ภาคต่อจากบทความรายละเอียดของทุนรัฐบาลเกาหลี GKS บทความนี้จะเกี่ยวกับประสบการณ์การเตรียมตัวระหว่างการสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี “พร้อมแชร์เทคนิคเล็กน้อยว่าที่เขียน PS กับ SOP ยังไงให้ปังในการสมัครครั้งแรก!!”
แนะนำอ่าน : ทำความรู้จักกับทุนรัฐบาลเกาหลี หรือ Global Korea Scholarship (GKS)
วิธีการสมัครทุน GKS พร้อมขั้นตอน
ต้องเลือกช่องทางการสมัครก่อน อย่างที่ฝนเกริ่นไปในบทความที่แล้วว่า ช่องทางการสมัครมีอยู่ 2 ทางคือ Embassy Track กับ University Track “ทั้งสองทางจะมีระยะเวลาการรับสมัคร การเตรียมเอกสาร และขั้นตอนต่างกัน” ส่วนตัวฝนเองเลือกสมัครผ่าน University Track เพราะฝนเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะที่สนใจก่อนว่ามีเปิดหลักสูตรสอนที่มหาลัยไหนบ้าง!?
ซึ่งพอดูรวม ๆ แล้วก็มีเพียงมหาลัยที่เดียวที่ตรงกับความสนใจ ซึ่งการสมัครผ่านมหาลัยก็มีข้อดีตรงที่เวลาเราเขียนเรียงความเราเขียนเหตุผลได้อย่างหนักแน่นเลยว่าเราอยากเลือกที่นี่เท่านั้น เราอยากเรียนที่นี่จริง ๆ พอเราตัดสินใจช่องทางการสมัครแล้ว เราก็ไปเตรียมเอกสารกันเลย
เอกสารที่ใช้ในการสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี
เอกสารข้อ 1 – 6 มีแบบฟอร์มให้โหลดในเว็บไซต์ Study In Korea
- Application Form แบบฟอร์มกรอกข้อมูลส่วนตัว
- Personal Statement แบบฟอร์มเขียนเรียงความแนะนำตัวเอง ในแต่ละปีอาจจะกำหนดหัวข้อย่อยต่างกันเล็กน้อย ความยาวไม่เกิน 1 หน้า เช่น ทำไมถึงสมัครทุนนี้ ฝนก็ยกข้อดีของทุน GKS นี้พร้อมประสบการณ์ที่เคยไปแลกเปลี่ยนที่เกาหลีว่าประทับใจอย่างไร? เล่าเหตุผลที่เลือกเรียนภาษาเกาหลี? เรียนจบแล้วภาษาเกาหลีทำให้ได้รับโอกาสในการทำงานที่ใดบ้าง? เล่าถึงประสบการณ์การทำงานบริษัทเกาหลี? กิจกรรมนอกห้องเรียน ก็เล่าถึงประสบการณ์ที่ไปแลกเปลี่ยนที่เกาหลีว่าได้ทักษะอะไรกลับมา ในทุก ๆ หัวข้อย่อยของการเขียนแนะนำตัวเอง “ฝนจะเน้นไปที่แพชชั่นที่เรามีต่อประเทศเกาหลี ภาษาเกาหลีค่ะ”
- Statement of Purpose แบบฟอร์มเขียนเรียงความเกี่ยวกับแผนการเรียนและแผนในอนาคต ความยาวไม่เกิน 2 หน้า อันนี้เป็นเทคนิคที่ฝนได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ก็คือ “เราต้องเขียนลงไปให้ได้ว่า เราจะเรียนเพื่ออะไร?” ถ้าเข้าไปแล้วเราตั้งใจจะลงเรียนวิชาอะไรบ้าง เพราะอะไร เราสนใจจะทำวิจัยเรื่องอะไร ทำยังไง ในส่วนหัวข้อวิจัยก็อยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ไปหาดูในเว็บไซต์ของคณะว่าอาจารย์ที่มหาลัยนั้น ๆ เขาทำวิจัยเรื่องอะไร พยายามหาหัวข้อที่จะทำให้สอดคล้องไปกับอาจารย์ และอยากให้เพื่อน ๆ นึกถึงว่าทุนนี้เป็นเงินภาษีของคนเกาหลี ฉะนั้นแล้วสิ่งที่เราจะทำหลังจากเรียบจบแล้วจะมีอะไรบ้าง อธิบายว่าสิ่งที่จะทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศเกาหลีและไทยยังไง
