“สะเต็มศึกษา” การเรียนแบบผสมผสานที่เน้นการลงมือทำจริง! ในช่วงหลายปีมานี้พ่อแม่อย่างเราคงได้ยินคำนี้กันบ่อยขึ้น แน่นอนว่าในอีกไม่นานการเรียนแบบสะเต็มจะพลิกโฉมโลกแห่งการเรียน รวมไปถึงโลกดิจิทัลในอนาคตที่ลูกใช้ชีวิตอยู่อย่างแน่นอน  การเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่แทบจะตลอดเวลา มนุษย์พ่อมนุษย์แม่อย่างเรา ๆ จะปรับตัวยังไงให้ทัน!?  และจะส่งเสริมลูกได้ยังไงได้บ้าง!? ในบทความนี้เราจะมาไขความลับไปพร้อม ๆ กัน

หากพูดถึง “วิทยาศาสตร์” วิชาพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้เรียนตั้งแต่เล็กจนโต แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นวิชาโปรดของลูกเราเสมอไป เมื่อรู้แบบนี้พ่อแม่อย่างเราก็อย่าพึ่งถอดใจไปก่อนล่ะ เพราะการเรียนวิทย์แบบสะเต็มช่วยได้! มาเปลี่ยนโลกทั้งใบที่แสนน่าเบื่อเมื่อต้องเรียนวิทย์ในตำรา ให้กลายเป็นโลกสุดหรรษาที่ลูกต้องวิ่งพุ่งเข้าใส่ ถ้าอยากรู้ว่าทำยังไงนั้น…ตามมาเริ่มกันเลย!!

เรียนวิทย์แบบสะเต็มเริ่มต้นได้ตั้งแต่ประถม

การเปลี่ยนวิทย์ให้เป็นเรื่องน่าสนุกจริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ใช้ความเข้าใจในเด็กแต่ละวัย ยิ่งในช่วงในวัยประถมต้นเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญของลูก ที่ต้องพบเจอสังคมใหม่ ๆ และต้องเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างในขณะเดียวกัน นั่นหมายความว่าหากจะอัดวิชาการและตำราหนา ๆ เข้าสมองอันน้อยนิดของเจ้าตัวเล็กไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่นอน

การเรียนวิทย์แบบสะเต็มในช่วงอายุประมาณ 6-9 ปี ควรเริ่มจากให้ลูกได้ฝึกใช้การสำรวจ ฝึกการสังเกต ฝึกทำการทดลอง และเน้นให้ลูกลงมือทำจริงด้วยตัวเอง เริ่มต้นง่าย ๆโดยจัดเวลาว่างและชวนลูกมาสนุกไปกับ “การทดลองวิทยาศาสตร์แสนสนุก” ที่เริ่มต้นได้ที่บ้าน ใช้อุปกรณ์น้อย แต่ได้เรียนรู้มาก เพื่อพาลูกไปค้นหาคำตอบเกี่ยวกับโลกที่สุดแสนมหัศจรรย์ที่อยู่รอบตัว หัวใจหลักของการเรียนวิทย์แบบสะเต็มสำหรับเด็กในวัยนี้คือ ลูกจะได้ฝึกทักษะการวางแผน การประมวลผล การคิดอย่างมีเหตุผล และการช่างสังเกต

ทดลองวิทย์แบบสะเต็มทำตามได้ที่บ้าน

อย่างที่เราได้เล่าให้ฟังกันไปในตอนต้น ว่าการเรียนวิทย์แบบสะเต็มในช่วงวัยประถมต้น จะเน้นไปที่การทดลองวิทย์แบบง่าย ๆ ซะเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็ก ๆ มากที่สุด เราก็มีไอเดียกิจกรรมที่เน้นการทดลองโดยใช้อุปกรณ์และพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ในบ้าน มาฝากพ่อแม่ทุกครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น

