแบบฟอร์มและส่งกลับไปยังมหาวิทยาลัยหรือทางโครงการเพื่อนำไปขอวีซ่าในขั้นตอนต่อไป


แต่หากได้รับการปฏิเสธหรือพลาดทุนในครั้งนี้ ก็อย่าเพิ่งเสียใจหรือท้อใจไป เพราะทุน Erasmus Mundus ขึ้นชื่อว่าเป็นทุนยอดปรารถนาของคนเกือบทุกคนบนโลกที่ต้องการศึกษาต่อโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ นับว่าเป็นโอกาสดีของชีวิต ดังนั้น หากคิดว่าพยายามอย่างเต็มที่ในการยื่นสมัครแล้ว ก็ลองเพิ่มประสบการณ์ พัฒนาตนเองและยื่นสมัครในปีถัดไป คิดเสียว่าเป็นการฝึกการนำเสนอตัวเองให้น่าสนใจก่อนจะไปนำเสนองานกลุ่มที่เมืองนอก หรือจะสอบถามจากผู้รู้ ศิษย์เก่าหรือผู้ที่มีประสบการณ์มาแล้ว และนำมาปรับใช้กับตนเอง ความสำเร็จก็จะเป็นของเราไม่วันใดก็วันหนึ่งอย่างแน่นอน

Owl Campus Team