เส้นทางสายอาชีพหมอ ยังคงเป็นเส้นทางยอดฮิต ที่นักเรียนหลายคนต่างให้ความสนใจในการเลือกสอบเข้าศึกษาต่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีหลักสูตรแพทยศาสตร์มากมายของหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย แต่น้อยมากที่จะเป็นหลักสูตร ที่สามารถรับคนที่จบปริญญาตรีไปแล้วได้ มีเพียงหลักสูตรแบบเดิมที่ยังคงรับนักเรียนในระดับ ม. 6 หรือเทียบเท่า นั้นจึงทำให้หลักสูตรแพทย์อินเตอร์น้องใหม่ “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “CU-MEDi” มาตอบโจทย์ได้มากที่สุดในขณะนี้

โดยหลักสูตรนี้ตอบโจทย์แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาแล้วหรือกำลังจะจบ ในสาขาวิชาใดก็ได้ ไม่จำกัด !

เพียงแค่มีศักยภาพโดดเด่นมากพอ มีความสนใจเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตร์ “ที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 100%” และอยากจบไปทำงานในสายการแพทย์ในระดับนานาชาติ … “CU-MEDi” คือคำตอบที่น่าสนใจที่สุดในช่วงเวลานี้เลยก็ว่าได้… และเพื่อให้น้อง ๆ ได้ทำความรู้จักกับหลักสูตร CU-MEDi จุดเด่นที่แตกต่างจากที่อื่น สิ่งที่จะได้เรียนรู้และทักษะที่จะได้รับ รวมถึง หากต้องการสมัครเข้าเรียนหลักสูตรนี้ ต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้ Owl Campus ได้รวบรวม “ครบทุกเรื่องที่ต้องรู้ ! เกี่ยวกับหลักสูตรแพทย์นานาชาติ (CU-MEDi)” ไว้ให้แล้วที่นี่ ไปเรียนรู้และเตรียมตัวกันเลย !

ทำความรู้จักกับหลักสูตร CU-MEDi และจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร

CU-MEDi คืออะไร?

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) หรือ CU-MEDi เป็นหลักสูตร Doctor of Medicine (MD) ที่เปิดสอนโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อผลิตแพทย์ที่มีคุณสมบัติความเป็นผู้นำในวิชาชีพการแพทย์ และเพื่อให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพในระดับสากล

แพทย์ที่จบออกไป สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม มีทักษะความเป็นผู้นำ รวมทั้งสามารถนำความรู้ที่มีอยู่เดิมมาประกอบกัน เพื่อพัฒนาทางการแพทย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งในแต่ละปีการศึกษา จะมีการเปิดรับสมัครผู้ที่มีความสามารถโดดเด่นและมีศักยภาพที่จะเป็นสุดยอดในสาขาของตนเองเพื่อเข้าร่วมหลักสูตร CU-MEDi เพียงแค่ 40 คน ต่อปี เท่านั้น

จุดเด่นของหลักสูตร CU-MEDi

หลักสูตร CU-MEDi จะเปิดรับสมัคร “ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาใดก็ได้” ไม่ว่าจะเป็นสายวิทยาศาสตร์ สายสังคมศาสตร์ หรือแม้แต่สายศิลปะ ก็สามารถสมัครเข้าเรียนหลักสูตรนี้ได้เลย หลักสูตรแพทย์อินเตอร์ CU-MEDi ยังมีจุดเด่นเฉพาะตัวที่แตกต่างจากหลักสูตรทางการแพทย์อื่น ๆ ในไทย ดังนี้

