ทุน Erasmus Mundus นั้นแม้จะมีคอร์สหรือสาขาวิชาที่น่าสนใจอยู่หลายสาขา แต่น้องๆอาจต้องคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่าหากเรียนจบออกมาแล้ว จะทำงานอะไร ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศไทย ต่างประเทศหรือกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหรือไม่
หากมองจากจุดประสงค์ของสหภาพยุโรปที่ออกทุน Erasmus Mundus แล้ว เราก็พบว่าทางสหภาพยุโรปหวังให้ประชาชนชาวยุโรปมีความรู้และทักษะที่ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากนี้ ยังประกาศลงใน Programme Guide หรือแนวทางของโครงการที่ต้องการให้ประชาชนชาวยุโรปตระหนักเรื่องการต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน พลังงานสะอาด ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้น ในฐานะที่น้องๆเป็นผู้ขอทุน อาจจะต้องพิจารณาด้วยว่าเรื่องใดที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ เมื่อเวลาเราสมัครขอทุน เราก็จะสามารถตอบคำถามหรือให้ความสำคัญได้ถูกประเด็น และอาจมีส่วนทำให้เราได้ทุนตามที่เราต้องการได้
เพื่อช่วยให้น้องๆตัดสินใจกับในการเรียนต่อได้ดีขึ้น จึงขอยกตัวอย่างโครงการที่เมื่อเรียนจบแล้ว สามารถหางานได้ง่ายในอนาคตหรือรับมือกับความเปลี่ยนทางของเทคโนโลยีได้ดี
European Master in Embedded Computing Systems
โครงการนี้เป็นโครงการปริญญาโทด้าน Embedded Computing Systems ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและระบบสมองกลของรถยนต์ เหมาะสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์ และผู้ที่จบการศึกษาจากสาขาที่เกี่ยวข้องกับ Embedded Computing Systems
จำนวนมหาวิทยาลัยในโครงการ
การเรียนสาขานี้มีมหาวิทยาลัยให้เลือกมากถึง 4 แห่งจาก 4 ประเทศ นั่นคือ
Technische Universität Kaiserslautern (TUK) แห่งประเทศเยอรมนี
Norwegian University of Science and Technology (NTNU) แห่งประเทศนอร์เวย์
University of Southampton (UoS) ของสหราชอาณาจักร
Politecnico di Torino (POLITO) ประเทศอิตาลี
ผู้สมัครต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่ต้องการไปศึกษา 2-3 แห่ง (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข) เพื่อศึกษาวิชาหลักและวิชาเลือก โดยใช้เวลาศึกษา 1 ปีเต็มในสถานศึกษาแห่งแรก จากนั้นศึกษาอีกอย่างน้อย 1 เทอมในปีการศึกษาที่ 2 ที่มหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 และจบการศึกษาด้วยการทำวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยใดๆ ใน 4 แห่งนี้ก็ได้
เงื่อนไขในการเข้าศึกษา
เงื่อนไขในการเข้าศึกษาต่อไม่มีอะไรมากนอกจากคะแนนสอบภาษาอังกฤษ IELTS 6.5 โดยคะแนนของแต่ละส่วน (ฟัง พูด อ่าน เขียน) ต้องได้อย่างน้อย 6.0 หรือผู้สมัครเลือกสอบ TOEFL ให้ได้ 600 คะแนนสำหรับ paper-based 250 คะแนนสำหรับ computer-based หรือ 95 คะแนนสำหรับ internet-based ซึ่งเป็นระดับคะแนนที่ไม่ได้สูงมากถ้าเทียบกับทุนและสิ่งที่จะได้จากทุนนี้
แต่สิ่งที่ผู้สมัครต้องคำนึงถึงมากกว่า คือ จดหมายที่แสดงถึงความต้องการหรือแรงจูงใจในการเรียนโครงการนี้ (Motivation Letter) ประมาณ 1 หน้าซึ่งผู้สมัครจะต้องแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของตนเองในการเรียนให้ชัดเจนและต้องมีจดหมายรับรอง (Recommendation Letter) จากอาจารย์ 1 ฉบับและหัวหน้างานหรือนายจ้างอีก 1 ฉบับ
