ถ้า “เวลา” นับเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของมนุษย์แล้ว การเลือกที่จะมี Gap Year นั้นดูจะสวนทางกับความเชื่อและขนบของสังคมไทย ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาหรือระดับปริญญาตรี เมื่อน้อง ๆ เรียนจบมัธยมปลายจะต้องรีบต่อมหาวิทยาลัยในทันที ไม่อย่างนั้น “จะเป็นการเสียเวลา”

มุมมองข้างต้นนั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการเลือกใช้เวลาหนึ่งปี หลังจากจบชั้นมัธยมปลาย เพื่อไปค้นหาตัวเอง ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือที่นิยมเรียกกันว่า Gap Year ซึ่งในปัจจุบันแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก โดยเฉพาะกับเด็กวัยรุ่นที่เติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตก

Gap Year คืออะไร?

Gap Year ถูกนำมาใช้เรียกช่วงเวลาของปีที่เป็นช่องว่าง “คั่นระหว่างนักเรียนมัธยมปลายกับนักศึกษามหาวิทยาลัย” เป็นเวลาหนึ่งปีแห่งการค้นหาตนเอง ในปัจจุบันอาจจะถูกนำมาใช้เรียกช่วงเวลาหลังจบการเรียนในระดับอุดมศึกษากับการทำงานในชีวิตจริง ก็ไม่ผิดแต่อย่างไร

ทุก ๆ คนตัดสินใจที่จะมี Gap Year ด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนมากนั้นมักจะมีเป้าหมายเพื่อที่จะค้นหาตัวเอง, ไปท่องเที่ยวเปิดโลก และ หยุดพัก ก่อนที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอีกครั้ง

แล้วน้อง ๆ ควรจะเลือกมี Gap Year หรือเปล่า?

ถ้าเป้าหมายของน้อง ๆ ต้องการจะมี Gap Year เพื่อค้นหาความชอบของตัวเอง ค้นหาสิ่งที่อยากทำหรืออยากเป็น แล้วสามารถเลือกเรียนในด้านหรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับความชอบนั้น ๆ ได้ การมี Gap Year ของน้อง ๆ จะไม่เป็นการเสียเวลาเลย ซ้ำยังเป็นการตอกย้ำซะอีกว่า “สิ่งที่เราเลือกนั้น มันใช่สิ่งที่เราชอบจริง ๆ และถูกไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว“

บางคนอาจเลือกที่จะมี Gap Year เพื่อพัฒนา skill ที่สนใจและจำเป็นต้องใช้ ในการเรียนในสาขาที่เราต้องการ ก่อนเข้าเรียนต่อจริงในระดับอุดมศึกษา ทุ่มเทให้กับสิ่งเหล่านั้นเต็มที่ เพื่อที่จะตอบตัวเองได้ว่า สิ่งที่เราเลือกนั้น มันใช่และชอบจริง ๆ อย่างเช่น โปรแกรมมิ่ง หรือ ภาษาอังกฤษ ช่วงเวลาที่นำไปใช้ในรูปแบบนี้ จะทำให้น้อง ๆ โฟกัสมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าผลลัพท์ก็ย่อมออกมาดีตามไปด้วย!

บทความนี้ เป็นตัวอย่างของการเลือกใช้เวลา ทำในสิ่งที่ชอบ ถึงจะเรียนช้าไป 1 ปีก็ตาม : ดรอปเรียน 1 ปี ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น

“ภาพยนตร์เรื่อง The Secret Life of Walter Mitty น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ได้เป็นอย่างดี”

หรือบางคนอาจจะเลือกมี Gap Year เพื่อไปท่องเที่ยวหรือหยุดพักจากความเครียด รวมไปถึงการก้าวออกมาจาก comport zone ของตัวเอง การออกเดินทางหรือการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ช่วยให้เราเติบโตขึ้นได้ ทำให้เรามีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น

ช่วงเวลา 1 ปีของ Gap Year นั้นควรทำอะไรดี?

