ใน EP นี้จะขอมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสมัครเข้าเรียนที่ University of Toronto และ University of British Columbia ของลูกสาว หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนต่อในแคนาดาและมหาวิทยาลัย top 3 ของแคนาดามาแล้วใน EP ก่อนหน้านี้ค่ะ
แนะนำอ่านก่อน : Top 3 มหาวิทยาลัยในแคนาดา มีสาขาอะไรน่าสนใจบ้าง!?
มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในแคนาดา ใช้ระบบการศึกษาสองภาคคล้ายกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดย
- ภาคการศึกษาแรกเริ่มในเดือนกันยายนและสิ้นสุดในเดือนธันวาคม
- ภาคการศึกษาที่สองโดยทั่วไปจะเริ่มในเดือนมกราคมและสิ้นสุดในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม
โดยปกตินักศึกษาจะใช้เวลาสี่ปีในการเรียนจบหลักสูตรปริญญาตรี “แต่บางกรณีอาจสามารถสำเร็จการศึกษาเร็วกว่านั้นได้”
โดยทั่วไปแล้วโปรแกรมการศึกษาแต่ละหลักสูตร แม้ในอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกันอาจมีข้อกำหนดการรับเข้าเรียนที่แตกต่างกัน น้องๆ ที่สนใจสมัครเรียนอาจต้องเข้าไปอ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยอย่างละเอียดเพื่อให้เข้าใจข้อกำหนดต่าง ๆ
ในการสมัครสำหรับคณะและโปรแกรมที่น้อง ๆ สนใจ วันเปิดและปิดรับสมัครก็อาจแตกต่างกันไปตามมหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่เลือกสมัครด้วยค่ะ ส่วน Deadline ในการยื่นใบสมัครโดยทั่วไปมีตั้งแต่มกราคมถึงเมษายนสำหรับการเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ภาคฤดูหนาว (Winter) ซึ่งมักจะเปิดเทอมในเดือนกันยายนของทุก ๆ ปี.
English Language Requirements
นักเรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักอย่างเช่นนักเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทย จะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างแรกก่อนยื่นใบสมัคร
สำหรับ University of Toronto และ University of British Columbia ที่ลูกสาวตั้งใจไปสมัครเรียนต่อนั้น มีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไปแต่ละสาขาวิชา แต่คณะที่ลูกสาวจะสมัคร ในปีการศึกษา Winter 2021/2022 ข้อกำหนดด้านภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาต่างชาติมีหลากหลายให้ผู้สมัครเลือกสอบได้ เช่น
- Cambridge Assessment
- Canadian Academic English Language Assessment (CAEL)
- Canadian Test of English for Scholars and Trainees (CanTEST)
- Duolingo English Test (DET)
- Pearson Test of English (PTE)
และการสอบที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและมีเปิดสอบทั่วไปในประเทศไทยคือ International English Language Testing System (IELTS) และ Test of English as a Foreign Language (TOEFL) ซึ่งทั้ง 2 มหาวิทยาลัยมีข้อกำหนดคะแนนขั้นต่ำในการสมัคร ดังนี้
University of British Columbia
TOEFL | IELTS |
---|---|
Overall: 90 Reading: 22 Listening: 22 Writing: 21 Speaking: 21 | 6.5 (โดยไม่มีหมวดใดต่ำกว่า 6) |
TOEFL | IELTS |
---|---|
Overall: 100 (22 on Writing) | 6.5 (โดยไม่มีหมวดใดต่ำกว่า 6) |
การเตรียมตัวและวางแผนในการอ่านหนังสือ
เมื่อน้องๆ ตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยที่จะสมัครได้แล้ว สิ่งสำคัญคือการเช็ค Deadline ของการส่งใบสมัครของปีการศึกษานั้น และใช้วันนั้นเป็นจุดในการวางแผนสอบ IELTS หรือ TOEFL และ SAT ล่วงหน้า