  1. ผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้ จะใช้เวลาในการศึกษาอย่างน้อยแค่ 4 ปีจากแบบเดิมที่ต้องเรียนถึง 6 ปี เพื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งผู้เรียนยังคงได้ความรู้ที่เทียบเท่ากับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เรียนทั้งหมด 6 ปีเลยทีเดียว 
  2. ในหลักสูตร ทุกรายวิชาจะถูกสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพื่อเตรียมพร้อมผู้เรียนให้เป็นแพทย์ได้ในระดับสากล
  3. มุ่งเน้นการสอนเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพระดับโลกในปัจจุบัน การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม ในการวิจัยทางการแพทย์และนวัตกรรม จึงทำให้หลักสูตรไม่ได้จำกัดว่าผู้สำเร็จการศึกษา จะต้องจบไปเป็นแพทย์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นแพทย์นักวิจัย แพทย์นักบริหาร หรือแม้กระทั่งแพทย์วิศวกรได้อีกด้วย 
  4. หลักสูตรมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับสถาบันนานาชาติในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งจะมีการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรวิชาเลือกในต่างประเทศ เพื่อศึกษาและฝึกฝนทักษะทางคลินิกในต่างประเทศ และมีส่วนร่วมในการวิจัยระดับนานาชาติอีกด้วย  
  5. หลักสูตรจะมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อศึกษาทางการแพทย์ โดยผ่านวิธีการต่าง ๆ  เช่น Online Learning, Telemedicine, Machine Learning, Artificial Intelligence (AI) และ Simulation Training เป็นต้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียน ให้ผู้เรียนมีแรงบันดาลใจในการคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมต่อไป

ในหลักสูตร CU-MEDi จะต้องเรียนอะไรบ้าง?

หลักสูตรแพทย์อินเตอร์ CU-MEDi มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตแพทย์ที่มีทักษะครอบคลุมในเรื่องดังต่อไปนี้

  • Clinical Diagnosis : ความสามารถในการซักประวัติ, ตรวจร่างกาย, ระบุปัญหา, วินิจฉัย และวินิจฉัยแยกโรค
  • Patient Investigation : ความสามารถในการตรวจและการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการและรังสี 
  • Patient Management : ความสามารถในการจัดการและรักษาผู้ป่วยทั่วไปโดยคำนึงถึงความปลอดภัย
  • Procedures : ความสามารถในกระบวนการทางการแพทย์ การสอบประวัติ, ขั้นตอนการวินิจฉัย และการบริหารจัดการผู้ป่วย
  • Professional Communication : ความสามารถในการศึกษาผู้ป่วย, การให้คำปรึกษา, เวชระเบียน, ใบรับรองแพทย์, จดหมายส่งต่อ และข่าวประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ทางการแพทย์ 
  • Holistic Care : ความสามารถในการประยุกต์ใช้การดูแลแบบองค์รวมในการวินิจฉัย, การรักษา, การฟื้นฟู, การป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพร่างกาย, จิตใจ, สังคม และปัญญาในฐานะปัจเจกบุคคล โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม
  • Medical Ethics and Professional Laws : ความสามารถในการนำหลักจรรยาบรรณทางการแพทย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปใช้กับการดูแลผู้ป่วย
  • Critical Thinking : ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการประยุกต์ใช้ยาตามหลักฐานในการดูแลผู้ป่วย
  • Integrated Medical Science : ความสามารถในการบูรณาการและการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์ขั้นพื้นฐาน และวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางคลินิก ซึ่งเป็นความรู้ระดับมืออาชีพ ในการดูแลผู้ป่วย
  • Global Doctor and Global Responsibility : ความเข้าใจทางจิตสังคมและจิตวิญญาณของผู้ป่วยและญาติ ค่านิยม คุณธรรมและจริยธรรม บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะแพทย์หรือนักวิชาการที่มีต่อระบบสุขภาพของโลก
  • 21st Century Profession and Multi-Talented Doctor : ความปรารถนาที่จะเรียนรู้, ความสามารถในการประเมินตนเอง, การคิดไตร่ตรอง, การเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่, ความคิดสร้างสรรค์, ทักษะทางภาษา, ทักษะดิจิทัล, ทักษะการค้นหา, การนำเสนออย่างสร้างสรรค์  , วุฒิภาวะทางอารมณ์, การบริหารเวลา และการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง
  • Leadership for Change : ความสามารถในการเป็นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง, การกำกับดูแล, ความมุ่งมั่นและความสามารถในการ บูรณาการการทำงานกับวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง, ความเป็นผู้นำและการติดตาม, การสื่อสาร, การวางแผนและการดำเนินการไปสู่ความสำเร็จ, การแก้ปัญหาความขัดแย้งของความร่วมมือ และความเป็นผู้นำเพื่อการพัฒนาในที่สุด