หลาย ๆ ครอบครัวอาจจะไม่เห็นด้วยกับการเว้นว่างไป 1 ปี อาจจะมองว่ามันทำให้สูญเสียโอกาสหรือ momentum กรณีที่น้อง ๆ นั้นสามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือสาขายอดนิยมได้ แต่รู้หรือไม่ว่า? มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อย่างเช่น Harvard หรือ MIT นั้นสนับสนุนให้นักเรียนเลือกที่จะมี Gap Year เพื่อทำสิ่งใหม่ ๆ ช่วยให้นักเรียนนั้น เติบโตมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น

Gap Year คือ
Gap Year ช่วยให้เราค้นพบตัวเองและเติบโตขึ้น

ทางมหาวิทยาลัยนั้นกลับมองว่าเป็นเรื่องดี ที่นักเรียนผ่านการมี Gap Year นอกจากนักเรียนจะได้รีเฟรชตัวเองแล้ว ประสบการณ์จากช่วงเวลานั้น ๆ ยังสามารถนำมาแบ่งปันกับเพื่อนร่วมชั้นได้อีกด้วย มหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้ จึงมักจะมีโปรแกรมเข้ามาคอยซัพพอร์ตนักเรียนให้ได้หยุดพักก่อนเริ่มต้นเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

โปรแกรม Defer Admission ถูกนำมาช่วยเหลือนักเรียนให้ได้มี Gap Year ออกไปรีเฟรชตัวเองก่อนเริ่มต้นเรียน ซึ่งโปรแกรมนี้จะช่วยให้ครอบครัวของนักเรียนมั่นใจได้ เนื่องจาก “นักศึกษาถูกตอบรับเข้าเรียนแล้ว แต่ว่านักศึกษานั้นสามารถใช้ Gap Year ได้แล้วจึงค่อยกลับมาเริ่มต้นเรียน”

มหาวิทยาลัยไม่แนะนำให้ใช้ Gap Year ไปลงเรียนในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพราะต้องการให้นักเรียนนั้น ได้ออกนอกห้องเรียนไปทำเรื่องอื่น ๆ บ้าง หรือใช้ชีวิตในรูปแบบอื่น ๆ บ้าง

Harvard Gap Year Society

และนี่คือไอเดียในการเลือกใช้เวลาในช่วง Gap Year ที่น่าสนใจ

  • นำไปพัฒนาตัวเอง เพิ่มเติม skill ที่สนใจหรือมีความชอบเป็นการส่วนตัว
  • เป็นอาสาสมัครของมูลนิธิต่างๆ ช่วยเพิ่มเติมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้
  • ฝึกงานในสายงานที่สนใจหรือใกล้เคียง ก่อนที่จะตัดสินใจใช้เวลาอีก 4 ปี ในระดับอุดมศึกษา
  • เดินทางท่องเที่ยว ใช้ชีวิตในสถานที่หรือรูปแบบของวัฒนธรรมที่ต่างไปจากเดิม
  • ทำงาน! นอกจากจะได้ประสบการณ์การทำงานตรงๆแล้ว ยังได้รายได้ไว้ใช้ในการเรียนอีกด้วย

บทความเก่าอายุ 20 ปี

บทความเก่า อายุกว่า 20 ปี ที่ชื่อว่า Time Out or Burn Out for the Next Generation เป็นบทความจาก The New York Times ซึ่งเขียนร่วมกับ Harvard’s admissions officers (ในขณะนั้น) เป็นเรื่องของ การสังเกตุและเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ที่คนส่วนมากเริ่มกังวลว่า “ความกดดันและการแข่งขันของนักเรียนในยุคนี้จะเข้มข้นมากกว่าในยุคก่อน ๆ มาก”

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของความนิยมเรื่อง Gap Year และยังทำให้ผู้ปกครองเข้าใจความกดดันของเด็กมัธยมปลายมากยิ่งขึ้น และเป็นอีกหนึ่งบทความที่พวกเรา Owl Campus อยากแนะนำให้น้อง ๆ หรือผู้ปกครองได้อ่านครับ

การเลือกที่จะมี Gap Year คั่นระหว่างระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย จะช่วยให้น้อง ๆ สามารถค้นหาตัวตน พัฒนาตัวเอง ทำให้เติบโตขึ้นพร้อมกับประสบการณ์ใหม่ ๆ เป็นช่วงเวลาคุ้มค่าที่น้อง ๆ ควรจะคว้าไว้นะครับ

Owl Campus Team