การไปเรียนที่ประเทศแคนาดานั้น แม้ค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพอาจจะไม่สูงเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับการไปเรียนที่ประเทศอังกฤษหรือประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากค่ะ เมื่อเทียบกับการเรียนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเล่าเรียน เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะคิดในอัตราของ International Student ซึ่งจะสูงกว่าค่าเล่าเรียนของนักศึกษาที่เป็นพลเมืองแคนาดาอย่างมาก ใน EP นี้ จึงชวนน้อง ๆ “มองทางเลือกต่าง ๆ ในการหา Funding” ซึ่งจะได้นำมาช่วยลดค่าใช้จ่ายในการศึกษาของน้อง ๆ และคุณพ่อคุณแม่บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ
ทุนการศึกษา
“ทุนการศึกษาหรือเงินช่วยเหลือ” เป็นรูปแบบการสนับสนุนทางการเงินที่เสนอโดยมหาวิทยาลัยเอง องค์กรเอกชน รัฐบาล หรือมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อช่วยนักศึกษาต่างชาติในด้านการเงินสำหรับการศึกษา โดยในแต่ละปีจะมีทุนการศึกษาแบบให้เปล่า โดยไม่ต้องใช้ทุนจำนวนมากแก่นักเรียนในแคนาดา โดยมีทั้งที่เป็นแบบให้ครั้งเดียวหรือให้เป็นรายปีตลอดระยะเวลาการศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งกรณีหลังนี้มักจะมีข้อกำหนดบางประการ เช่น เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.0 เป็นเงื่อนไขเพื่อได้รับทุนในปีถัดไป
“ทุนการศึกษาในแคนาดาส่วนใหญ่จะพิจารณาจากผลการเรียน (Merit) โดยวัดจากเกรดเฉลี่ย” ความเป็นเลิศด้านกีฬา ดนตรี หรือศิลปะ การประสบความสำเร็จในการทำงานอาสาสมัคร หรือการรณรงค์ทางสังคม หรือในกรณีทุนการศึกษาปริญญาโทจะพิจารณา ความโดดเด่นในวิชาชีพหรือการวิจัยในด้านใดด้านหนึ่ง เป็นต้น

ในการสมัครทุนการศึกษา อาจมีทั้งการส่งใบสมัครด้วยตนเอง แต่ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยจะมีการพิจารณาใบสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาใหม่ แล้วพิจาณาทุนให้โดยอัตโนมัติตามผลการศึกษา และเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งทุนในลักษณะนี้เรียกว่า “Entrance Scholarship” ซึ่งตอนที่ลูกสาวส่งใบสมัคร University of Toronto และ University of British Columbia ก็ได้ทราบว่าทางมหาวิทยาลัยจะพิจารณา Entrance Scholarship จากใบสมัครนักศึกษาใหม่เช่นกัน แต่ว่าลูกสาวไม่ได้รับทุนค่ะ และก็เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้สมัครทุนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็น Entrance Scholarship ไว้ด้วย หากน้อง ๆ สนใจจะรับทุนการศึกษาควรศึกษาหาข้อมูลเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าว่ามีทุนใดที่เหมาะสมกับเรา จากเวบไซต์ของมหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ สมัครเรียนต่อ และเวบไซต์เหล่านี้ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสค่ะ
แนะนำอ่านต่อ : ทำไมถึงเลือกให้ลูกไปเรียนต่อแคนาดา!?
เงินอุดหนุน (Bursaries)
เงินอุดหนุนเป็นรูปแบบหนึ่งของความช่วยเหลือทางการเงิน ที่ส่วนใหญ่เสนอผ่านทางมหาวิทยาลัยเองโดยตรง ให้กับนักศึกษาต่างชาติที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น “ซึ่งมักจะพิจารณาจากความต้องการทางการเงินมากกว่าผลการศึกษา” ซึ่งจะต่างไปจาก Entrance Scholarship และทุนการศึกษาอื่น ๆ ส่วนใหญ่
โดยปกติแล้วจะเป็นการจ่ายให้แบบครั้งเดียว โดยผู้ให้เงินอุดหนุนนี้มักเป็นมูลนิธิไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรเอกชน “โดยปกตินักศึกษาจะต้องส่งใบสมัคร และต้องเข้ารับการประเมินความต้องการการช่วยเหลือ” ซึ่งอาจจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ของผู้ปกครองเพื่อยืนยันสถานะทางการเงิน เป็นต้น และโดยมากผู้ยื่นสมัครขอรับเงินอุดหนุนจะต้องลงทะเบียนเป็นนักศึกษาต่างชาติในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ แล้ว น้อง ๆ สามารถหาข้อมูลเพื่อขอรับเงินอุดหนุนได้จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยของน้อง ๆ เอง
การทำงาน On-campus และ Off-campus
นักศึกษาเต็มเวลา (Fulltime Student) ที่มี Study Permit “สามารถทำงานในแคมปัสที่ตนเองศึกษาอยู่ได้ โดยไม่ต้องขอ Work Permit” งานในแคมปัสอาจหมายรวมถึงงานใน facilities ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่นห้องสมุด งานในองค์กรนักศึกษา งานบริษัทเอกชนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย เช่น คอฟฟี่ช้อป หรือการช่วยงานอาจารย์หรือนักวิจัยในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