ขอยกตัวอย่างการสมัครลูกสาว ซึ่งตั้งใจจะยื่นสมัครภายในเดือนธันวาคม ปี 2020 จึงไปเริ่มไปสอบ IELTS ในเดือนมิถุนายน และ SAT เดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน และแน่นอนว่าต้องวางแผนในการอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบมาก่อนหน้านั้นอีกหลายเดือน
ซึ่งในการเตรียมสอบ IELTS ลูกสาวได้สมัคร IELTS Master Module ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดออนไลน์ที่จัดทำโดย IDP ซึ่งเป็นสถาบันจัดสอบ IELTS เอง แบบฝึกหัดจะมีให้ทั้ง Reading Writing และ Listening แต่ไม่มีในส่วนที่เป็น Speaking ให้ “ในส่วนนี้จึงต้องเตรียมตัวเองโดยการติดตามข่าวสารต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ” เพื่อให้เรามีข้อมูลในการตอบคำถามได้อย่างไม่ติดขัด
เตรียมตัวสอบ SAT ด้วย Khan Academy
สำหรับการเตรียมตัวสอบ SAT ในส่วนที่เป็นการคำนวน ลูกสาวใช้แบบฝึกหัดจากหนังสือที่มีขายทั่วไป และในส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษจะใช้ทั้งจากหนังสือและแบบฝึกหัดออนไลน์ฟรีของ Khan Academy โดยทบทวนเป็นประจำเกือบทุกวัน แต่วันละไม่มากนักเพราะต้องทำงานอย่างอื่นของโรงเรียนไปด้วย แต่เน้นการทบทวนที่สม่ำเสมอค่ะ “และที่สำคัญคือลูกสาวจะจับเวลาทำสอบทุกหมวดเสมือนสอบจริงเดือนละครั้ง เพื่อคาดคะเนช่วงคะแนนที่จะได้ล่วงหน้า”
แนะนำอ่าน : รายละเอียดและข้อมูลในการสอบ SAT อัพเดทล่าสุด
นำ Acceptance Rate มาช่วยในการเตรียมตัว
ลูกสาวมักจะไปสืบค้นหา acceptance rate จากในเวบไซต์ต่างๆ เพื่อดูว่าคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งสองได้ส่วนใหญ่จะมี GPA และ SAT ประมาณเท่าไหร่เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการเตรียมตัวสอบของตัวเอง
โรงเรียนของลูกสาวจะสมัครเวบไซต์ Cialfo ให้นักเรียนเกรด 12 ทุกคนเข้าไปกรอกข้อมูลการสมัครมหาวิทยาลัยของตัวเอง ซึ่งโรงเรียนจะเก็บข้อมูลสถิตินักเรียนเก่าทุกปีไว้ในเวบไซต์ Cialfo นี้ จึงเป็นประโยชน์ต่อลูกสาวมากในการเตรียมตัวสอบและยื่นใบสมัคร “โดยลูกสาวได้ใช้ acceptance rate ของรุ่นพี่โรงเรียนที่เข้ามหาวิทยาลัยทั้งสองได้ นำมาตั้งเป็นเป้าหมายในการทำคะแนน” ซึ่งจากข้อมูลพบว่ารุ่นพี่โรงเรียนที่เข้า U of T ได้มี GPA เฉลี่ย 3.69 และได้คะแนน SAT เฉลี่ย 1,320 ส่วนรุ่นพี่โรงเรียนที่เข้า UBC ได้มี GPA เฉลี่ย 3.55 และได้คะแนน SAT 1,300
ขั้นตอนการยื่นใบสมัคร
มาถึงตรงนี้ อยากขอแชร์ประสบการณ์การยื่นสมัครของลูกสาวสำหรับการเรียนต่อเรียนต่อแคนาดา ป.ตรี หลังจากที่ได้ผลคะแนน IELTS และ SAT มาเรียบร้อยแล้ว
- ในส่วนของ University of Toronto นั้นลูกสาวสมัครผ่าน OUAC ซึ่งเป็น online application portal กลางของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใน Ontario ทั้งหมด
- ส่วน University of British Columbia สมัครผ่านเวบไซต์ของมหาวิทยาลัยโดยตรง
สำหรับการยื่นใบสมัครออนไลน์ในภาคเรียน Winter 2021/2022 ของทั้งสองมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกันตรงที่ UBC จะให้กรอก personal statement หรือ short essay จำนวนมาก ประมาณ 9-10 ประเด็น แบ่งเป็นประเด็นละไม่เกิน 500 คำ ซึ่งต้องใช้เวลาและการเตรียมตัวเยอะมากในการกรอกใบสมัคร!!