- Two Letters of Recommendation จดหมายแนะนำ 2 ฉบับ บางมหาลัยอาจจะกำหนดเจาะจงว่าต้องเป็น Academic Professor ทั้งสองฉบับ หรือบางมหาลัยอาจจะยอมรับจดหมายจากหัวหน้างาน “แต่แนะนำว่า หนึ่งในสองต้องมีจดหมายแนะนำจากอาจารย์”
- GKS Application Agreement แบบฟอร์มเซ็นยอมรับข้อกำหนดต่าง ๆ ของทุน
- Personal Medical Assessment แบบฟอร์มประเมิณสุขภาพด้วยตัวเองเบื้องต้น
เอกสารรับรองการศึกษา 2 ฉบับนี้ สามารถขอเอกสารจากมหาลัยฉบับจริงที่เป็นภาษาอังกฤษแล้วนำไปรับรองที่กงสุลไทย ฉบับละ 200 บาท และรับรองที่สถานทูตเกาหลี ฉบับละ 128 บาท
- Certificate of Bachelor’s degree or Bachelor’s Diploma (Original)
- Bachelor’s Degree Transcript (Original)
เอกสารยืนยันสัญชาติสามารถใช้เป็นสูติบัตรหรือทะเบียนบ้านที่มีทั้งชื่อผู้สมัครและพ่อแม่ โดยขอเป็นฉบับภาษาอังกฤษแล้วนำไปรับรองที่กงสุลไทยและสถานทูตเกาหลี ส่วนตัวฝนใช้ทะเบียนบ้านเพียง 1 ฉบับในการยืนยันทั้งสัญชาติตัวเองและพ่อแม่
- Application’s Proof of Citizenship Document (Original)
- Applicant’s Parent’s Proof of Citizenship Document (Original)
และยังมีเอกสารเพิ่มเติมอื่น ๆ อีกดังนี้ค่ะ
- Certificate of Valid TOPIK Score (Optional)
- Certificate of Valid English Proficiency Test (Optional)
- Published book & research papers and etc, (Optional)
- Awards and other Certificates (Optional)
- Applicant’s Passport copy (Optional)
ขั้นตอนในการยื่นเอกสารการสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี GKS
เมื่อทุนประกาศเริ่มรับสมัคร เราก็ส่งเอกสารตัวจริงทั้งหมดไปที่มหาลัยนั้น ๆ ในเกาหลี “ย้ำว่าถ้าเลือกสมัครผ่านมหาลัยแล้ว เราสามารส่งเอกสารไปได้แค่มหาลัยเดียว” หากเราเนียนส่งไปสองสามที่ แล้วเขาจับได้ก็โดนตัดสิทธิ์เลยน้า การส่งเอกสารไปต่างประเทศอาจจะต้องเผื่อเวลาเอกสารให้ถึงสัก 1-2 อาทิตย์ล่วงหน้าก่อนปิดรับสมัคร เพราะบางทีมหาลัยอาจจะขอเอกสารเพิ่มเติม เราจะได้มีเวลาเหลือส่งเอกสารตามไปทัน
เมื่อส่งเอกสารเรียบร้อย ก็คอยเช็คอีเมลว่ามีประกาศเรียกสัมภาษณ์หรือไม่ บางมหาลัยจะมีสัมภาษณ์เพิ่ม แต่บางมหาลัยอาจจะไม่มี พอมหาลัยส่งอีเมลมาบอกว่าได้รับเอกสารเรียบร้อย ฝนเองก็เริ่มเตรียมสคริปเพื่อสัมภาษณ์เลย โดยเอาคำถามที่อ่านจากรีวิวรุ่นพี่ปีก่อน ๆ มาฝึกซ้อม
- หลังจากสอบสัมภาษณ์กับทางคณะเสร็จ อีกสองอาทิตย์ถัดมาก็จะได้รับอีเมลว่าผ่านหรือไม่ ถ้าผ่านรอบแรกนั่นคือมหาลัยคัดเลือกเราแล้ว รายชื่อเราจะถูกไปให้ NIIED คัดเลือกอีกที