การทดลองวิทย์ในห้องครัว

การทดลองวิทย์แสนสนุกส่วนใหญ่ มักใช้ส่วนผสมในครัวเป็นส่วนประกอบหลัก หากนึกอะไรไม่ออกลองพาลูกบุกครัวแล้วหยิบจับส่วนผสมต่าง ๆ ที่มีใกล้ตัวมาทำการทดลองวิทย์ดูสิ!  พร้อมทั้งตั้งคำถามชวนคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์รอบตัว แค่นี้ก็พาลูกสนุกไปกับการเรียนได้ไม่ยาก อีกทั้งยังได้ใช้เวลาอยู่กับลูกอีกด้วย โดยส่วนผสมยอดฮิตที่สามารถนำมาใช้ทดลองวิทย์ได้ปลอดภัยมีหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น เบกกิ้งโซดา แอปเปิ้ล ไข่ นม ช็อกโกแลต ลูกอม ทั้งหมดนี้ชวนลูกทอดลองสายเคมีได้หลายการทดลองเลย

การทดลองวิทย์จากสวนหลังบ้าน

พักจากครัวและมาสนุกกันต่อที่กลางแจ้ง ชวนลูกออกมาสนุกด้วยการชวนทำกิจกรรมปลูกต้นไม้แบบง่าย ๆ เน้นชวนให้ลูกหัดสังเกตและตั้งคำถามในระหว่างทดลอง คอยสอดแทรกความรู้ที่เกี่ยวกับพืชไปด้วยในตัว รับรองเลยว่าสนุกเพลิดเพลินแน่นอน เพิ่มลูกเล่นอีกนิดด้วยการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในการทดลองในสวน เช่น การทดลองเพาะเมล็ดในเปลือกไข่ การทดลองปลูกหญ้าในถ้วยพลาสติก การทดลองปลูกดอกไม้แสนสวย หรือกระทั่งการทดลองเปลี่ยนสีดอกไม้ให้มีสีสันสดใสได้ตามใจชอบ

การทดลองวิทย์จากน้ำ

อากาศร้อน ๆ นึกอะไรไม่ออกก็มาทำการทดลองคลายร้อนโดยใช้แค่น้ำเปล่า ก็พาลูกเรียนวิทย์ได้ง่าย ๆสบายมาก เช่น การทดลองความหนาแน่นของน้ำเค็มด้วยน้ำเปล่า เกลือ และไข่ไก่ เป็นต้น

และในหัวข้อถัดไปนั้น เราจะมาลงมือเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการทดลองวิทยาศาสตร์ ปฏิกิริยาเคมีง่าย ๆ กัน ทั้งสนุกและทำตามได้ง่าย ๆ ตามมากันเลย!


วิธีการทดลองการเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างกรดซิตริกและเบกกิ้งโซดา

การทดลองสายเคมีแสนสนุกนี้ เป็นการทดลองง่าย ๆ เพื่อทดสอบว่าผลไม้รสเปรี้ยวชนิดไหน เกิดปฏิกิริยาเคมีได้ดีที่สุด!? โดยก่อนที่จะเริ่มต้นนั้น สามารถดูรายละเอียดของโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) ที่เราจะใช้ในการทดลองได้จากเว็บไซต์ USDA กันก่อนนะคะ

- เรียนวิทย์แบบสะเต็มง่าย ๆ ด้วยกิจกรรมสุดแสนโดนใจวัยประถมต้น

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า โดยทั่วไปของผลไม้ที่มีวิตามินซีหรือกรดแอสคอร์บิกสูง เช่น ส้ม มะนาว “จะสามารถเกิดปฏิกิริยาเคมี ทำให้เห็นเป็นฟองได้เมื่อผสมกับเบกกิ้งโซดา” โดยใช้อุปกรณ์เพียง 3 อย่าง ได้แก่ เบกกิ้งโซดา* ผลไม้รสเปรี้ยวอย่างน้อย 2 ชนิด จะใช้ส้ม มะนาว หรือส้มโอก็ได้ตามใจชอบ และภาชนะขนาดเล็กเพื่อทำการทดลอง ถ้าหากเตรียมส่วนผสมและอุปกรณ์พร้อมแล้ว ไปเริ่มทดลองกัน!!