สำหรับ University of British Columbia ที่ลูกสาวกำลังจะไปเรียนนั้น มีโปรแกรมที่อนุญาตให้นักศักษาทำงานในแคมปัส ซึ่งเรียกว่า “Work-Learn Position” ให้นักศึกษาทำงานได้ไม่เกิน 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในภาคการศึกษาฤดูหนาว และไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในภาคการศึกษาฤดูร้อน ซึ่งโดยรวมแล้ว ไม่เกิน 300 ชั่วโมงต่อภาคการศึกษา
นอกจากการทำงานในแคมปัสแล้ว นักศึกษายังสามารถทำงานนอกแคมปัสได้อีกด้วย หากเป็นนักศึกษาเต็มเวลาที่มี Study Permit โดยที่โปรแกรมการเรียนของนักศึกษาที่ประสงค์จะทำงานนอกแคมปัส “จะต้องมีระยะเวลาของโปรแกรมนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป” และจะต้องเป็นโปรแกรมที่ได้รับประกาศนียบัตรจากการเรียนเมื่อเรียนจบ โดยการทำงานนอกแคมปัสนี้ จะต้องไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในช่วงเวลาเปิดเทอมปกติของนักศึกษา แต่ในเวลาปิดเทอม นักศึกษาสามารถทำงานเต็มเวลาได้
โปรแกรมการฝึกงานแบบได้รับค่าจ้าง Co-op Student
โปรแกรม Co-op นี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิชาเรียนในมหาวิทยาลัย “ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาการเพื่อประโยชน์ในการทำงานจริง” และเพื่อให้ได้ประสบการณ์จากการได้เข้าไปทำงานร่วมกับบุคลากรในสาขาวิชาที่เรียนจริงในประเทศแคนาดา โดยนักศึกษาจะได้รับค่าจ้างจากบริษัทที่ไปฝึกงานด้วย ซึ่งจะมีอัตราแต่งต่างกันไปตามสาขาวิชา แต่โดยเฉลี่ยประมาณ 20 เหรียญต่อชั่วโมง มีความยาวของโปรแกรมตั้งแต่ 3-12 เดือน

ทั้งนี้มีข้อกำหนดให้นักศึกษาเข้าร่วมโปรแกรม Co-op ได้ไม่เกิน 50% ของการเรียนทั้งหมด นักเรียนต่างชาติที่เดินทางไปเรียนคอร์สภาษาอังกฤษ หรือคอร์สเตรียมตัวเพื่อเข้าเรียนต่อในสถาบันอื่น ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ Co-op ได้
10 มหาวิทยาลัยที่มีโปรแกรม Co-op ที่เป็นเลิศในประเทศแคนาดา
- University of Waterloo
- Wilfrid Laurier University
- Simon Fraser University
- University of British Columbia
- University of Victoria
- Centennial College
- University of Quebec
- University of Ottawa
- University of Calgary
- University of Alberta
Ref : www.stoodnt.com
บทสรุปการหา Funding ช่วยค่าเล่าเรียนในประเทศแคนาดา
วิธีหา Funding ช่วยสนับสนุนค่าเล่าเรียนในประเทศแคนาดา ในระหว่างเรียนมีอยู่หลากหลายรูปแบบตามที่ได้กล่าวมาแล้วให้น้อง ๆ ลองเลือกดูตามความถนัดและความสามารถของตัวเอง หากสนใจควรศึกษาหาข้อมูลจากเวบไซต์ของมหาวิทยาลัยและเวบไซต์อื่น ๆ ตามที่ให้ไว้ล่วงหน้านะคะ
การได้รับทุนการศึกษานั้น อาจมีเงื่อนไขที่น้อง ๆ ต้องปฎิบัติตาม เช่นต้องได้เกรดเฉลี่ยตามที่ตกลงไว้ตลอดภาคการศึกษา ส่วนการทำงานก็ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ จำนวนชั่วโมงที่ระบุไว้ด้วย ในการทำงานนั้น นอกจากจะได้ค่าจ้างมาช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว หากน้อง ๆ ตั้งใจเรียนรู้ และทำงานให้ดี ก็อาจเป็นประตูสู่การจ้างงานแบบ full-time ที่จะสร้างโอกาสและประสบการณ์อันนับเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการทำงานที่ดีของน้อง ๆ ต่อไปค่ะ.