ตรงกันข้ามกับ U of T ที่ให้กรอกเฉพาะข้อมูลสำคัญส่วนบุคคล ข้อมูลทางการศึกษาและกิจกรรมที่ทำเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาไม่มากเท่า “และทั้งสองมหาวิทยาลัยจะให้อัพโหลดสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือพาสปอร์ต ผลการศึกษาที่แสดง GPA ในเวลาที่สมัคร” ซึ่งอาจเป็นฉบับที่ยังไม่สมบูรณ์เพราะส่วนใหญ่นักเรียนจะสมัครในช่วงปิดเทอมภาคแรกของการเรียนในปีสุดท้าย (มัธยม 6 หรือ เกรด 12) แต่เมื่อจบการศึกษาและได้รับผล GPA ที่สมบูรณ์แล้วจะต้องส่งตัวจริงให้กับทางมหาวิทยาลัยทางไปรษณีย์อีกครั้ง.
การยื่นผลสอบ SAT และภาษาอังกฤษ
การเรียนต่อแคนาดา ป.ตรีนั้น จำเป็นต้องมีผลการสอบมาตรฐานทางภาษา เช่น IELTS TOEFL และผลการสอบ SAT โดยจะต้องให้องค์กรที่จัดสอบซึ่งได้แก่ IDP, Educational Testing Service (ETS) และ College Board ตามลำดับ ส่งผลให้ทางมหาวิทยาลัยโดยตรงค่ะ
ลูกสาวยื่นใบสมัครออนไลน์ทั้งสองมหาวิทยาลัยในเดือนธันวาคม ปี 2020 และได้รับคำตอบจาก University of British Columbia ในวันที่ 19 มีนาคม 2021 ส่วน University of Toronto ได้รับในวันที่ 15 เมษายน 2021 ผ่านทางออนไลน์ทั้งคู่ โดย U of T ส่งจดหมายตอบรับทางไปรษณีย์ตามหลังมาให้อีกทีด้วย “ทั้งสองมหาวิทยาลัยรับลูกสาวเข้าเรียนในสาขาวิชาที่สมัคร” แต่เมื่อพิจารณาเรื่องค่าเทอม ค่าครองชีพ และสภาพอากาศแล้ว ลูกสาวตัดสินใจเลือกตอบรับเข้าเรียนที่ University of British Columbia ค่ะ.
เรียนต่อแคนาดา ป.ตรี ฝันให้ไกลไปให้ถึง!!
น้อง ๆ ที่มีความมุ่งมั่นจะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในแคนาดา หรือที่ประเทศอื่น ๆ เมื่อศึกษาข้อมูลและตัดสินใจแล้ว ต้องวางแผนในการเตรียมสอบต่าง ๆ และการสมัครให้ดีก่อนล่วงหน้า รวมถึงการขยันเรียนเพื่อทำเกรดในโรงเรียนให้ดีด้วย หากน้อง ๆ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นทำตามแผนโดยไม่ย่อท้อแล้ว เชื่อว่าน้อง ๆ จะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้อย่างแน่นอนค่ะ.
สามารถติดตามบทความ เรียนต่อแคนาดาทั้งหมดได้ที่นี่ เรียนต่อประเทศแคนาดา และถ้าชอบบทความเรียนต่อแคนาดา ป.ตรี แบบนี้ อย่าลืมช่วยกันแชร์เพื่อให้กำลังใจพวกเรากันด้วยนะคะ.