Total Time: 30 minutes

ขั้นตอนที่ 1 : หั่นผลไม้รสเปรี้ยวทั้ง 2 ชนิด

วิธีการทดลองการเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างกรดซิตริกและเบกกิ้งโซดา

หั่นผลไม้รสเปรี้ยวทั้ง 2 ชนิดที่เตรียมไว้ออกเป็นชิ้น ๆ และให้ลูกลองดมกลิ่นของผลไม้ทั้งสองชนิดก่อนเริ่มทดลอง เพื่อตั้งสมมติฐานว่า “กลิ่นของผลไม้จะเปลี่ยนไปหลังจากผสมเบกกิ้งโซดาหรือไม่!?” และผลไม้รสเปรี้ยวชนิดไหนจะทำปฏิกิริยาเคมีได้ดีกว่ากัน!?

ขั้นตอนที่ 2 : บีบผลไม้แต่ละชนิดใส่ภาชนะขนาดเล็ก

การทดลองวิทยาศาสตร์ ปฏิกิริยาเคมีง่ายๆ

บีบผลไม้แต่ละชนิดใส่ภาชนะขนาดเล็กที่เตรียมไว้ ให้จดจำสีว่าสีไหนคือผลไม้ชนิดใด หรืออาจจะเขียนป้ายเล็ก ๆ ติดไว้ก็ได้

ขั้นตอนที่ 3 : นำเบกกิ้งโซดาใส่ลงในถ้วยเล็ก ๆ

การทดลองวิทยาศาสตร์ ปฏิกิริยาเคมี

นำเบกกิ้งโซดาประมาณครึ่งช้อนโต๊ะใส่ลงในถ้วยเล็ก ๆ แยกไว้สองถ้วย

ขั้นตอนที่ 4 : ผสมเข้าด้วยกันแล้วสรุปผล

การทดลองการเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างกรดซิตริกและเบกกิ้งโซดา

เติมน้ำส้มที่เตรียมไว้ไปผสมกับเบกกิ้งโซดา และสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง!? ทำแบบนี้เหมือนกันกับผลไม้รสเปรี้ยวชนิดอื่นที่เตรียมไว้ แล้วจดบันทึกผลการทดลองที่เกิดขึ้น และสรุปผลเพื่อพิสูจน์สมมติฐานที่ตั้งเอาไว้ในตอนต้น.

Estimated Cost: 30 THB

Supply:

  • เบกกิ้งโซดา
  • ผลไม้รสเปรี้ยวอย่างน้อย 2 ชนิด

Tools:

  • ภาชนะขนาดเล็ก

หลังจากการทดสอบแล้ว ถ้าหากเปรียบเทียบกันแล้วผลไม้ชนิดไหนที่ทำปฏิกิริยาเคมีได้ดีกว่า สังเกตง่าย ๆ ว่า จะเกิดเป็นฟองฟู่ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนกว่านั่นเอง “ซึ่งหมายความว่าผลไม้ชนิดนั้นมีกรดซิตริกที่มากกว่าด้วย” หากลูกได้ทดสอบโดยใช้ส้มกับมะนาวแล้วล่ะก็… ก็จะพบว่ามะนาวเป็นผู้ชนะในการทดลองนี้นั่นเอง! และนอกจากนี้แล้วพอได้ลองทดสอบกลิ่นของผลไม้หลังทำปฏิกิริยาเคมี ก็ยังพบว่ากลิ่นของผลไม้แต่ละชนิดยังคงอยู่เหมือนเดิมจากตอนแรก และนี่ก็เป็นการทดลองวิทยาศาสตร์ ปฏิกิริยาเคมีแสนง่ายที่จะทำให้เด็ก ๆ สนุกไปกับการตั้งคำถามและทดลองหาคำตอบได้ด้วยตัวเองได้ที่บ้าน รับรองว่าเด็ก ๆ จะต้องตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน.

แนะนำอ่านต่อ : ไอเดียว้าว! ชวนลูกปั้นโปรเจกต์สะเต็มสุดล้ำทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ชอบบทความแบบนี้ หรืออยากให้มีบทความการทดลองวิทยาศาสตร์อื่น ๆ สามารถบอกพวกเรามาได้เลย!!.