ปฏิทินและหน่วยกิตการศึกษา

สำหรับผู้ที่ต้องการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในหลักสูตร CU-MEDi จะใช้เวลาเรียน 4 ปี ซึ่งประกอบด้วย 8 ภาคเรียน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

  • ขั้นที่ 1 Pre-Clerkship : ใช้เวลาทั้งหมด 3 ภาคเรียน หลัก ๆ จะเป็นการเรียนในห้องเรียน และการศึกษาผ่านชุดของโมดูลวิทยาศาสตร์การแพทย์แบบบูรณาการ ให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นก่อนเข้าสู่ปี Clerkship
  • ขั้นที่ 2 Clerkship : ใช้เวลาทั้งหมด 2 ภาคเรียน โดยกำหนดให้ผู้เรียนต้องหมุนเวียนไปตามคลินิกต่าง ๆ ของโรงพยาบาล รวมถึงหอผู้ป่วยใน, คลินิกผู้ป่วยนอก, ห้องผ่าตัด, และแผนกฉุกเฉิน ในลักษณะของการหมุนเวียนงาน ผู้เรียนจะมีโอกาสใช้ความรู้และทักษะทางการแพทย์ที่ได้รับระหว่างขั้นตอน Pre-Clerkship ในการรักษาผู้ป่วยจริง ๆ
  • ขั้นที่ 3 Externship : ใช้เวลาทั้งหมด 3 ภาคเรียน เพื่อเตรียมผู้เรียนให้เป็นแพทย์ที่มีความสามารถ โดยเน้นทักษะการตัดสินใจทางคลินิกและการจัดการ ในระยะนี้ ผู้เรียนจะมีโอกาสโต้ตอบกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลในต่างประเทศ หรืออาจเลือกพัฒนาทักษะทางคลินิก หรือการวิจัยตามความต้องการของแต่ละคนได้
ครบทุกเรื่องที่ต้องรู้ ! เกี่ยวกับหลักสูตรแพทย์นานาชาติ จุฬาฯ 4 ปี (CU-MEDi) แพทย์อินเตอร์
CU-MEDi Academic Calendar | Photo : cu-medi.md.chula.ac.th All Right Reserved.

โดยผู้เข้าศึกษาจะต้องเก็บหน่วยกิตวิชาเฉพาะทางการแพทย์ Medical-Specific Requirement ทั้งหมด 154 หน่วยกิต โดยแบ่งออกเป็น

  • Humanistic Medicine 14 หน่วยกิต 
  • Medical Sciences 54 หน่วยกิต 
  • Clinical Performance 86 หน่วยกิต

และต้องเก็บหน่วยกิตการเสริมสมรรถนะผู้เรียนตามศักยภาพและความสนใจ Student-Selected Components (SSCs) อีก 12 หน่วยกิต

ค่าเทอมในหลักสูตร CU-MEDi

ค่าธรรมเนียมการศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) หรือ CU-MEDi จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน (ทั้งนี้ค่าเล่าเรียนอาจมีการเปลี่ยนแปลง ตามประกาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้แก่

  • ค่าเล่าเรียน ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2562 
    • สำหรับนักศึกษาไทย ค่าเล่าเรียน 34,000 บาท/ภาคเรียน 
    • สำหรับนักศึกษาต่างชาติ ค่าเล่าเรียน 106,000 บาท/ภาคเรียน 
  • ค่าธรรมเนียมของหลักสูตร ครอบคลุมทั้ง Local Clerkship และ International Externship 
    • สำหรับนักศึกษาไทย ค่าธรรมเนียม 604,000 บาท/ภาคเรียน หรือประมาณ 4.8 ล้านบาทตลอดหลักสูตร 
    • สำหรับนักศึกษาต่างชาติ ค่าธรรมเนียม 676,000 บาท/ภาคเรียน หรือประมาณ 5.4 ล้านบาทตลอดหลักสูตร

การรับสมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตร CU-MEDi

หลักสูตรแพทย์อินเตอร์ CU-MEDi กำลังมองหาผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาใดก็ได้ จำนวน 40 คน ที่มีความโดดเด่น เชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษ และมีความกระตือรือร้นในด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ เพื่อประกอบอาชีพทางด้านการแพทย์เมื่อจบการศึกษาในอนาคต

คุณสมบัติของผู้สมัคร

  1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือผู้ที่คาดว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีก่อนวันที่กำหนดในประกาศรับสมัคร 
  2. มีผลคะแนนวัดความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างใดอย่างหนึ่ง (TOEFL ไม่ต่ำกว่า 85 หรือ IELTS ไม่ต่ำกว่า 7.0)
  3. มีผลคะแนนสอบ Medical College Admission Test (MCAT) โดยสามารถใช้ผลคะแนนย้อนหลังได้ไม่เกิน 2 ปีนับถึงวันสุดท้ายของการสมัคร
  4. มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรค และอาการของโรคหรือความพิการทางร่างกายอันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
  5. ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกลงโทษเนื่องจากการกระทำผิดหรือร่วมกระทำทุจริตในกระบวนการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันใด ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
  6. สำหรับผู้มีสัญชาติไทยก่อนเข้าศึกษาต้องทำสัญญาผูกพันฝ่ายเดียวกับรัฐบาลหรือมหาวิทยาลัย ที่กำหนดให้ผู้รับทุนต้องปฏิบัติงานในส่วนราชการหรือหน่วยงานต่าง ๆ หลังสำเร็จการศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปี ตามระเบียบ เงื่อนไข และมติคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่

ผู้สนใจสมัครหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ CU-MEDi สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามประกาศแนบ : CU-MEDi Admission

บทความแนะนำ : การสอบ BMAT สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อหลักสูตรทางด้านการแพทย์

หลักฐานประกอบการรับสมัคร

เอกสารสำหรับการสมัครแพทย์อินเตอร์จะประกอบไปด้วย เอกสารที่ต้องอัปโหลดทางเว็บไซต์ และ เอกสารที่ส่งทางอีเมลโดยตรง โดยมีรายละเอียดดังนี้

เอกสารที่ต้องอัปโหลดทางเว็บไซต์

เอกสารที่ต้องอัปโหลดทางเว็บไซต์ cu-medi.md.chula.ac.th
  • รูปถ่ายดิจิตอลของผู้สมัคร ขนาด 1.5 x 2 นิ้ว
  • บัตรประชาชนเฉพาะด้านหน้าที่มีรูปของผู้สมัคร
  • เอกสารคุณวุฒิการศึกษา กรณีเรียนจบปริญญาตรีเรียบร้อยแล้ว ให้ยื่นใบระเบียนแสดงผลการเรียนทุกภาคการศึกษา และในกรณีที่ยังเรียนอยู่ชั้นปีสุดท้ายในระดับปริญญาตรี ให้ยื่นใบรับรองผลการศึกษาหรือใบระเบียนแสดงผลการเรียนทุกภาคเรียน ยกเว้นชั้นปีสุดท้ายที่ผลการเรียนยังไม่ออก
  • คะแนนสอบ TOEFL หรือ IELTS หรือเอกสารรับรองภาษาหลักที่ใช้ในการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี
  • คะแนนสอบ Medical College Admission Test (MCAT) ซึ่งจะมีผลในการพิจารณาเพื่อผ่านเข้าสู่รอบสอบสัมภาษณ์และการทดสอบสุขภาพจิต โดยจะประมวลผลคะแนนสอบ MCAT ของผู้สมัครทั้งหมด แล้วเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย
  • State of Purpose ที่แสดงถึงความตั้งใจและความคาดหวังในการเข้าศึกษาในหลักสูตร โดยต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ
  • Curriculum Vitae (CV) ที่แสดงถึงประวัติการทำงาน, ประวัติการศึกษา, รางวัลที่ได้เคยรับ, งานวิจัย, งานด้านวิชาการ และงานจิตอาสาอื่น ๆ
  • เอกสารการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)