- ขั้นตอนการคัดเลือกโดย NIIED จะไม่มีสัมภาษณ์ ดูจากเอกสารอย่างเดียว หลังจากรอไปอีกประมาณหนึ่งเดือน NIIED ก็ประกาศรายชื่อผู้ผ่านรอบสอง ซึ่งหมายความว่าถ้าเรามีรายชื่อในรอบนี้ ก็ไปดำเนินการตรวจสุขภาพได้เลย หากสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ก็แทบการันตรีเลยว่า ขาข้างหนึ่งได้ก้าวไปเหยียบประเทศเกาหลีแล้ว
- ส่งผลตรวจสุขภาพให้ NIIED และหลังจากนั้นเขาจะประกาศรายชื่อรอบสุดท้ายทั้งผู้ที่สมัครผ่านทางสถานทูตและมหาลัย และดำเนินการขั้นตอนขอวีซ่า ปกติเวลาขอวีซ่าไปเรียนต่างประเทศต้องแสดง statement ทางการเงิน แต่สำหรับทุนนี้ไม่ต้องยื่นเอกสารนั้น เพราะ NIIED สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่แล้ว ตัดความกังวลเรื่องนั้นไปได้เลย
สิ่งที่อยากจะแนะนำในการเตรียมตัวสมัครทุน GKS
หนึ่งสิ่งที่หลาย ๆ คน อาจจะถอดใจกับทุนนี้คือการขั้นตอนการเตรียมเอกสาร เพราะดูเยอะ ยุ่งยาก ซับซ้อน แต่ฝนจะบอกว่า จริง ๆ ไม่ได้ยากขนาดนั้นนะ “เพราะเอกสารที่ขอจะเหมือน ๆ กันทุกปี” ส่วนตัวฝนเอง เริ่มเตรียมเอกสารตั้งแต่ก่อนทุนเปิดสมัครเลยหลายเดือน ค่อย ๆ เก็บไปทีละอย่าง พอทุนเปิดรับสมัครแล้วก็พร้อมส่งทันที
อยากเน้นว่าเราต้องอ่านระเบียบการให้ละเอียดและเข้าใจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองนะ “ทุนนี้เปิดรับสมัครแค่ปีละหนึ่งครั้ง สิ่งที่จะตัดสินว่าเราจะไปต่อหรือไม่ ในรอบแรกคือการเตรียมเอกสาร” ฉะนั้นการเตรียมเอกสารให้ถูกต้องและครบถ้วนเป็นสิ่งสำคัญมาก!! รวมไปถึง วันปิดรับสมัคร เอกสารต้องรับรองที่ไหนบ้าง ต้องเตรียมกี่ชุด บางมหาลัยเขียนระบุว่าห้ามเย็บมุมเอกสาร ถ้าเราดันไม่ได้อ่าน เผลอเย็บมุมเอกสารไป อาจจะทำให้โดนปัดตกทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลงแข่งก็ได้นะ

และถึงแม้ว่าทุนเกาหลีนี้เขาจะระบุว่า คะแนนภาษา งานวิจัย รางวัล เกียรติบัตร เป็นสิ่งที่ยื่นหรือไม่ก็ได้ แต่ฝนคิดว่าเราควรต้องยื่นนะ เพราะแต่ละปี มีผู้สมัครทุน GKS เยอะมาก เอกสารพวกนั้นจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในตัวเรา ดังนั้นหากน้อง ๆ กำลังเรียนอยู่แล้วมีความตั้งใจจะสมัครทุนนี้ ก็อยากให้ลอง “เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จะเลือกเรียนต่อ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับเกาหลี” เพื่อเราจะได้เอาสิ่งนั้นมาเป็นแต้มต่อในการสร้างโปรไฟล์
ฝนเองก็เคยรู้สึกว่าการสมัครทุนมาเรียนต่อต่างประเทศเป็นเรื่องไกลตัว ทำไม่ได้หรอก สู้คนอื่นไม่ได้หรอก แต่ครั้งนี้ลองบอกตัวเอง เอาหน่ะ ต้องลองสักที อยากได้ก็ต้องเริ่มทำ สิ่งที่ช่วยที่ทำให้ความฝันนี้เป็นจริงเร็วกว่าที่คิดคือการรู้ตัวเองว่าเราอยากได้อะไร เราอยากทำอะไร เพื่อให้ไปถึงตรงนั้นเราต้องทำอะไรบ้าง เราค่อย ๆ ลงมือทีละอย่าง และในที่สุดเราก็ทำมันได้สำเร็จ.