แม้ว่าทุน Erasmus Mundus เป็นทุนที่ดีมากทุนหนึ่ง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อให้คำนึงถึงเลย ด้วยความที่ทุนนี้ ให้กับผู้ที่มีความสามารถทางวิชาการระดับสูง พร้อมด้วยทักษะและประสบการณ์ในระดับหนึ่ง จึงไม่ใช่ว่าใครก็ได้ ที่จะได้รับทุนนี้ โอกาสผิดหวังจึงมี ประเภทสมัครรอบแรกแล้วได้เลยยิ่งเป็นไปได้ยากหากไม่ได้มีความสามารถและประสบการณ์ที่เตะตากรรมการอย่างจัง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีหนทางในการคว้าทุนมาครองให้ภูมิใจในตัวเองเสียทีเดียว 6 ข้อแนะนำด้านล่าง “เตรียมตัวสมัครทุน Erasmus Mundus” สามารถช่วยน้อง ๆ ที่กำลังคิดจะคว้าทุนนี้ อย่างน้อยจะได้รู้ว่าเรานั้นต้องปรับปรุง หรือเพิ่มเติมในจุดไหนบ้าง? ถ้าพร้อมแล้ว!! ตามมาเลย

บทความแนะนำ : วิธีการสมัครทุน Erasmus Mundus แบบ Step by Step

เรียนปริญญาตรีจบแล้ว อย่าเพิ่งรีบสมัคร!

ใช่แล้ว อย่าเพิ่งรีบสมัคร เพราะบางโครงการหรือบางคณะ ต้องการคนที่มีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 2 ปีหรือมากกว่า ประสบการณ์จากการทำงานถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะอาจจะเป็นตัวแปรในการให้คะแนนเพื่อเข้าศึกษาต่อได้เลย

คณะกรรมการจะดูว่าเราเคยผ่านงานอะไร มีประสบการณ์การทำงาน รวมไปถึงงานอาสาหรือไม่ ทำธุรกิจหรือเป็นผู้ประกอบการมาก่อนหรือเปล่า เพราะประสบการณ์ของเรานั้น สามารถนำไปถกประเด็นกรณีศึกษาในห้องเรียน และประสบการณ์นั้น ๆ อาจจะเป็นประโยชน์ช่วยเราและเพื่อนร่วมชั้นได้เลย

บางสายอาชีพนั้น “ประสบการณ์ในการทำงานมีความสำคัญมากกว่าใบปริญญา” ดังนั้น จึงอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบเรียนต่อปริญญาโทจนเกินไป พยายามค้นหาตัวเองให้พบก่อน ยิ่งมีประสบการณ์ในสายงานที่ต้องการสมัครทุนด้วยแล้ว จะช่วยให้รู้จักตนเองได้อย่างถ่องแท้ ว่าต้องการจะไปต่อทางนี้หรือเปล่า? การจะออกไปพิชิตโลกหรือความฝันก็ยังไม่สาย!

เงื่อนไขคืออะไรบ้าง? ดูให้ดี!!

เมื่อแน่ใจแล้วว่าต้องการเข้าศึกษาสาขาวิชาอะไรต่อไป คราวนี้ก็เข้าไปดูในเว็บไซต์ของคณะ หรือโครงการนั้นโดยตรงได้เลย เช่น หากต้องการเข้าศึกษาโครงการ Engineering of Data-intensive Intelligent Software Systems ก็สามารถเข้าไปที่เว็บ EDISS ได้เลย

เพื่อดูภาพรวมของโครงการว่าหลักสูตรเป็นอย่างไร สอนอะไรบ้าง แล้วทางโครงการต้องการคะแนนภาษาอังกฤษเท่าไร และต้องการคนจบสาขาวิชาไหน หากเราไม่ได้จบสาขานั้นมาโดยตรง ก็ต้องลองติดต่อสอบถามว่าสาขาที่เราเรียนมาสามารถสมัครได้ไหม? และถ้าเราจบมาไม่ตรงสาย แต่ว่ามีประสบการณ์ทำงานในสาขานั้น ๆ สามารถสมัครได้ไหม?

บทความแนะนำ : 5 สาขาที่น่าสนใจของทุน Erasmus+

คะแนนภาษาอังกฤษ

หากได้รับคำตอบแล้วว่ามีโอกาสในการสมัครโครงการนั้นได้ ก็ต้องมาตรวจสอบว่า คะแนนภาษาอังกฤษของน้อง ๆ นั้นถึงเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ โครงการส่วนใหญ่นั้นเปิดโอกาสให้เรายื่นคะแนนได้ทั้ง TOEFL และ IELTS โดยส่วนใหญ่จะมีเกณฑ์ขั้นต่ำประมาณนี้

  • TOEFL 90-95 สำหรับ internet-based และ
  • IELTS ที่ระดับคะแนน 6.5 (โดยคะแนนแต่ละส่วนต้องไม่ต่ำกว่า 6)

ซึ่งถือว่าเป็นระดับคะแนนระดับมาตรฐาน ดังนั้น น้อง ๆ ที่เตรียมตัวสมัครทุน Erasmus Mundus ควรเตรียมตัวพัฒนาภาษาอังกฤษ ให้อยู่ในระดับที่ดี หรือดีกว่าเกณฑ์ นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับทุนแล้ว ขณะที่เรียนต่อ ยังช่วยให้น้อง ๆ ใช้ชีวิตนักเรียนนอกได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย

ต่างประเทศ ก็ต่าง Feeling

แน่นอนว่าแม้จะเป็นประเทศในยุโรปเหมือนกัน แต่ในเมื่อคนละประเทศ คนละชื่อเรียก ก็ต้องมีธรรมชาติ จุดแข็งและจุดอ่อนที่ต่างกันออกไป ประเทศอย่างโปรตุเกส ฮังการี และเอสโตเนีย อาจเป็นประเทศที่มีจุดเด่นในเรื่องการเรียนการสอนด้านภาพยนตร์ จึงทำให้โครงการปริญญาโทสอนด้านภาพยนตร์มีมหาวิทยาลัยจาก 3 ประเทศนี้เข้ามาเกี่ยวข้องเกือบทุกครั้ง และเพราะประเทศเหล่านี้ร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรมและศิลปะ จึงอาจทำให้การถ่ายทอดออกมาในแต่ละครั้งมีความสวยงามและเต็มไปด้วยความหมาย

แต่หากใครอยากเรียนด้านวิทยาศาสตร์ การจัดการและเทคโนโลยี ก็อาจเลือกประเทศเยอรมนีซึ่งมีจุดเด่นและองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าว และมักได้รับเลือกให้เป็นประเทศ ที่จัดการเรียนการสอนทางด้านนั้นมากกว่าประเทศอื่น

หากยังไม่รู้ว่าจะเลือกไปเรียนที่ไหนดี ให้ลองคิดถึงประเทศที่ตนชอบไว้ในใจ เช่น หากน้อง ๆ อยากไปประเทศฝรั่งเศส ก็ให้เลือกโครงการปริญญาโทที่มีมหาวิทยาลัยจากฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วย ก็จะง่ายต่อการตัดสินใจและช่วยให้รู้ใจตัวเองในระดับหนึ่งเหมือนกัน

เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม

คำพูดนี้ยังคงเป็นคำศักดิ์สิทธิ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ถึงแม้การได้ทุน Erasmus Mundus อาจมีความหมายถึงการได้รับอิสระ ให้ทำในสิ่งที่ชอบหรือได้เดินทางท่องเที่ยวไปไหนมาไหน และสามารถเลือกประเทศที่เราอยากไปเรียนได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศ อาจจะเหมาะกับคนไทย หรือผู้เรียนบางคนเช่นกัน

บางประเทศอาจจะมีสภาพอากาศที่หนาวเกินไป หรือบางประเทศ ไม่ใช่ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ก็อาจจะพบกับปัญหาในการสื่อสารกับคนท้องถิ่น หรือการเรียนการสอนที่บางครั้งต้องเข้าใจภาษาท้องถิ่นด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราอาจจะต้องศึกษาภาษา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่นของแต่ละบ้านเมืองติดตัวไว้บ้าง ถึงแม้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอน และเป็นภาษาสื่อสารสากลก็ตาม แต่ในบางครั้ง เราอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องคุยภาษาถิ่น หรือปรับตัวเข้ากับคนหลาย ๆ วัฒนธรรม การรู้เขา รู้เรา จะช่วยให้น้อง ๆ รับมือกับเรื่องต่างๆ ระหว่างเรียนได้ดียิ่งขึ้น

เอกสารต้องพร้อม

เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ต้องยื่นเอกสาร! และทำทุกอย่างให้ทันภายในเวลาที่กำหนด เพราะแต่ละคณะก็มีกำหนดเวลาการรับสมัครเป็นของตนเอง ช่วงเดือนตุลาคมจนถึงเดือนมกราคมของปีถัดไป เป็นช่วงเวลาที่แต่ละโครงการเปิดรับสมัคร การติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาจารย์หรือนายจ้างเพื่อขอให้เขียนจดหมายรับรอง น้อง ๆ ควรจะเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ ไม่อย่างนั้นอาจจะถูกปฎิเสธได้

พยายามเขียน Motivation Letter หรือหนังสือแสดงแรงจูงใจที่ต้องการศึกษาต่อ เฉพาะสำหรับโครงการที่เราต้องการจะสมัครเท่านั้น เนื้อหาจะได้ดูว่าเรานั้น มีความต้องที่จะสมัครเข้าโครงการนี้จริง ๆ

หลังจากนั้น ผู้สมัครจะได้จดหมายตอบรับจากทางโครงการ (Acceptance letter) ในช่วงเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม เพื่อนำไปใช้ในการขอวีซ่าและเตรียมตั๋วเครื่องบิน เราก็ต้องรีบดำเนินการเช่นกันเพราะสถานทูตแต่ละที่นั้น ใช้เวลาดำเนินการเอกสารไม่เท่ากัน แถมตั๋วเครื่องบินราคาดี ๆ ก็มักจะหมดก่อนในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ดังนั้น เราก็ควรจองตั๋วแต่เนิ่นๆ แต่ไม่ว่าทุกอย่างจะรีบเร่งอย่างไร ก็อย่าลืมถามข้อสงสัยหรือสิทธิ์ที่เราควรได้จากทางโครงการหรือมหาวิทยาลัยที่เราต้องติดต่อเพื่อผลประโยชน์ของเราเองด้วยนะ

“อย่าเสียใจหากน้อง ๆ ไม่ได้รับทุนนี้” ให้นึกเสมอว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว และโอกาสหน้ายังมีเพราะไม่มีการจำกัดอายุผู้สมัคร บางครั้งการทำงานแล้วค่อยไปสมัครอาจเป็นการเพิ่มโอกาสและประสบการณ์ให้คณะกรรมการเห็นก็เป็นได้ ยอมรับกับผลที่ตามมา เพราะเราอาจได้หรืออาจไม่ได้ทุน มีสิทธิ์เรียนแต่ไม่ได้ทุนเต็มจำนวนก็เป็นได้เช่นกัน น้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวสมัครทุน Erasmus Mundus พวกเรา Owl Campus ก็ขออวยพรให้ได้รับทุนกันทุก ๆ คนเลย!!