และเอกสารที่ต้องส่งทางอีเมลโดยตรง คือ “Letter of Recommendation” จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่มาจากอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่เคยทำงานด้วยกัน ตามแบบฟอร์มที่หลักสูตรกำหนด

ขั้นตอนการสมัคร

  • สมัครผ่านเว็บไซต์ CU-MEDi Admission โดยกรอกข้อมูลตามระเอียดและแนบหลักฐานการสมัครข้างต้น พร้อมตรวจสอบความถูกต้องแล้วกดยืนยันการสมัคร
  • ตรวจสอบรหัสเลขประจำตัวของผู้สมัครทางอีเมลที่ทางระบบส่งให้ 
  • ชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร จำนวน 1,000 บาท ตามระยะเวลากำหนด
  • ส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนทั้งทางเว็บไซต์และอีเมล ตามระยะเวลากำหนด
  • สามารถติดตามสถานะการสมัครได้ทางเว็บไซต์โดยตรง

การคัดเลือกผู้สมัครเข้าสู่หลักสูตร

รอบการพิจารณาเพื่อคัดเลือกเข้าสู่รอบการสอบสัมภาษณ์และการทดสอบสุขภาพจิต 

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพิจารณาจากผลคะแนนสอบ MCAT โดยจะประมวลคะแนนและเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย 

รอบการสอบสัมภาษณ์และการทดสอบสุขภาพจิต 

เพื่อประเมินความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ แนวคิดทางจริยธรรม ความเหมาะสมในการเป็นแพทย์ ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ และทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ โดยจะต้องมาสอบกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยตรง และผลการตัดสินจากคณะกรรมการดำเนินงานการรับบุคล จะถือว่าเป็นที่สิ้นสุด

ค่าธรรมเนียมของการสอบสัมภาษณ์และการทดสอบสุขภาพจิต คนละ 4,000 บาท และค่าตรวจสุขภาพตามที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กำหนด

กำหนดการรับสมัครหลักสูตร CU-MEDi ปี 2565

รายละเอียดการรับสมัคร และกำหนดการรับสมัครของ “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” มีกำหนดการในปี 2565 ดังนี้

กำหนดการระยะเวลา
เปิดรับสมัครผ่านเว็บไซต์31 มกราคม – 23 กุมภาพันธ์ 2565
ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก 9 มีนาคม 2565
ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์21 มีนาคม 2565
สอบสัมภาษณ์2 สัปดาห์แรก เมษายน 2565
ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกและตัวสำรอง25 เมษายน 2565
ยืนยันสิทธิ์เข้าเรียนในหลักสูตร CU-MEDi25 – 29 เมษายน 2565
ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาผ่านเว็บไซต์23 พฤษภาคม 2565
ตรวจสุขภาพและทำสัญญาเดือนกรกฎาคม 2565
ปฐมนิเทศนักศึกษาพฤษภาคม – มิถุนายน 2565
เปิดภาคเรียนการศึกษาสิงหาคม 2565

หลักสูตร CU-MEDi ถือเป็นหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ ที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากโอกาสในการจบการศึกษาไปทำงานในสายวิชาชีพทางการแพทย์หรือสายงานที่เกี่ยวข้องในระดับนานาชาติแล้ว หลักสูตรยังมีการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ทางคลินิกในต่างประเทศผ่านขั้นตอน Externship และผ่านส่วนที่นักศึกษาเลือก (SSCs) กับสถาบันพันธมิตรในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

หลักสูตร CU-MEDi สนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้ทำการสอบใบอนุญาตทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (USMLE) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในทั่วโลกอีกด้วย

หากใครกำลังมองหาหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ หรือแพทย์อินเตอร์ ที่สร้างโอกาสในอนาคตในระดับสากลได้แท้จริง ก็สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร รวมถึงการสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรตามคำแนะนำข้างต้นได้เลย หรือ สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่นี่ : CU-MEDi