จุดเด่น
ความน่าสนใจของสาขานี้ คือ การเรียนจบได้ภายใน 2 ปีและทางโครงการวางไว้แล้วว่าในปีแรกจะต้องศึกษาวิชาหลักและวิชาเลือกรวมกันทั้งสิ้น 60 หน่วยกิต ก่อนที่ในปีที่ 2 จะต้องศึกษาวิชาเลือกอีก 30 หน่วยกิตและทำวิทยานิพนธ์อีก 30 หน่วยกิต เราก็จะจบได้ภายใน 2 ปี แถมวิชาที่เรียนก็มีให้เรียนตั้งแต่ Embedded Computing Systems เบื้องต้นไปจนถึงระบบหุ่นยนต์ การควบคุมและปัญญาประดิษฐ์ เรียกได้ว่าครบเครื่องเรื่องสมองกลกันเลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่วิชาการเท่านั้นนะ แต่ในโลกการทำงาน Technische Universität Kaiserslautern (TUK) ของประเทศเยอรมนียังมีความร่วมมือด้านการวิจัยกับบริษัทระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Airbus BOSCH และ Audi เป็นต้น
European Master in Embedded Computing Systems
และเมืองไกเซอร์สเลาเทิร์นซึ่งเป็นเมืองที่มหาวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่ ยังเป็นศูนย์กลางของสถาบันวิจัยของประเทศเยอรมนี ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ร่วมทำการเรียนการสอนในประเทศอื่นๆ ก็มีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยหลากหลายแห่งในประเทศของตน นั่นหมายความว่ารู้วิชาการแล้ว ยังมีโอกาสได้เรียนรู้การทำงานจากของจริงอีกด้วย แถมโอกาสการทำงานก็สดใส เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยในโครงการดังกล่าวก็พร้อมสนับสนุนและให้คำปรึกษาเรื่องการทำงานหลังเรียนจบแล้ว

จุดเด่นอีกประการของโครงการนี้ คือ ความหลากหลายที่ผู้เรียนจะได้รับ เพราะประเทศที่มีให้เลือกมากถึง 4 ประเทศทั้งเยอรมนี สหราชอาณาจักร นอร์เวย์และอิตาลี ต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป เยอรมนีนั้นมีองค์ความรู้ด้านเทคนิคและวิศวกรรมที่ยอดเยี่ยม ส่วนมหาวิทยาลัยเมืองเซาธ์แฮมป์ตันในสหราชอาณาจักรก็ถือว่าไม่ไกลจากกรุงลอนดอนมากนัก จึงง่ายต่อการเดินทางหากต้องการท่องเที่ยว ในขณะที่นอร์เวย์เป็นประเทศที่ติดอันดับประเทศที่มีสวัสดิการดีหรือมี “ความสุข” เป็นลำดับต้นๆ ของโลก และอิตาลีเป็นประเทศที่ติดอยู่กับทะเลเมดิเตอเรเนียน สภาพอากาศถือว่าค่อนข้างดี ดังนั้น โครงการนี้น่าจะเป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียวหากคิดว่าจะได้อะไรนอกเหนือจากการเรียน เรียกได้ว่า “แม้จะเหนื่อยตั้งแต่แรก แต่ผลที่ได้ในตอนหลังคุ้มค่าอย่างแน่นอน”
รายละเอียดทุน : EMECS
Master Degree Programme on the Engineering of Data-intensive Intelligent Software Systems (EDISS)
โครงการนี้เป็นโครงการปริญญาโทด้านระบบซอฟต์แวร์การประมวลผลข้อมูลซึ่งจะสอนให้คุณเป็นวิศวกรด้านซอฟต์แวร์และข้อมูลระดับสูงของวงการได้ จุดประสงค์ของโครงการนี้ คือ การผลิตมหาบัณฑิตรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลในศตวรรษที่ 21 และสร้างผู้เชี่ยวชาญที่สามารถบูรณาการเรื่อง data science และ machine learning เข้าด้วยกันกับกระบวนการทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์และวิศวกรรมระบบต่างๆได้
เงื่อนไขในการเข้าศึกษา
การรับเข้าโครงการนี้จะพิจารณาคะแนนจากภูมิหลังทางวิชาการ 70 คะแนน ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา 15 คะแนน แรงจูงใจหรือความต้องการในการเรียน 10 คะแนนและการรับรองจากอาจารย์หรือหัวหน้างานอีก 5 คะแนน
นอกจากนั้นคะแนนการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ดีคือ TOEFL iBT อย่างน้อย 93 หรือคะแนน IELTS 6.5 โดยไม่มีพาร์ทไหนที่ต่ำกว่า 6
จำนวนมหาวิทยาลัยในโครงการ
การเรียนสาขานี้มีมหาวิทยาลัยให้เลือกมากถึง 4 แห่งจาก 4 ประเทศ คือ
Åbo Akademi University (AAU) จากประเทศฟินแลนด์
University of L’Aquila (UAQ) จากประเทศอิตาลี
Mälardalen University (MDH) ประเทศสวีเดน
Universitat de les Illes Balears (UIB) จากประเทศสเปน
โดยในปีแรกจะเรียนวิชาหลักและวิชาเลือกอย่างละ 20 หน่วยกิต และฝึกงานกับทำโครงงานอีก 20 หน่วยกิตด้วยกัน ในขณะที่ปี 2 ทางโครงการจะให้เราเลือกสายการเรียนเฉพาะด้าน (specialization) ซึ่งมีให้เลือกระหว่าง
- Industrial Machine Learning– Software Engineering เรียนที่ Mälardalen University ประเทศสวีเดน
- Computer Vision and Intelligent Systems เรียนที่ University of the Balearic Islands ประเทศสเปน
- Model Driven Machine Learning – Software Engineering เรียนที่ University of l’Aquila ประเทศอิตาลี
สาขาเฉพาะของแต่ละที่จะเน้นวิชาหลักและวิชาเลือกแตกต่างกันออกไป บางมหาวิทยาลัยเน้นความสำคัญของวิชาหลักมากกว่า ในขณะที่บางที่มีให้ความสำคัญกับวิชาหลักและวิชาเลือกเท่าๆ กัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้เรียนมีความถนัดทางด้านใดและต้องการต่อยอดความรู้ไปทิศทางไหน แต่ทุกสาขาจะต้องทำวิทยานิพนธ์เป็นจำนวน 30 หน่วยกิตเพื่อขอจบการศึกษาเช่นกัน
จุดเด่น
ความน่าสนใจของสาขานี้ คือ มีสิ่งที่เรียกว่า “Winter School” ซึ่งเป็นการให้นักศึกษารุ่นใหม่และรุ่นเก่ามาพบกัน ปรึกษากันและคุยกันถึงสาขา ทิศทางที่ต้องการเรียนต่อในปีที่ 2 รวมไปถึงการทำงานในอนาคต winter school นี้จะจัดขึ้นในเทอมที่ 2 ของแต่ละเทอมเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านจากปี 1 ที่เน้นวิชาหลักไปสู่ปี 2 ที่เน้นวิชาเฉพาะมากกว่าเดิมมีความง่ายและคล่องตัวขึ้น เรียกได้ว่าเข้าใจและสนับสนุนนักศึกษาให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

จุดเด่นอีกประการของโครงการนี้ คือ มีความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำทั่วยุโรป ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้จากของจริงและต่อยอดในการเรียนระดับสูงและการทำงานในอนาคตได้ อีกทั้งโครงการนี้ใส่ใจนักศึกษาเป็นพิเศษด้วยการแนะแนววิธีการใช้ชีวิตในแต่ละประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเลือกเสื้อผ้าเพื่อรับมือกับอากาศหนาวในประเทศฟินแลนด์ หรือแจกแจงค่าใช้จ่ายแต่ละประเทศออกมาให้เห็น “ช่วยให้การเรียนในปีที่ 2 นั้นง่ายขึ้นและสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง”
รายละเอียดทุน : EDISS
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 2 สาขาด้านวิศวกรรมที่น่าเรียนจากทุน Erasmus Mundus หวังว่าบทความนี้จะเป็นตัวช่วยในการเลือกสาขาที่จะเรียนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตและตอบโจทย์กับตลาดแรงงานที่หมุนไปตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้นะครับ
ถ้าน้องๆสนใจอยากทำความรู้จักกับทุน Erasmus Mundus สามารถตามไปอ่านได้ที่บทความนี้ครับ –> ทุน Erasmus Mundus คืออะไร? <– และขอให้น้องๆประสบความสำเร็จกับการคว้าทุน Erasmus Mundus นะครับ
Owl Campus Team